|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
บลจ.ทิสโก้ชี้แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสสี่อยู่ในช่วงขาขึ้น หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุล แถมราคาหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ผสมโรงกับการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นของ "เบียร์ช้าง-กฟผ." จะเป็นตัวจุดพลุให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยาน
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี ผู้จัดการกองทุนยังมีความเชื่อมั่นว่าดัชนีจะยังคงมีทิศทางที่เป็นขาขึ้นต่อไป โดยมีปัจจัยที่จะช่วยผลักดันตลาดคือ การพลิกฟื้นของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะกลับมาเกินดุลในช่วงครึ่งหลังของปีจะทำให้มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจของนักวิเคราะห์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
การฟื้นตัวของดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้จะมาจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การนำเข้า โดยเฉพาะยอดการนำเข้าน้ำมันจะลดลง นอกจากนี้ฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึงในไตรมาส 4 เราคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากภาคบริการที่ดีขึ้น ส่งผลบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัด
นอกจากนี้ มูลค่าของตลาดยังถูกอยู่เมื่อเทียบกับตลาดอื่นในเอเชียด้วยกัน โดยที่ตลาดไทยราคาหุ้นต่ออัตราผลกำไรอยู่ที่ 9 เท่าของผลกำไรในปี 2549 ในขณะที่โดยเฉลี่ยตลาดในเอเชียราคาหุ้นต่ออัตราผลกำไรอยู่ที่ 11.2 เท่า ของผลกำไรในปี 2549 นอกจากนี้ หากเทียบดูอัตราการจ่ายเงินปันผลแล้ว ตลาดไทยมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงสุดในเอเชียที่ 4.7% ในขณะที่อัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดในเอเชียอยู่ที่ 3.6%
ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากบลจ.ทิสโก้ยังระบุว่า การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของหุ้น 2 บริษัทที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้าง ในไตรมาส 4 ของปีนี้ จะทำ ให้มูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ของตลาดหุ้นไทย เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 3 ค่อนข้างจะมีการแกว่งตัวสูงพอสมควร โดยทำจุดต่ำสุดของไตรมาสอยู่ที่ 638.31 จุด และมีจุดสูงสุดอยู่ที่ 724.24 จุด และมาปิดไตรมาสที่ 723.23 จุด เพิ่มขึ้น 43.73 จุด หรือ 7.072% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจาก 675.50 จุด ณ สิ้นไตรมาส 2 มาอยู่ที่ 638.31 จุด ในวันที่ 7 กรกฎาคม เนื่องมาจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งส่อเค้าถึงภาวะการชะลอตัวโดยที่ตัวเลข ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมาก สาเหตุหลักเกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 กรกฎาคม ดัชนีได้รับข่าวดีจากการที่รัฐบาลยกเลิกพยุงราคาน้ำมัน และเริ่มปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว นักลงทุนตอบรับกับข่าวดีนี้ด้วยแรงซื้อที่เข้ามาในตลาดและดันดัชนีขึ้น 18.14 จุด ภายในวันเดียว
นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม ประเทศจีนได้ประกาศปรับค่าเงินหยวน ซึ่งทำให้ค่าเงินของประเทศในแถบเอเชียแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีการไหลของเงินจากนักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ตลาดยังได้รับข่าวดีจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาค่อนข้างดีทำให้ดัชนีตลาดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนปรับตัวขึ้นถึง 26.75 จุด มาปิดที่ 675.69 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
ในเดือนสิงหาคม ตลาดหลักทรัพย์ยังคงอยู่ในทิศทางที่ผันผวนเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยที่ดัชนีปรับตัวลดลงจาก 687 จุด ในวันที่ 3 สิงหาคม มาทำจุดต่ำสุดของเดือนไว้ที่ 667.49 จุด ในวันที่ 17 สิงหาคม สาเหตุมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก ทำให้มีความกังวลว่าโรงงานที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ จะต้องปิดโรงงานและจะส่งผลลบต่อผลการดำเนินงาน ทำให้มีแรงเทขายหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานออกมา
ในเดือนสุดท้ายของไตรมาสดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงเดินหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นผล มาจากการปรับตัวดีขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากธนาคารเริ่มประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับผลการดำเนินงาน ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตสแตนดาร์ดแอนด์ พัวร์ หรือ S&P ได้ปรับเครดิตเรตติ้ง ของ 6 แห่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย ซึ่งกระแสข่าวดีที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 25.38 จุด เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มาปิดที่ 723.23 จุด ณ สิ้นเดือนกันยายนคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 8.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
|
|
 |
|
|