"บีโอไอ" สรุปการลงทุน 3 ไตรมาสภาคอีสาน เผยมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริม ร่วม 100 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.4 หมื่นล้าน คาด รวมถึงสิ้นปีทะลุมากกว่า 120 โครงการ โดย 9 เดือน แรกอนุมัติแล้ว 9,013 ล้านบาท รวม 74 โครงการ ชี้อุตสาหกรรมเกษตร-พลังงานทดแทนและอิเล็กทรอนิกส์มาแรงไม่หยุด และมีแนวโน้มสดใสถึงปีหน้า ด้านโคราชยังครองแชมป์นักลงทุนไทย-เทศหว่านเม็ดเงินลงหลักปักฐานการผลิตมากที่สุด
นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 นครราชสีมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งเสริมการลงทุนใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ไตรมาส (ม.ค.- ก.ย.)หรือ 9 เดือนแรกที่ผ่านมาว่า มีโครงการสนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้นร่วม 100 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 14,369 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานในภูมิภาคได้กว่า 25,000 คน
ทั้งนี้ คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2548 จะมีโครงการมายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 120 โครงการ โดยจะมีอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และพลังงานทดแทน ที่ใช้ผลผลิตจากภาคการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อยในการผลิตเอทานอล และผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio-gas) จากของเสียของโรงงาน เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนลงทุนมากที่สุดในช่วง 3 เดือนสุดท้ายที่เหลือ และมีแนวโน้มสดใสถึงปีหน้า 2549 โดยเฉพาะโครงการที่จะลงทุนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา, อุดรธานี เป็นต้น
"เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการ ส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนดังกล่าว เช่นเดียว กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยบีโอไอมีนโยบายการรับช่วงการผลิตของกิจการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนไปสู่ภูมิภาคเป็นการกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมากขึ้น" นายสุวิชช์ กล่าว 3 ไตรมาสลงทุนเฉียดหมื่นล้าน
อุตฯเกษตร-พลังงานทดแทนมาแรง
นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการของภาคอีสาน ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แล้วในช่วง 3 ไตรมาส (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 74 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 9,013 ล้านบาท มีการจ้างงาน 17,354 คน จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 21 และกล่าวเฉพาะไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) มูลค่าเงินลงทุนและ การจ้างงานเพิ่มจากปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน ถึงร้อยละ 36 และ 113 ตามลำดับ และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 26 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 5,356 ล้านบาท จะมีการจ้างงานกว่า 5,000 คน
ทั้งนี้ ประเภทการลงทุนของภาคอีสานในช่วง 3 ไตรมาสดังกล่าวพบว่า อุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนโครงการมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตรจำนวน 26 โครงการเงินทุน 2,024 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้าง 1,014 คน เป็นโครงการคัดคุณภาพข้าว อบพืชและไซโล ผลิตอาหารสัตว์และอาหารแปรรูปผลิตเม็ดสาคู ผลิตแป้งแปรรูป (Modified Starch) กิจการเลี้ยงสัตว์ (ไก่เนื้อ,สุกรขุน) กิจการเพาะปลูกด้วยระบบ Hydroponics และการผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio-gas)
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนรวมสูงสุด คือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,339 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 2,491 คน ส่วนใหญ่เป็นโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอก๊าซ และพลังงานไฟฟ้าจากไอน้ำ กิจการเขตอุตสาหกรรม และกิจการที่อยู่ อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐ
เม็ดเงินมากกว่าครึ่งกระจุกตัวโคราช
นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพื้นที่ตั้งโครงการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 74 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 9,013 ล้านบาทข้างต้น ปรากฏว่า ยังคงกระจุกตัวตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมามากที่สุดถึง 28 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 5,070 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 6,051 คน โดยร้อยละ 36 อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร รองลงมาร้อยละ 25 อยู่ในอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตามลำดับ
โครงการมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ได้แก่ โครงการเขตอุตสาหกรรมของ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 728 ล้านบาท เป็นการพัฒนาพื้นที่สำหรับกิจการอุตสาหกรรมใน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา บนพื้นที่ 747 ไร่ โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งทอและแปรรูปเกษตร ซึ่งขณะนี้ดำเนินการปรับพื้นที่และมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมที่จะบริการลูกค้าแล้ว อีก 2 โครงการที่เงินลงทุนสูงและน่าสนใจ คือ โครงการผลิตพลังงานทดแทนจากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมนำมาผลิตก๊าซชีวภาพ (bio-gas) ของ บริษัท จี แอนด์ ปภพ รีนิวเอเบิล จำกัด และ บริษัท วี พี ไบโอซัพพลาย จำกัด เป็นต้น
จังหวัดที่มีการลงทุนรองลงมาเป็นอันดับ 2 คือ ขอนแก่น จำนวน 12 โครงการ รวมเงินลงทุน 1,091 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 4,356 คน ร้อยละ 33 อยู่ในอุตสาหกรรมเบา
อันดับ 3 จ.บุรีรัมย์ จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุน 414 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 528 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นโครงการผลิตอาหารสัตว์อบพืชและไซโล กิจการเลี้ยงสัตว์(ไก่เนื้อ) รวม 5 โครงการ
อันดับ 4 เป็น จ.อุดรธานี จำนวน 5 โครงการเงินลงทุน 166 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 574 คน ลำดับต่อมาเป็น จ.นครพนมและมหาสารคาม จังหวัดละ 4 โครงการ เงินลงทุน 59 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 88 คน และเงินลงทุน 581 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 2,691 คน ตามลำดับ ส่วน ที่เหลือเป็นการลงทุนกระจายในจังหวัดละ 1-3 โครงการ มูลค่าลงทุนจังหวัดละประมาณ 300-600 ล้านบาท ประกอบด้วย ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ สกลนคร อุบลราชธานี และ จ.หนองบัวลำภู
|