เป้าหมายของทรงเดช ประดิษฐสมานนท์ หัวหน้าสำนัก งาน เอินสท์ แอนด์ ยัง
ในประเทศไทย เขาไม่คิดจะให้สำนักงาน ที่เขาดูแลต้องเป็นกิจการผู้สอบบัญชีอันดับ
1 ของประเทศ
เขาต้องการเพียงรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้คงใช้บริการของเอินสท์ แอนด์
ยัง อย่างต่อเนื่อง ด้วยความจริงใจที่มีต่อกัน มากกว่า
"ลูกค้าของเรา เพิ่งมาเพิ่มขึ้นมากเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา นี่เอง"
เขาบอก "ผู้จัดการ"
เอินสท์ แอนด์ ยัง เป็นบริษัทผู้สอบบัญชีต่างประเทศรายแรก ที่เข้ามาตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
สำนักงานในประเทศไทยของเอินสท์ แอนด์ ยัง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2499
(ค.ศ.1956) โดยในครั้งนั้นยังใช้ชื่อว่า Turquand Youngs & Co. (ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น
Arthur Young และมีการรวมตัวกับ Ernst & Ernst เป็น Ernst & Youngs
ในปี 2532)
การเข้ามาในไทยของเอินสท์ แอนด์ ยัง เมื่อ 40 กว่าปีก่อน อาจไม่แตกต่างจากสำนักงานสอบบัญชีที่ติดอันดับ
Big 4 รายอื่นๆ อย่างดีลอยท์ ทู้ เคพีเอ็มจี และไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ เพราะเป็นไปตามการขยายตัวของภาคธุรกิจและตลาดทุน
ตลอด จนพัฒนาการของธุรกิจผู้สอบบัญชีในประเทศ ที่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายความน่าเชื่อถือของสำนักงานสอบบัญชีระดับโลก
(รายละเอียดประวัติของ Big 4 โปรดอ่านจากล้อมกรอบ)
"เราเริ่มจากสาขาที่สิงคโปร์ ที่เห็นว่าขณะนั้นมีลูกค้าหลายรายที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย
จึงมีแนวคิดที่จะเข้ามาเปิดเป็นสาขา" ทรงเดชเล่า
ทรงเดชจบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ในช่วงที่เอินสท์ แอนด์ ยัง
เพิ่งจะขยายสาขาเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ
หลังเรียนจบจากอัสสัมชัญพาณิชย์ เขาได้เดินทางไปทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ
สาขากรุงลอนดอน 1 ปี และย้ายร้านไปอยู่ที่ธนาคารเมอร์เคนไทล์ และฮ่องกงเซี่ยงไฮ้
แบงก์อีกแห่งละ 2 ปี จึงเริ่มเข้าเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ และ บัญชี ที่
London University จนจบการศึกษา ในปี 2507
หลังเรียนจบ ทรงเดชเข้าทำงานเป็นผู้สอบบัญชีให้กับเอินสท์ แอนด์ ยัง ในอังกฤษต่ออีก
3 ปี จึงเดินทางกลับมาประเทศไทย
เขากลับมาทำงานสอบบัญชีในไทย ในฐานะหัวหน้าสำนักงานให้กับเอินสท์ แอนด์
ยัง ในปี 2511 หลังจากที่ ศาสตราจารย์ยุกต์ ณ ถลาง เพิ่งมีการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับ
SGV & Co. ตั้งเป็นสำนักงานสอบบัญชีกอเรส ซีซิป เวลาโย- ณ ถลาง เพียง
1 ปีเท่านั้น
สำนักงานในไทยช่วงที่ทรงเดชเข้ามารับผิดชอบ ไม่ได้ใช้ชื่อเอินสท์ แอนด์
ยัง อย่างเต็มตัว เขาจัดตั้งเป็นสำนักงานทรงเดช แอนด์ โค และประกาศว่าเป็นสำนักงานตัวแทนอย่างเป็นทางการของเอินสท์
แอนด์ ยัง
"สาเหตุเป็นเพราะกฎหมายของไทย ให้การรับรองผู้สอบ บัญชีเป็นรายบุคคล
ไม่ใช่เป็นรายบริษัท"
จนเมื่อธุรกิจไทยก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ในปี 2537 เขา จึงเปลี่ยนชื่อสำนักงานของเขาเป็นทรงเดช
เอินสท์ แอนด์ ยัง และเปลี่ยนมาเป็นสำนักงานเอินสท์ แอนด์ ยัง ในปี 2540
การขยายตัวของเอินสท์ แอนด์ ยัง ในประเทศไทย ภาย ใต้การดูแลของทรงเดช เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"ธุรกิจของเราในไทย ไม่เคยขึ้นเป็นอันดับ 1 และเราไม่ต้องการเช่นนั้น"
ทรงเดชให้เหตุผลว่าการที่วางเป้าหมายขึ้นเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจผู้สอบบัญชี
ถือเป็นความเสี่ยง เพราะธรรมชาติของการ ทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น แตกต่างจากมาตรฐานของทางตะวัน
ตก บริษัทที่วางเป้าหมายขึ้นเป็นอันดับ 1 จะต้องบุกในเรื่องการ ทำตลาด ซึ่งอาจหมายถึงความจำเป็นต้องลดค่าบริการ
ตลอดจนการลดมาตรฐาน เพื่อยอมทำตามความประสงค์ของผู้บริหาร ของบริษัทที่เป็นลูกค้าในบางเรื่อง
ซึ่งจุดนี้ในมาตรฐานของวิชาชีพผู้สอบบัญชีแล้ว ถือเป็นความเสี่ยง เพราะถึงที่สุดแล้ว
ก็จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวเราเอง
เมื่อปี 2536 ซึ่งตลาดหุ้นไทยอยู่ในขั้นบูมสุดขีด มีบริษัท จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น
338 บริษัท สำนักงานเอินสท์ แอนด์ ยัง ของทรงเดชครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงอันดับ
4 โดยมีลูกค้า ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพียง 32 ราย หรือ 9.41%
ขณะที่อันดับ 1 คือสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง และสำนัก งานพีท มาร์วิค สุธี
สิงห์เสน่ห์ ที่มีลูกค้าจำนวนเท่ากันคือ 57 ราย รองลงมาคือ สำนักงานไชยยศของเติมศักดิ์
กฤษณามระ ที่มีลูกค้า 44 ราย
ปัจจุบันเอสจีวี-ณ ถลาง และสำนักงานพีท มาร์วิค ได้มีการประกาศรวมตัวกันเป็นกลุ่มเคพีเอ็มจี
ประเทศไทย (รายละเอียดโปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤศจิกายน
2545)
ส่วนสำนักงานไชยยศ ได้ประกาศความร่วมมือกับดีลอยท์ ทู้ ตั้งเป็นบริษัทดีลอยด์
ทู้ โทมัตสุ ไชยยศ
ปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤติ สัดส่วนลูกค้าเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของเอินสท์
แอนด์ ยัง อยู่ในอันดับประมาณ 3-4 มีลูกค้าใช้บริการสอบบัญชีของเอินสท์ แอนด์
ยัง เพียงประมาณ 60 บริษัท
ลูกค้าของเอินสท์ แอนด์ ยัง มาเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังประเทศประสบกับวิกฤติค่าเงินบาทในปี
2540 โดยเป็นการเพิ่มขึ้น จากการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก
"เราไม่เคยนำวิธีการตลาดเข้ามาใช้ ลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนใหญ่
เขาเข้ามาหาเราเอง"
ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ปริมาณลูกค้าของเอินสท์ แอนด์ ยัง ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เฉลี่ยปีละประมาณ 25%
"เหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะการสนองตอบของเราต่อความต้องการของลูกค้า เช่น
การต้องยื่นงบให้ตรงเวลา การให้บริการ ด้านอื่นๆ รวมทั้งความซื่อสัตย์สุจริตของเรา
ตลาดมองเราอย่างไร ผู้ลงทุนมองเราอย่างไร ผมว่าส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวชักนำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการของเรา"
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของเอินสท์ แอนด์ ยัง สำหรับบริษัทในตลาดหุ้น
ก้าวกระโดดขึ้น เนื่องจากนโยบาย ตั้งแต่เดิมของสำนักงานแห่งนี้ ไม่นิยมรับลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน
ลูกค้าที่มีอยู่ปัจจุบันมีเพียงบริษัทเงินทุนธนชาติ และธนาคารธนชาติเท่านั้น
"ตอนเกิดวิกฤติ ที่สถาบันการเงินถูกปิดไปถึง 56 แห่ง เราจึงไม่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ผู้สอบบัญชีรายอื่นๆ เขาต้องเสียลูกค้าไปถึง 50 กว่าราย"
การจัดอันดับของธุรกิจผู้สอบบัญชี อาจวัดได้จากหลายจุด เมื่อครั้งที่เอสจีวี-ณ
ถลาง ประกาศการรวมตัวกับเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ซึ่งมีผลให้จำนวนพนักงานที่ทำหน้าที่สอบบัญชีของทั้ง 2 แห่ง เมื่อรวมกันแล้วจะมีจำนวนถึงกว่า
1,000 คน กลุ่มเคพีเอ็มจี ประเทศไทย สามารถ เรียกตัวเองว่าเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจสอบบัญชีในไทย
ขณะที่เอินสท์ แอนด์ ยัง ซึ่งหากวัดจากจำนวนลูกค้า ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำนักงานแห่งนี้ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นอันดับ 1 ได้เช่นกัน
ในโครงสร้างของธุรกิจผู้สอบบัญชีทั่วโลก มีเพียงแห่งเดียวที่เอินสท์ แอนด์
ยัง กล้าพูดได้เต็มปากว่าเป็นอันดับ 1 คือ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เหลือส่วนใหญ่เอินสท์
แอนด์ ยัง มักจะ อยู่ในอันดับ 2-4 ตามหลังไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ที่ขึ้นครองอันดับ
1 หลังการรวมตัวกับคูเปอร์ส์ แอนด์ ไลแบรนด์ ในปี 2541
ในประเทศไทย ทรงเดชไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรกับการได้เป็นอันดับ 1 ของผู้สอบบัญชีในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในความรู้สึกของเขา ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จีรัง
เขายังยึดมั่นในหลักของความจริงใจในการให้บริการกับลูกค้า แม้ว่าความจริงใจนั้น
อาจสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้า จนต้องหันไปหาผู้สอบบัญชีรายอื่นในอนาคตก็ตาม