|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
3 สถาบันการศึกษาซอยเท้าลงสนามหลักสูตรปั้นนักธุรกิจดีกรีปริญญาเอก 'ศศินทร์' หลังนับนิ้วอาจารย์ครบจำนวน ควงคู่ 'Kellogg' เจาะนักการเงิน-นักการตลาด ด้าน 'ธุรกิจบัณฑิตย์' เฟ้นพันธมิตร สร้างโอกาสให้มืออาชีพ เปิดควบทั้งภาคไทย-อินเตอร์ ขณะที่ 'ชินวัตร' พลิกกลยุทธ์ ชูสหวิทยาการ ด้วยฐานปริญญาโท ประสานเสียงระบุซัพพลายจะโตต่อเนื่อง รับยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
จำนวนหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจระดับปริญญาเอกสำหรับปีนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพราะตั้งแต่ช่วงกลางปี ก็มีการเปิดตัวหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต หรือ D.M. ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม และก่อนส่งท้ายปี ยิ่งคึกคักเพิ่มขึ้น เพราะมีอีก 3 สถาบันที่เคลื่อนขบวนตามติดมา ประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยชินวัตร
'ศศินทร์' จับคู่ Kellogg เจ้าเก่า เปิด Ph.D. การเงิน-การตลาด
ศศินทร์ เป็นสถาบันที่เปิดหลักสูตรเอ็มบีเอมากว่า 20 ปี แต่เพิ่งจะเปิดเกมรุกในตลาดหลักสูตรปริญญาเอก ศ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า เพราะเป็นจังหวะที่สภาพแวดล้อมของธุรกิจขับเคลื่อนสู่ยุคไร้พรมแดนชัดเจน โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นปัจจัยสนับสนุน รวมถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี ซึ่งศศินทร์นอกจากมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตแล้ว ต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้ทันสมัย เพื่อนำกลับมาพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สำหรับปริญญาเอกของศศินทร์ เลือกเปิดเป็นโปรแกรม Ph.D. (ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต) และยังคงมี Kellogg เป็นพันธมิตรเช่นเคย นิสิตปริญญาเอกจะใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปี ปีแรกที่ศศินทร์ และปีที่ 2 ซึ่งเป็นปีหลักจะเรียนที่ Kellogg และหลังจากนั้นอีก 2 ปีเป็นช่วงการทำวิจัย
แม้จะมี Kellogg มหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาเป็นพันธมิตร แต่เพื่อให้ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนิสิตเป็นอาจารย์ประจำ Ph.D. ของศศินทร์ จึงเลือกเปิดเพียง 2 โปรแกรม คือ การเงิน และการตลาด ซึ่งมีความพร้อมของจำนวนอาจารย์ในสัดส่วนที่รองรับนักศึกษารวม 2 สาขา รุ่นละ 6-10 คนได้
"มีบางคนไปต่างประเทศ แต่กลับมาทำวิจัยในไทย ก็ไม่รู้ว่าผู้ตรวจเขาจะเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยไหม ข้อมูลอาจถูก แต่จะสมบูรณ์หรือเปล่า ไม่แน่ใจ"
อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายของ 2 หลักสูตรจะมีความแตกต่างกัน โปรแกรมการเงิน เน้นความสามารถการคำนวณ โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ขณะที่การตลาด เน้นผู้ที่มีพื้นฐานสังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานมา 2-3 ปี
ทั้งนี้ การเรียนปริญญาเอกที่ศศินทร์ ศ.เติมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมทำงานหนักมากกว่านักบริหารที่มีภารกิจงานค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้จำกัดเรื่องการทำงานในอนาคตว่าต้องเป็นอาจารย์เท่านั้น เพราะปัจจุบันนักบริหารหลายองค์กรจบการศึกษาระดับปริญญาเอกมากขึ้น
ด้านค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 3,500,000 บาท ซึ่งค่อนข้างสูง จึงคิดเพียง 2,000,000 บาท โดยส่วนที่ศศินทร์ต้องรับผิดชอบนี้ ศ.เติมศักดิ์ มองเป็นการลงทุนสร้างองค์ความรู้ให้มหาวิทยาลัย
ศ.ดร. Dipak C.Jain คณบดี Kellogg School of Management, Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวเสริมว่า การเปิดหลักสูตรปริญญาเอกของศศินทร์ไม่ช้าเกินไป เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียมีพัฒนาการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายภูมิภาคทั่วโลกจึงเริ่มเห็นความสำคัญขององค์ความรู้จากเอเชีย ซึ่งเป็นจุดที่สร้างดีมานด์ได้อย่างดี ส่วนแผนในอนาคต อาจจะมีโครงการแลกเปลี่ยนให้นักศึกษาของ Kellogg มาทำงานวิจัยในไทยด้วย
'ธุรกิจบัณฑิตย์' ใช้ D.B.A. รุกควบทั้งไทย-นานาชาติ
แม้จะเปิดหลักสูตรไล่เลี่ยกัน แต่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เลือกวางตำแหน่ง เน้นเจาะนักบริหารที่มีประสบการณ์ทำงาน ในวัย 30-45 ปี ที่มาเรียนพร้อมปัญหาที่พบจากการทำงาน และต้องการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของตนเองขึ้นมา โดยเลือกเปิดเป็นโปรแกรม D.B.A. (บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต) ที่เน้นศาสตร์เชิงประยุกต์มากกว่า pure science และมีให้เลือกทั้งหลักสูตรภาษาไทย และนานาชาติ
ผศ.ดร.โอม หุวะนันทน์ ผู้อำนวยการโครงการดุษฎีบัณฑิตบริหารธุรกิจ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายว่า ปัจจุบันเป็นยุคของการบริหารธุรกิจที่เน้นการใช้ข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจ สอดคล้องกับแก่นของการเรียนปริญญาเอกที่เน้นการตอบปัญหา ด้วยข้อมูลการศึกษาวิจัย ขณะที่คนจบเอ็มบีเอมีมากขึ้น ความต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจึงเพิ่มขึ้นด้วย
ดูเหมือนเปิดโอกาสให้นักบริหารได้ต่อยอดสู่การศึกษาขั้นสูงสุด แต่ก็จำกัดจำนวนรับเช่นกัน โดยหลักสูตรภาษาไทย 10 คน ขณะที่หลักสูตรนานาชาติ ไม่เกิน 15 คน ซึ่งเกณฑ์คัดเลือกนี้ เน้นรับผู้ที่มีหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว
ส่วนความแตกต่างระหว่างหลักสูตรไทยและนานาชาติ ผศ.ดร.โอม กล่าวว่า เนื้อหาค่อนข้างใกล้เคียงกัน แตกต่างเพียงภาษาที่ใช้ในการสอน เวลาในการเปิดรับนักศึกษา จำนวนหน่วยกิต จำนวนกลุ่มวิชาเลือกซึ่งหลักสูตรนานาชาติมี 4 แขนงวิชา คือ การจัดการทั่วไป การบริหาร การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ และการตลาด ขณะที่ภาคภาษาไทย มีเฉพาะการจัดการทั่วไป นอกจากนี้คือค่าใช้จ่ายในการเรียน และเกณฑ์จบหลักสูตร
ด้านการบริหารหลักสูตรในภาพรวม ผศ.ดร.โอม กล่าวว่า ธุรกิจบัณฑิตย์ใช้เครือข่ายที่มีสรรหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาสอนได้จากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้จะติดต่อกับองค์กรต่างๆ เพื่อเสนอทำวิจัยให้ ซึ่งนอกจากจะสร้างเครือข่ายด้านบุคลากรแล้ว ยังได้ฐานข้อมูลด้วย
สำหรับที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งมักเป็นปัญหาใหญ่ของผู้เรียน ได้กำหนดไว้ 3 ระดับ คือ โปรเฟสเซอร์ที่ดูแลในภาพรวม รู้ว่าใครทำอะไร มีความก้าวหน้าอย่างไร รวมถึงเชิญอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาบรรยายให้ตรงกับความต้องการ ระดับที่ปรึกษาส่วนบุคคล และระดับพี่เลี้ยง ที่เป็นอาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาเอก นอกจากนี้ระหว่างหลักสูตรจะจัดสัมมนา เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัย ความคิดเห็น และความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ ทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาชาวต่างชาติ
ผศ.ดร.โอม ยอมรับว่า จุดอ่อนหนึ่งของธุรกิจบัณฑิตย์ คือ แบรนด์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์คุณภาพ เกณฑ์หนึ่งที่กำหนดขึ้นมารับประกันบัณฑิต คือ ให้คณาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเป็นผู้ตรวจดุษฎีนิพนธ์จำนวน 3 คน โดยเป็นคนไทย 1 คน และชาวต่างชาติอีก 2 คน
เขาทิ้งท้ายไว้ว่า หลักสูตรปริญญาเอกไม่ใช่หลักสูตรสร้างรายได้ แต่จะสร้างองค์ความรู้ให้แก่ทั้งผู้เรียนและสถาบันการศึกษา เชื่อว่าอนาคตจะเปิดมากขึ้น เพราะอาจารย์ที่มีประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยรัฐ และเกษียณจากราชการ กระจายอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาของเอกชนเป็นจำนวนมาก
'ชินวัตร' เน้นสหวิทยาการ ไม่หวั่นภาพลักษณ์สถาบันใหม่
ด้าน ม.ชินวัตร แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนักศึกษาเพียง 3 ปี ก็ขยายแนวรุกสู่หลักสูตรระดับปริญญาเอกด้วยเช่นกัน รศ.ชูเวช ชาญสง่าเวช รองคณบดีคณะการจัดการ และผู้ประสานงานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการ กล่าวว่า เป้าหมายของม.ชินวัตร นอกจากพัฒนาความรู้ใหม่ รวมถึงตอบสนองผู้เรียนที่อยากต่อยอดความรู้ตนเองแล้ว ยังเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างพันธกิจความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ซึ่งต้องมีผลงานทางวิชาการในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
แม้อาจารย์จะต้องทำวิจัยอยู่แล้ว แต่การเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกจะช่วยเพิ่มจำนวนผลงานทางวิชาการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอาจารย์และผู้เรียนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งมีการกำหนดดัชนีชี้วัดอย่างชัดเจน คือ ในระยะ 3 ปี ต้องมีงานวิจัยเฉลี่ย 0.75 ชิ้นต่อคนต่อปี และระยะ 5 ปี มีงานวิจัยเฉลี่ย 1 ชิ้นต่อคนต่อปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 0.5 ชิ้นต่อคนต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้ ทรัพยากรหลักของม.ชินวัตร คือ คณาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก มีประสบการณ์การสอนปริญญาเอกมาก่อนด้วย และหลักสูตรระดับปริญญาโทที่เปิดสอนอยู่ ซึ่งมีหลายสาขาวิชาให้เรียนเป็นวิชาเลือก ตามที่สนใจจะทำวิจัย เช่น MBA, MS in Management, MS in Management Technology ม.ชินวัตรจึงเลือกเปิดเป็นโปรแกรม Ph.D. in Management และกำหนดที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จำนวน 2 คนต่อนักศึกษา 1 คน เรียกว่า ที่ปรึกษาหลัก และที่ปรึกษาร่วม ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้ความรู้จาก 2 คน และทำงานวิจัยให้เป็นเชิงสหวิทยาการได้
ผศ. ชูเวช กล่าวว่า ม.ชินวัตรกำหนดจำนวนนักศึกษาภาคการศึกษาละ 2-3 คนเท่านั้น เกณฑ์รับจะดูจากหัวข้อวิทยานิพนธ์ กับความพร้อมของอาจารย์ที่ปรึกษาว่าเชี่ยวชาญสอดคล้องหรือไม่
"เราเน้นบริหารแบบ Matching เช่น มีนักศึกษาลาวคนหนึ่งสนใจทำปริญญาเอกด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ ม.ชินวัตรมีอาจารย์ 1 คนสนใจศาสตร์นี้ และมีอีก 1 คนเชี่ยวชาญเรื่องกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนั้นการมีที่ปรึกษา 2 คน เชื่อว่านักศึกษาจะทำงานง่ายขึ้น และส่วนใหญ่ผู้เรียนดูที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นเกณฑ์ในการเลือกสถาบัน"
ขณะที่การรับประกันคุณภาพบัณฑิต กำหนดให้ผู้เรียนสามารถสอบป้องกันวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาได้ ต่อเมื่อมีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร และนำเสนอในที่ประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติเท่านั้น และจะให้อาจารย์จากภายนอก 1 คน เป็นผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา
กลยุทธ์ของม.ชินวัตร คือ อาจารย์ประจำที่ไม่อนุญาตให้รับงานนอก เพื่อให้นักศึกษาเข้าพบได้ตลอดเวลา สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องประจำสำหรับทำงานวิจัย รวมถึงแผนในอนาคต ที่จะเร่งสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของอาจารย์ที่ตรวจวิทยานิพนธ์ เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยกับอาจารย์ผู้ตรวจ ซึ่งจะทำให้ผลงานได้รับการตีพิมพ์เร็วขึ้น
|
|
 |
|
|