สายฝนยังคงโปรยปรายไม่ขาดเม็ด พร้อมๆ กับลมหนาวแรกของเหมันต์ฤดู เริ่มเข้ามาเยือน
ตึกสูงสวยงามระฟ้าที่เห็นอยู่เบื้องหน้า คือ มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองสำคัญของจีน
ดินแดนมหาอำนาจแห่งเอเชียที่โลกจับตามอง
ภาพของชาวนา "หวางหลุง" ในเรื่อง "The Good Earth"
ของเพิร์ล เอส.บั๊ค เรื่องราว อันน่ามหัศจรรย์ของการสร้างกำแพงเมืองจีน ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้
ความยิ่งใหญ่ของนางพญามังกร "ซูสีไทเฮา" สุดยอดภาพยนตร์เรื่อง
"The Last Emperor" และการ "ปฏิวัติวัฒนธรรม" เหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวในสมัยของท่าน
"ประธานเหมา" รวมทั้งความ "โหด" ของบรรดา เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้
ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ยังประทับอยู่ในความทรงจำ ทำให้ "เซี่ยงไฮ้"
เป็นเมือง "เป้าหมาย" หนึ่งที่ดิฉัน "กระหาย" อย่างมากที่จะไปดูความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนบนจีนแผ่นดินใหญ่
หลังจากเคยนั่งรถไฟจากเกาะฮ่องกงไปเที่ยวหลายเมือง ตอนใต้ของจีน และได้ล่องเรือกลับสู่เกาะฮ่องกงเมื่อหลายปีก่อน
แม้เซี่ยงไฮ้เป็นเพียงมิติเดียวของจีน แต่เป็นเมืองที่ได้รับการยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลง
สู่ความเป็นตะวันตกอย่างรวดเร็ว และได้กลายเป็นเมืองที่ชาวต่างชาติรู้จักมากที่สุดรองจากปักกิ่ง
หรือเป่ยจิง (Beijing)
เดิมทีเมืองนี้เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเงียบสงบ
แต่ได้มาถึงจุดพลิกผันอย่างรุนแรง ภายหลังการทำ "สนธิ สัญญานานกิง"
กับประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1842 โดยในสัญญานั้น ระบุว่าเซี่ยงไฮ้จะต้องเป็นเมืองท่าเปิดให้ชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขาย
และสร้างบ้านได้โดยเสรี
วันนี้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้า การเงิน การธนาคาร และการลงทุนที่สำคัญ
ที่สุดของจีน โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้นำจีนตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองที่ทันสมัย
(Modern Metropolis) มีบทบาทเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า และการเงินเคียงคู่ฮ่องกง
และเป็นศูนย์กลางการค้า ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ แทนฮ่องกง
ในที่สุดโอกาสนั้นก็มาถึง เมื่อได้ไปร่วมทำข่าวการเปิดโครงการศูนย์การค้า
ใหญ่ "ซูเปอร์แบรนด์มอลล์" ของเครือเจริญโภคภัณฑ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบันการบินไทยเพิ่มเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ เป็นวันละ 2 เที่ยว
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 โดยใช้เวลาในการลัดฟ้าประมาณ 4 ชั่วโมง ก็ถึงท่าอากาศยานหงเฉียว
ท่าอากาศยานเก่าที่ค่อนข้างแออัด หากเทียบกับท่าอากาศ ยานดอนเมืองของบ้านเรา
แต่หลังจากวันนั้นไปไม่กี่วัน การบินไทยได้ไปลงที่ท่าอากาศยานแห่งใหม่ "ผู่ตง"
ที่เพิ่งสร้างเสร็จ และมีความกว้างขวางทันสมัยกว่ากันมาก
จากสนามบินใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง ผ่านถนนซูเปอร์ไฮเวย์ 2-3 ชั้นที่ทันสมัย
และวิ่งเข้าไปในอุโมงค์ลอดแม่น้ำ "หวังผู่" ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำแยงซี
ไปยังเขตผู่ตง (Pudong) โดยมีปลายทางที่โรงแรมโอเรียนทัล ริเวอร์ไซด์ริมแม่น้ำ
หวังผู่ ซึ่งเป็นที่พัก
เซี่ยงไฮ้กับกรุงเทพฯ เหมือนกันตรงที่เป็นเมืองใหญ่มีแม่น้ำผ่านกลางเมือง
แม่น้ำเจ้าพระยา สร้างให้มีฝั่งธนฯ และฝั่งกรุงเทพฯ สายน้ำ "หวังผู่"
ก็แบ่งดินแดนเซี่ยงไฮ้ ให้มี "เดอะบันด์" (The Bund) หรือเขตเศรษฐกิจเก่ากับเขตเศรษฐกิจใหม่ที่
"ลู่เจียจุ่ย" (Lujiazui) ฝั่งผู่ตง แต่จะต่างกันตรงที่ว่าเซี่ยงไฮ้
มีพื้นที่ 6,340 ตารางเมตร มีประชากร 16 ล้านคน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่เพียง
1,600 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 6 ล้านคน
Oriental Riverside Hotel Shanghai เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ สะท้อนตัวตนของเซี่ยงไฮ้ในวันนี้อย่างเห็นได้ชัด
เมื่อย่างเท้าผ่านประตูหมุนเข้าไป จะพบกับล็อบบี้ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหราทันสมัย
เช่นเดียวกับโรงแรม ดังๆ ในยุโรปและอเมริกา พนักงานต้อนรับสาวจีนหุ่นดี ขาวสวย
อยู่ในชุดสูทกระโปรงสั้นเดินไปเดินมาอย่างกระฉับกระเฉง
เป็นอันว่าการแต่งตัวแบบ "ชุดเหมา" คือ เสื้อแขนยาวปิดคอ กางเกงขายาว
ไร้รูปทรง สีตุ่นๆ ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ทั้งๆ ที่โรงแรมนี้คือโรงแรมที่มีรัฐบาลเป็นหุ้นใหญ่
ความทันสมัยไฮเทค ในห้องพักก็เริ่มจากการเข้าห้องโดยวิธีรูดการ์ดในห้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ห้องน้ำกว้างขวาง มีทั้งอ่างน้ำให้แช่ตัว และที่ยืนอาบแบบฝักบัว ผนังห้องด้านหนึ่งเมื่อรูดม่านออกไปก็จะเห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำหวังผู่ถนัดตา
ทราบทีหลังว่าสนนราคาของห้องพักระดับนี้ตกคืนละ 1,000 หยวน หรือประมาณ 5,000-6,000
บาท (1 หยวนเท่ากับ 5 บาทกว่าๆ)
มองไปมองมา สิ่งที่ยังคงเอกลักษณ์ของจีน และความเป็นตะวันออกของ โรงแรมแห่งนี้
น่าจะเป็นโคมกลมๆ ใหญ่ๆ สีแดง ที่ห้อยเรียงรายอยู่ริมผนัง ด้านหน้าโรงแรมอย่างเดียวกระมัง
ในช่วงปี ค.ศ.1980 Deng Xiaoping (ผู้นำจีนสมัยนั้น) ได้มีวิสัยทัศน์ที่จะ
พัฒนาความเจริญและทันสมัยให้เซี่ยงไฮ้ โดยมีเป้าหมายพัฒนาเขตลู่เจียจุ่ยบนฝั่งผู่ตง
ขนาดพื้นที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตรนี้ให้เป็น "Wall Street of Asia"
ความเจริญทางด้านวัตถุ จึงหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 10
ปีที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนของรัฐบาลจีนเอง และการลงทุนจากต่างชาติ ในปี พ.ศ.2545
มีการลงทุนจากต่างชาติในเซี่ยงไฮ้ 7.37 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติถึง
2,458 โครงการ
ในขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา
10 ปี ในช่วงปี ค.ศ. 2001 เท่ากับ 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.2%
GDP ประมาณ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ของจีน
ฝั่งผู่ตง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางทางการเงิน และการค้า มีอาคารสำนักงานพาณิชย์
สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว จึงเป็นตึกสูงรูปทรงสวยงามแปลกตา
เรียงรายระฟ้าเป็นสัญลักษณ์แห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะหอโทรทัศน์
โอเรียนทัล เพิร์ล ทีวี ทาวเวอร์ (Oriental Pearl TV Tower) ที่มีความสูงถึง
458 เมตร เป็นหอคอยที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และอาคารสูง 88 ชั้น "จิงเม่า"
ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมแกรนด์ไฮแอท
ทางการจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาผังเมืองเซี่ยงไฮ้อย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบ
(Model City) และนำเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองอื่นๆ ต่อไป ทำให้ตึกใหม่ในย่านลู่เจียจุ่ย
จึงมี สัดส่วนพื้นที่ว่าง และพื้นที่สีเขียวโดยรอบไม่แออัด อย่างตึกสูงแถวถนนสีลมบ้านเรา
ในขณะที่ฝั่งเดอะบันด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำหวังผู่ จะมีสถาปัตยกรรมอันสวยงามของอาคารต่างๆ
ตามแบบชาวตะวันตกที่เคยเข้ามาเรืองอำนาจในยุค หนึ่ง และเคยเป็นย่านการค้าและการเงินที่สำคัญของ
เซี่ยงไฮ้ในอดีต
เมื่อรายได้ดีขึ้นฐานะของคนชั้นกลางเพิ่ม สูงมากขึ้น กำลังซื้อมากขึ้น
เซี่ยงไฮ้จึงมีแหล่งชอปปิ้งเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในศูนย์การค้า ชอปปิ้ง เซ็นเตอร์
และบนถนนสายสำคัญต่างๆ พร้อมๆ กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ในเซี่ยงไฮ้ พนักงานบริการเงินเดือน 800 หยวนต่อเดือน (อาจมีทิป) พนักงานขายตามห้างร้าน
800-1,000 หยวน (มีรายได้จากเปอร์เซ็นต์ที่ขายได้ ประเภทแรงงาน 1,500-2,000
หยวน พนักงานบริษัท ระดับปริญญาตรี 2,000-3,000 หยวน ปริญญาโท 3,000-5,000
หยวน ค่าแรงปัจจุบันเพิ่มขึ้นในอัตรา 10-15% (ข้อมูลจากสถานกงสุลไทย)
เยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกคนเดียวที่เกิดขึ้นในสังคมใหม่ จึงได้รับการตามใจจากครอบครัว
กล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น และกลายเป็น กำลังซื้อส่วนหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน
การถูกปลดปล่อยให้มีเสรีภาพในเรื่องต่างๆ ทำให้คนจีนเปิดกว้างที่จะลอง
และรับของใหม่ๆ ที่ทันสมัยในย่านศูนย์การค้า แหล่งชอปปิ้ง หรือซูเปอร์แบรนด์
มอลล์ ศูนย์การค้าใหญ่ล่าสุดที่เกิดขึ้น จึงเต็มไปด้วยคน คน คน จำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา
ทั้งหนุ่มสาววัยรุ่นที่แต่งตัวทันสมัย ทั้งคนจีนในวัยกลางคน และวัยชรา ที่เข้ามาดูร้านนี้ออกร้านโน้นกันขวักไขว่
คนจีนรุ่นใหม่ที่พบเห็นจะนิยมของแบรนด์เนมราคาแพงจากซีกโลกตะวันตก ร้านดังหลายแห่งจึงมาเปิดที่นี่
รวมไปถึงศูนย์รวมทางด้านคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอทีทุกชนิด
ท่ามกลางภาพลักษณ์ที่มีความเป็นอินเตอร์ ก็อดฉงนไม่ได้ว่าทำไมยังมีคนจีนสูงอายุอีกหลายคน
เข้ามาเดินศูนย์การค้าในชุดกางเกงนอนผ้าแพร กวียุทธ์ เยาวพงษ์อารี ผู้บริหารคนหนึ่งของ
ซี.พี. ซึ่งใช้ชีวิตในเมืองเซี่ยงไฮ้มานานกว่า 10 ปี อธิบายว่า เป็นเพราะเขามีความคิดว่าชุดนอนผ้าสีสวยๆ
เหล่านั้นมันสวย เกินกว่าที่จะใช้นอนอย่างเดียว น่าจะเอามาใส่เดินเที่ยวได้ด้วย
ตัวเลขจากสถานกงสุลไทยในเซี่ยงไฮ้ ยังระบุว่า เมืองนี้มีผู้ใช้โทรศัพท์
5.48 ล้านเครื่อง ใช้อินเทอร์เน็ต 2.02 ล้านคน และขณะนี้ทางรัฐบาลจีนได้วางแผนให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์
กลางการลงทุนที่สำคัญ โดยเฉพาะทางด้านไอที และ อุตสาหกรรมหลักอื่นๆ 6 สาขา
คือ การเงิน การธนาคาร การค้ายานยนต์ เครื่องจักรกล และอิเล็ก ทรอนิกส์ชั้นสูง
อสังหาริมทรัพย์ และปิโตรเคมี
ด้วยเวลาเพียงน้อยนิด ทำให้ไม่มีโอกาสได้เดินบนถนนนานกิง ถนนคนเดินสายยาวเพื่อการชอปปิ้งที่โด่งดังไปทั่วโลก
แต่ได้มีโอกาสไปตลาด "เซี่ยงหยาง" (Xing Yang) ซึ่งเป็นตลาดกลางแจ้ง
เหมือนตลาดจตุจักรบ้านเรา แต่เล็กกว่า ข้าวของสวย น้อยกว่า และการจัดหน้าร้านสู้บ้านเราไม่ได้อีกเหมือนกัน
ก่อนเดินทางมาพรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคนจากเมืองไทย ฝากซื้อนาฬิกา ซึ่งว่ากันว่านาฬิกาปลอมเลียนแบบจากเมืองจีนนั้นฝีมือเนี้ยบนัก
ทั้ง โรเล็กซ์ กุชชี่ หลุยส์ วิตตอง บุลการี เรือนละเป็นหมื่นเป็นแสนบาท
สามารถหาซื้อได้ในราคาเพียงไม่กี่สิบหยวน แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อสอบถามได้ความ
ว่า รัฐบาลจีนต้องการให้เซี่ยงไฮ้เป็นหน้าเป็นตาห้องรับแขกของประเทศ ดังนั้นจึงมีการกวาดล้างร้านพวกนี้อย่างเข้มงวด
หากต้องการซื้อจริงๆ เมือง ทางใต้ อย่างเช่น เสิ่นเจิ้น จะมีให้เห็นอย่างมากมาย
ทีเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ผิดหวังมากมายนัก เพราะตัวเอง ก็รับไม่ค่อยได้กับของเลียนแบบอยู่แล้ว
แต่วิธีการที่เจ้าของสินค้าปลอมพวกนี้จะใช้กับนักท่องเที่ยวก็คือ เดินเข้ามาหา
พร้อมส่งภาษาสั้นๆ ว่า โรเล็กซ์ หรือนาฬิกาชื่อดังยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งหากเราพยักหน้าตกลงเขาก็จะรีบนำไปมุมใดมุมหนึ่งแล้วเอานาฬิกาเหล่านั้นมาให้เลือกทันที
สินค้าอย่างหนึ่งที่ตั้งใจจะมาซื้อก็คือ กระเป๋าผ้าไหม งานฝีมือของจีนใบเล็กๆ
น่ารักๆ ที่หลานชายเพิ่งซื้อมาฝากจากปักกิ่งก่อนเดินทางไม่กี่วัน ทราบว่าราคาไม่แพงนักเหมาะเป็นของฝากอย่างดีทีเดียว
แต่ก็ผิดหวังเพราะมีให้เลือกน้อยและฝีมือก็ไม่ประณีต บางใบด้ายหลุด ชายผ้าลุ่ย
เห็นแล้วไม่อยากซื้อ พลางนึกถึงงานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีงานจากชาวบ้านในชนบทมาขาย
ทั้งฝีมือและการดีไซน์ของเราสวยกว่ามากนัก
การบอกราคาสินค้าตามร้านค้าข้างทางในเมืองเซี่ยงไฮ้หรือเมืองท่องเที่ยว
อื่นๆ ของจีน ทราบว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าหงุดหงิดหัวใจ เพราะสามารถหลับหูหลับตาต่อได้อย่างชนิดดุเดือด
หลานชายบอก "แทคติค" ว่าให้ต่อรองราคาได้ประมาณเกือบครึ่งและให้มองสินค้าชิ้นนั้นอย่างผ่านๆ
เหมือนกับว่าไม่ได้ต้องการ มากมายนัก แต่ "น้า" แน่กว่าเพราะสามารถต่อสินค้าได้ถึง
60 เปอร์เซ็นต์ของ ราคาที่บอกมาแทบทุกชิ้น แถมยังได้แทคติคใหม่คือ ทำเป็นหูทวนลมกับภาษาจีน
ที่ได้ยิน ช่วงที่แม่ค้าหยิบของให้ด้วย มีคนช่วยแปลให้ฟังว่า หากเป็นแถวบางลำพูคำพูดนั้นก็จะประมาณว่า
"เกิดมาคงไม่เคยซื้อของ" อะไรแบบนั้น
เช้าวันก่อนเดินทางกลับ ดิฉันมีเวลาไปเดินเล่น ริมแม่น้ำหวังผู่ มองออกไปยังฝั่งเดอะบันด์อย่างเสียดาย
ที่ไม่มีโอกาสไปเดินชมความงดงามของอาคาร และบ้านเรือนในดินแดนประวัติศาสตร์ของจีน
หมอกสีเทาที่ยังคงลอยตัวอ้อยอิ่งอยู่ในแม่น้ำ ทำให้เห็นร้าน กาแฟสตาร์บัคในฝั่งนั้นได้เพียงจางๆ
เซี่ยงไฮ้ในวันนี้ เปรียบเสมือนคนในวัยหนุ่มสาว ที่กำลังสนุก และหลงระเริงไปกับเสรีภาพ
และวัตถุ นิยมที่บรรพบุรุษเคยปฏิเสธมาก่อน บทเรียนจาก อดีต และความสามารถของผู้นำเท่านั้น
ที่จะทำให้พวกเขาคงความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกได้
บันทึกหน้าใหม่ของจีนกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง