|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"หม่อมอุ๋ย" มั่นใจขยับดอกเบี้ย 0.50% 2 ครั้งติดไม่กระทบตลาดเงินและนักลงทุน ระบุสภาพคล่องลดหลังออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่องไปช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ดัชนีวัดเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 48 ใหม่ให้สูงกว่า 4% จากเดิมตั้งไว้ 3.50-4.50% พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้ทิศทางดอกเบี้ยสอดคล้องกับเฟดเพื่อสกัดเงินไหลออก ด้านแบงก์พาณิชย์ยังตรึงดอกเบี้ย "บัณฑูร" เผยรอให้แบงก์อื่นนำทัพปรับก่อน ส่วน "ประสาร" เชื่อดอกเบี้ยออมทรัพย์ขยับเร็วๆ นี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง การประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะเวลา 14 วัน 0.50% ถึง 2 ครั้งติดกัน ว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับนักลงทุนและประชาชนมากนัก รวมทั้งยังจะช่วยสกัดไม่ให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ปรับตัวเพิ่มสูงมากอย่างที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกในกลางปี 2549 ได้
ส่วนกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่มีความผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นการปรับตัวตามภาวะของตลาดเงิน ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการเข้ามาเก็งกำไรอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว
"ตอนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ก็ไม่ได้มากจนกระทบภาคการส่งออก ซึ่ง ธปท.ก็ติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ถึงขนาดเข้าไปแทรกแซงตลาด และตอนนี้ค่าเงินบาทได้เริ่มกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่มีมากขึ้น"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า การที่ ธปท.ได้ออกพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 ถึง 280,000 ล้านบาท ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2548อยู่ในระดับที่สูงมาก ดังนั้น ธปท.จึงจำเป็นต้องออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
"ธปท. ออกพันธบัตรธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งออกมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนเมษายนที่ ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่แบงก์พาณิชย์ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพราะยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่มาก แต่ตอนนี้สภาพคล่องในระบบเริ่มลดลงแล้วแบงก์พาณิชย์จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และธปท.ไม่จำเป็นต้องดูดซับสภาพคล้องเพิ่มขึ้นอีก"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ธปท.จะออกพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็สามารถจ่ายภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเงินที่ได้มาจากการขายพันธบัตร ธปท.นั้น ได้เอาไปลงทุนต่อในสินทรัพย์อื่น ซึ่งมีรายรับเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ ทำให้การดูดซับสภาพคล่องจากระบบการเงินไม่ได้เพิ่มภาระให้ ธปท. ซึ่ง ธปท.พร้อมที่จะดูดซับสภาพคล่องได้ต่อเนื่องหากมีความจำเป็น
ด้านนายเกริกไกร จิระแพทย์ กรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธปท. กล่าวว่า ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.จะปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2548 ที่จะประกาศในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ณ สิ้นเดือนตุลาคมนี้ใหม่ โดยจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% กว่าจากเดิมที่ประมาณการไว้ 3.5-4.5% เนื่องจากแนวโน้มของธุรกิจภาคการส่งออกขยายตัวได้ดี
ขณะเดียวกัน ทุนสำรองทางการ ภาคการท่องเที่ยว ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดต่างก็ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3 เดือนก่อน พร้อมทั้งจะต้องปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วยเพราะอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นไปเร็วมาก
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ถึง 2 ครั้งติดกัน นั้น กนง.จำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพของเศรษฐกิจที่แท้จริง และที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ไม่เคยละเลยที่จะดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
"การดูแลต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้ง 2 ด้าน ซึ่งตอนนี้ ธปท.มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะสูงกว่าประมาณการเดิมที่ ธปท.ประมาณการไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ในด้านเสถียรภาพมีปัญหามากกว่า ก็ต้องหันมาดูแลด้านเสถียรภาพมากขึ้น "นายเกริกไกร กล่าว
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. อีก 0.50% เป็นไปในทิศทางเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ และแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น รวมทั้งธปท.เองต้องพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ และเงินไหลออกจากประเทศ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ประเทศไทยใช้อิงเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ประเด็นสำคัญคือ จะต้องให้ความสำคัญกับส่วนต่างระหว่างเงินฝากและเงินกู้ไม่ให้ต่างกันมากเกินไป ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการออมในภาคประชาชน ส่วนการออกพันธบัตรเพื่อกระตุ้นการออมในอนาคตนั้นได้กำชับในที่ประชุมครม. ว่าจะต้องจัดสรรให้กับประชาชนทั่วไปก่อนที่จะจัดสรรให้กับสถาบันการเงิน
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีของธปท. ครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร เพราะปัจจุบันสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงที่ดี บวกกับกลุ่มธนาคารเองมีการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างแน่นอน
กสิกรไทยรอให้แบงก์อื่นปรับก่อน
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจะไม่เป็นผู้นำในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่หากมีธนาคารอื่นปรับตามดอกเบี้ยอาร์/พี ธนาคารเองคงจะต้องขยับดอกเบี้ยตามแน่นอน เพื่อให้ให้สูญเสียฐานลูกค้า เนื่องจากขณะนี้การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์มีความรุนแรงมากขึ้น
"สภาพคล่องช่วงที่ผ่านมาเหลืออยู่มาก จึงไม่มีใครทำอะไร แต่พอดอกเบี้ยขยับขึ้น ทุกคนกลับมาโลภ ดังนั้นแต่ละแห่งต้องจับตามองกันอย่างไม่กระพริบตา และผู้บริโภคก็จะกลายเป็นทางออกสำหรับธนาคารพาณิชย์ในท้ายที่สุด"
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะตลาด โดยผู้ฝากเงินจะได้รับประโยชน์ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ลูกค้าเงินกู้จะต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ มีโอกาสปรับขึ้นตลอดเวลา แต่ขึ้นกับธนาคารรายใดจะเป็นผู้นำตลาด
ส่วนความเป็นไปได้ของการประชุม กนง.ในวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่นั้น นายบัณฑูร กล่าววว่า ขึ้นกับการพิจารณาของ ธปท. และสถานการณ์ในขณะนั้น แต่เชื่อว่า ธปท. คงจะประเมินความเหมาะสมอย่างรอบด้าน
ส่งสัญญาณขยับดอกเบี้ยออมทรัพย์
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีแผนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ แต่รอดูธนาคารอื่นจะขยับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์หรือไม่ หากธนาคารมีการเปลี่ยนแปลง ธนาคารกสิกรไทยก็คงต้องขยับอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย
"ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่จะมีธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์แล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอาร์พีถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุด (Peak) แล้ว"
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นายประสาร กล่าวว่า ธนาคารได้พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ผ่อนบ้านไว้แล้ว และทางธนาคารได้คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เผื่อล่วงหน้าไว้แล้วประมาณ 2% จึงน่าจะรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ สำหรับการเติบโตของสินเชื่อ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 6-7% ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่โต 9%
ด้านนายอรุณ จิรชวาลา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการบริหารสภาพคล่องของแต่ละแห่ง โดยธนาคารนครหลวงไทยจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ เพราะได้ปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้และสภาพคล่องยังมีพอรองรับการปล่อยสินเชื่อธนาคาร
แบงก์ชาติ-คลังถกแก้เอ็นพีแอลวันนี้
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในวันนี้ (21 ต.ค.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ผู้ว่าการธปท. จะเข้าพบรมว.คลัง เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบให้ลดลงเหลือเพียง 2% ในปี 2549 โดยผู้ว่าการธปท. จะนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และแนวทางที่จะให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือต่อไป
|
|
|
|
|