ยุทธศาสตร์แบงก์กรุงไทยหลังการแปรรูปธนาคาร ตั้งปณิธานสู่ Convenience Bank
หรือ"แบงก์สะดวกซื้อ"วางเป้าธุรกิจปี 46 เสริมสร้างประสิทธิภาพและสินทรัพย์ดีของธนาคาร
มุ่งสร้างบริการทางการเงินที่รวดเร็วตอบสนองลูกค้าได้ตรงกลุ่ม
แม้จะเลื่อนการกระจายหุ้นออกไปเป็นต้นปีหน้า แต่ก็ถือว่าธนาคารกรุงไทย
จำกัด (มหาชน) KTB กำลังอยู่ในห้วงการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่อง
การกระจายหุ้นแค่เป็นส่วนหนึ่งของแผนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจมากยิ่งขึ้น
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ กล่าวว่า สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนให้ความสนใจคือ
แผนการดำเนินงานของธนาคารหลังการแปรรูปมากกว่า โดยเชื่อว่า แผนของธนาคารในปี
2546 นั้นยังคงมุ่งสร้างประสิทธิภาพของธนาคารให้สามารถแข่งขันและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยจะมุ่งพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ธนาคารให้บริการ ด้านรับฝากเงิน
การปล่อยสินเชื่อ และระบบการชำระเงินเพื่อให้สามารถประมวลผลของข้อมูลได้ถูกต้องและแม่นยำ(Core
Banking Business)
การเสริมสร้างสินทรัพย์เพื่อก่อให้เกิดรายได้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากธนาคารยังมีช่องทาง
ในการขยายสินทรัพย์ได้อีกมาก เนื่องจากธนาคาร มีฐานของเงินกองทุนที่เพียงพอที่จะดำเนินการได้
การมุ่งเน้นโครงการพิเศษสู่การเป็นธนาคาร เพื่อเศรษฐกิจชุมชน(Commercial
Microbanking System)โดยจะพัฒนาโครงการต่างๆที่ได้ดำเนินการไม่ว่า โครงการ
ธนาคารชุมชน ธนาคารอิสลาม หรือโครงการสินเชื่อเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)โดยให้ระบบในการบริหารโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด
การปรับเปลี่ยนระดับของฐานลูกค้าขนาด ใหญ่ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 60% ให้เป็นลูกค้าขนาดกลางและรายย่อยมากกว่าร้อยละ
50 (ณ สิ้น 30 มิ.ย. ธนาคารมียอดสินเชื่อลูกค้าขนาด ใหญ่ประมาณ 289.4 พันล้านบาทคิดเป็นร้อยละ
55.9 ของยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด)
การปรับกระบวนการทำงานโดยลดหรือเลิกงานที่ไม่สร้างมูลค่าให้กับธนาคารหรืองานไม่สร้างเสริมปริมาณงานให้เกิดขึ้นในอนาคต
และความมุ่งมั่นขององค์กรซึ่งเป็นแผนในระยะยาวที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น
และพิจารณาเห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารคือ การเป็นธนาคารที่เสนอบริการได้หลายหลาย
สะดวกสบาย ชำระง่าย ไม่เสียเวลา หรือที่เรียกว่า Convenience Bank สิ่งสำคัญธนาคารยังต้องสร้างบริการทางการเงินที่รวดเร็ว
มีความแม่นยำและระดับราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ การเข้าถึงประชาชนที่ต้องการสินค้าของธนาคารผ่านจุดบริการและเครือข่ายทางเทคโนโลยีที่ธนาคารมีครอบคลุมทุกพื้นที่
โดยต้องยึดหลักการบริหารจัดการที่มีประสิทธิ-ภาพ โปร่งใส เสมอภาคเป็นหลัก
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทิศทางธุรกิจ ของธนาคารโดดเด่นในหลายๆด้าน
ไม่ว่าผลการ ดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาที่กำไรสุทธิสูงสุด 7,476 ล้านบาทสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง
1,863 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ 14,763 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียว
กันของปีก่อน มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มอีก 848.88 ล้านบาท
ขณะที่ฐานเงินทุนของธนาคารมีความแข็ง แกร่งซึ่งความพร้อมในด้านนี้มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการจ่าย
เงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดย ณ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่
1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารอยู่ในอัตรา 12.8% และ 13.9% และธนาคารยังใช้เงินทุนส่วนที่เกินไปซื้อคืนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นจากองทุนฟื้นฟูฯจำนวน
10,800 ล้านหน่วย และปรับโครงสร้างทุนโดยโอนทุนสำรองต่างๆทั้งหมดไปหักลดผลขาดทุนสะสม
ในส่วนการดำเนินธุรกิจธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการขยายสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
โดยตัวเลขสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนต.ค.อยู่ที่ 902,270 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนก.ย.
894,276 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 8,000 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่ธนาคารสนับสนุนล้วนแต่มีความมั่นคงทั้งลูกค้าภาครัฐ
ลูกค้ารายใหญ่ และลูกค้ารายย่อย โดยกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชั้นนำส่วนใหญ่เป็น
รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมียอดสินเชื่อของกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจที่ดีขึ้นตามลำดับ
และยังไม่มีลูกค้ารายใดในกลุ่มนี้เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)
เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเป้าในการดำเนินการด้านสินเชื่อของธนาคารในปี 2545 ได้กำหนดนโยบายปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น
170,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 100,000 ล้านบาทและภาคเอกชน 70,000 ล้านบาท
ซึ่งขณะนี้นโยบายดังกล่าวรุดหน้าเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่กระนั้นในกระบวนการปล่อยสินเชื่อจำนวนมหาศาลและสูงสุดในระบบ
ธนาคารก็ยังไม่ละทิ้งในการนำระบบการวิเคราะห์ ความเสี่ยงตามหลักสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อมิให้สร้างความเสี่ยงต่อธนาคาร