"เบญจรงคกุล" ปิดฉากตำนานผู้ให้บริการทางด้านโทรศัพท์มือถือ เปิดทางเทเลนอร์เข้ากุมหุ้นใหญ่ UCOM ผ่านบริษัท เทลโค โฮลดิ้งส์ ส่วนคนไทยถือ 59% อาทิ "เบญจรงคกุล10% -ฟินันซ่า 10% " พร้อมยื่นขอเสนอซื้อสินทรัพย์หลักมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านบาทเพื่อลุยธุรกิจไอทีเต็มสูบผ่านบริษัทใหม่ "เบญจจินดา" ด้าน"บุญชัย" อดีตบิ๊กลาออกเหลือเพียงตำแหน่งประธานบอร์ด "ดีเทค" ขณะที่ "วิชัย" ผู้น้องออกจากทุกตำแหน่ง ตลท.สั่งห้ามซื้อขายหุ้น UCOM 2 วัน
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC กล่าวว่า วานนี้(20ต.ค.) "ตระกูลเบญจรงคกุล" ประกอบด้วย นายบุญชัย เบญจรงคกุล ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 12.37%, นายวิชัย เบญจรงคกุล ถือหุ้นในสัดส่วน 14.85% และนางวรรณา จิรกิติ ถือหุ้นในสัดส่วน 12.66% ได้ขายหุ้นในส่วนที่ถือครองใน บมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี หรือ UCOM จำนวน 173,331,750 หุ้น หรือ 39.98% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 53 บาท เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,186.58 ล้านบาท ให้กับบริษัทไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด (TTH)
สำหรับ บมจ.ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านหุ้น (400 ล้านบาท) เป็นบริษัทที่จัดขึ้นตั้งใหม่ โดยมีคนไทย ซึ่งได้แก่ กลุ่มตระกูลเบญจรงคกุล บริษัทฟินันซ่า และนักลงทุนเอกชนไทยอีกจำนวนหนึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 51% และมี บมจ.เทเลนอล เอเซีย พีทีอี จำกัด บริษัทสาขาในประเทศสิงคโปร์ ของบริษัทเทเลนอร์ เอเอส ในประเทศนอร์เวย์ เป็นผู้ถือหุ้น จำนวน 49%
ทั้งนี้ บมจ.เทเลนอล เอเชีย พีทีอี ถือหุ้น โดยตรงใน บมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี ในสัดส่วน 30% ในบมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี ในสัดส่วน 24.9%
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) วานนี้ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP หรือ ห้ามซื้อขายหุ้น UCOM ตามที่บริษัทได้ขอมา โดยระบุว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะการซื้อขายหุ้นของบริษัท ตลท.จึงหยุดพักการซื้อขายหุ้น UCOM เป็นการชั่วคราวตั้งแต่ช่วงบ้านวันที่ 20 ต.ค.-21 ต.ค.นี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปได้มีเวลาที่จะวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวอย่างเพียงพอก่อนที่จะทำการซื้อขายหุ้นของบริษัทต่อไป
ทั้งนี้ราคาหุ้น UCOM ก่อนขึ้น SP ราคาปรับเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดตลาดในช่วงเช้า และปิดที่ระดับ 55.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 801 ล้านบาท และปรากฎข่าวมีการทำรายการซื้อขายบิ๊กล็อตมูลค่า 9, 186 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 53 บาท
นางสาววาสนา คงมั่น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (UCOM) แจ้งไปยัง ตลท.ว่า บริษัทได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยนายบุญชัย เบญจรงคกุล ขายหุ้นจำนวน 53,750,000 หุ้น (คิดเป็น 12.37% ของทุนจดทะเบียน บริษัท) นายวิชัย เบญจรงคกุล ขายหุ้นจำนวน 64,541,167 หุ้น (คิดเป็น 14.85% ของทุนจดทะเบียนบริษัท) และ นางวรรณา จิรกิติ ขายหุ้นจำนวน 55,040,583 หุ้น (คิดเป็น 12.66% ของทุนจดทะเบียนบริษัท) ให้บริษัทไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยผู้ซื้อจะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ
บริษัทไทยเทคโค โฮลดิ้งส์ มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี แอลทีดี ถือหุ้น 19,600,000 หุ้น,บริษัท โบเลโร จำกัด ถือหุ้น10,480,000 หุ้น,นายบุญชัย เบญจรงคกุล ถือหุ้น 3,960,000 หุ้น,บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 3,959,993 หุ้น,บริษัท แซนดาลวูด โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 800,000 หุ้น,บริษัท เพทรูส จำกัด ถือหุ้น 600,000 หุ้น,บริษัท อมาโรนี่ จำกัด ถือหุ้น 600,000 หุ้นและอื่น ๆ 7 หุ้น
กรรมการบริษัทและกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ประกอบด้วย นายศรีภูมิ ศุขเนตร,นาย คนุท บอร์เก็น,นาย กุนนาร์ เบอร์เทลเส็น,นาย คริสเตียน สตอร์ม,นาย สมยศ สุธีรพรชัย
นอกจากนี้ นายบุญชัย เบญจรงคกุล,นายวิชัย เบญจรงคกุล และนายประทีป จิรกิติ ได้แจ้งลาออกจากกรรมการบริษัท และลาออกจากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของนายบุญชัย เบญจรงคกุลอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ซึ่งการลาออกดังกล่าวจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป
นายบุญชัย กล่าวว่า การบริหารงานงานของ บมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี ภายหลังจะมีการปรับเปลี่ยน โดยบริษัทยูคอมจะเน้นธุรกิจทางด้านอีบิสซิเนส ขณะที่บริษัทแทค จะเน้นธุรกิจทางด้านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยได้มีการแจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในบมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่นอินดัสตรี ต่อนายศรีภูมิ ศุขเนตร ประธานกรรมการ ของบริษัท
แต่ยังคงตำรงดำแหน่งประธานกรรมการบริหารบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น
ในวันนี้(21 ต.ค.) บริษัทจะเรียกประชุมคณะกรรมการของบริษท ทั้งในส่วนของบริษัทยูคอม และ บริษัทแทค เพื่อหารือถึงความชัดเจนรวมถึงแผนงานของบริษัทในอนาคต รวมถึงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นในส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์ บมจ.ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จะต้องเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี ขณะที่ บมจ.เทเลนอล เอเซีย พีทีอี จะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของแทค
นอกจาก บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)ได้รับคำเสนอซื้อทรัพย์สินของบริษัท โดยเป็นคำเสนอซื้อทรัพย์สินที่เพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable Offer) ลงวันที่ 20 ต.ค.48 ของบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด และได้รับคำเสนอซื้อทรัพย์สินที่เพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable Offer) ลงวันที่ 20 ต.ค.48 ของบริษัท ไพรเวท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
นางวาสนา คงมั่น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี กล่าวว่า บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง ได้เสนอซื้อกิจการ ซึ่งประกอบด้วย ทรัพย์สินที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนที่เป็นกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่า หรือ ที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของบริษัท ในราคา 1,112,000,000 บาท คำนวณตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
ส่วนบริษัท ไพรเวท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เได้สนอซื้อทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย สิทธิ กรรมสิทธิ์ และผลประโยชน์ใน ที่ดิน อาคาร สัญญาเช่า อสังหาริมทรัพย์ สินค้าคงเหลือ เครื่องใช้และอุปกรณ์ และสิทธิตามสัญญาที่ได้มีการตกลงกันในราคา 413,000,000 บาท คำนวณตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจะขายทรัพย์สินทั้ง 2 รายการจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยทั้ง 2 บริษัทจะต้องไม่เพิกถอนคำสั่งเสนอซื้อจนถึงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 20 เม.ย. 49 ซึ่งบริษัทยังมีเวลาจนถึงช่วงเวลาดังกล่าวในการพิจารณาตอบรับหรือปฎิเสธการขายทรัพย์สินดังกล่าว
บริษัทเบญจจินดา โฮลดิ้ง นั้นมีทุนจดทะเบียน 28 ล้านบาท จะมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามประกอบด้วย นายบุญชัย เบญจรงคกุล,นายวิชัย เบญจรงคกุลและนางวรรณา จิรกิติ โดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท คือ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นายบุญชัย เบญจรงคกุล ถือหุ้น 97,999 หุ้น,นางวรรณา จิรกิติ ถือหุ้น 97,999 หุ้น,นายวิชัย เบญจรงคกุล ถือหุ้น 69,999 หุ้น นางสาวศุภรัตน์ เบญจรงคกุล ถือหุ้น 14,000 หุ้นและนางวรรณา เบญรงคกุล,นายประกอบ จิรกิติและนางจุฑามาศ เบญจรงกุล ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น
บริษัทไพรเวท พร็อพเพอร์ตี้ นั้นมีทุนจดทะเบียน 256 ล้านบาท จะมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้แก่นายบุญชัย เบญจรงคกุล,นายวิชัย เบญจรงคกุลและนางวรรณา จิรกิติ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท คือ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นายบุญชัย เบญจรงคกุล,นางวรรณา จิรกิติและนายวิชัยเบญจรงคกุล ถือหุ้นคนละ 853,332 หุ้น และนางสาวศุภรัตน์ เบญจรงคกุล,นางวรรณา เบญจรงคกุล,นายประกอบ จิรกิติและนางจุฑามาศ เบญจรงคกุล ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น
นายบุญชัย กล่าวว่า ตระกูลเบญจรงคกุล ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ"บริษัท เบญจจินดา" ทุนจดทะเบียน 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินโดยจะมีการซื้อธุรกิจและสินทรัพย์ทางด้านไอทีทั้งหมดที่ไม่ติดสัญญาหรือเงื่อนไขกับของบมจ.ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวกับประธานกรรมการของบริษัทแล้ว นอกเหนือจากธุรกิจทางด้านไอที บริษัทจะดำเนินธุรกิจในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด รวมถึงธุรกิจทางด้านวิทยุชุมชน และสหกรณ์โดยจะทำให้ทุกจังหวัดในประเทศมีวิทยุชุมชน และสหกรณ์เป็นของตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวบริษัทได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
"ผมเป็นคนที่มีสัญชาติญาณในการแข่งขันอยู่เสนอ ผมเกิดในธุรกิจนี้หากจะต้องตายผมก็จะตายในธุรกิจนี้เช่นกัน การขายหุ้นของกลุ่มตระกูลเบญจรงคกุล ในครั้งนี้ ไม่ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยรอบข้าง เพียงเพื่อต้องการหาแนวทางตามแบบที่ถนัดในการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งต้องการให้มีการกระจายเทคโนโลยีทางด้านไอทีไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด"
นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า ตนเองได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น แล้ว โดยหลังจากนี้จะยังร่วมทำงานกลุ่มกลุ่มสมาชิกในครอบครัวในธุรกิจที่มีความถนัดต่อไป ขณะที่นายซิคเว่ เบรคเก้ จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น ต่อไป
"การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ เป็นการจัดกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจแบบใหม่ เพื่อให้ตอบรับกับยุคที่มีการแข่งขันในระดับสูง"นายวิชัยกล่าว
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในยูคอมครั้งนี้มีการเจรจากันมาราว 1-2 เดือน โดยฟินันซ่า เข้าถือหุ้นผ่านบริษัท ไทย เทลโคโฮลดิ้งส์ 9.9% ของทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ซึ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนตามปกติ และมองว่าแนวโน้มธุรกิจของยูคอมยังมีอนาคตที่ดีอยู่
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า บมจ.เทเลนอล เอเซีย พีทีอี เห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยยังสามารถเติบโตไปได้ โดยเชื่อว่าการบริหารงานในโครงสร้างใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงาน
อย่างไรก็ตาม ดีเทค ยังยืนยันที่จะสนับสนุนงานในโครงการสำนึกรักบ้านเกิดต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 9
ส่วนการที่ บริษัทไทยเทเลอมโฮลดิ้ง ถือหุ้นใหญ่ UCOM วันนี้ ทำให้โครงการการถือหุ้นและการบริหารเปลี่ยนไป ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือห้นแล้วจะมีผลต่อการนำแทคเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยหรือไม่ มร.ซิกเว่ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ โดยต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้งวันนี้ซึ่งมีการพิจารณาโครงสร้างผู้บริหารใหม่ด้วย
ด้านนางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า ทั้งนี้การขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ UCOM คือกลุ่ม เบญจรงคกุล ที่ถือ 39% ในราคา 53 บาท ต่อหุ้น ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามว่านโยบายการประกอบธุรกิจจะเป็นอย่างไร และการทำคำเสนอซื้อ เพราะ ในวันนี้ (21 ต.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการของบริษัท ต้องดูว่า เมื่อดีเทคเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว UCOM จะยังคงอยู่ใน ตลท.หรือไม่
|