|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ชาร์ปคอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่นรับลูกนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ด้วยการทุ่มงบลงทุนเพิ่มกว่า 147 ล้านบาท หวังให้ชาร์ปแมนูแฟคเจอริ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิต เครื่องถ่ายเอกสารชาร์ปดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน เพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก เชื่อศักยภาพไทยด้วยการย้ายฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารบางรุ่นมาจากประเทศจีน ชี้ไทยเหนือกว่าจีนในแง่ความพร้อมด้านวัตถุดิบ แรงงาน สาธารณูปโภค และนโยบายภาครัฐที่สอดคล้องกับความต้องการของชาร์ป
ตัวเลขความสามารถในการดำเนินงานเต็มขั้นของชาร์ปแมนูแฟคเจอริ่งประเทศไทย (SMTL) แบ่งเป็นเครื่องถ่ายเอกสารขาวดำดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน 220,000 เครื่องต่อปี โทรทัศน์สี 480,000 เครื่องต่อปี และโซล่าเซลล์ 60,000 แผงต่อปี โรงงานนี้ในอดีต เคยเป็นโรงงานผลิตทีวีสีในนามบริษัทชาร์ป เทพนครมาก่อน โดยชาร์ปประเทศญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าถือหุ้นเต็มตัวเมื่อเดือนมีนาคม เปลี่ยนชื่อเป็นชาร์ปแมนูแฟคเจอริ่งประเทศไทยด้วยทุนจดทะเบียน 340 ล้านบาท 1 ใน 5 ฐานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร
นายโทชิชิเงะ ฮามาโนะ ผู้อำนวยการบริหารอาวุโส ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การผลิตเครื่องถ่ายเอกสารในประเทศไทยของ SMTL นั้นเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนจะเปิด สายการผลิตเต็มรูปแบบในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ใช้เป็นฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารระบบดิจิตอลมัลติฟังก์ชันขาว-ดำความเร็วต่ำเป็นหลัก
"สัดส่วนการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารในประเทศไทยจะเท่าๆ กับ 4 โรงงานที่มีอยู่เดิม เราระบุสัดส่วนกำลังการผลิตเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เพราะบางโรงงานผลิตเป็น Kit หรือเป็นชุด ยังไม่มีการประกอบ โดยกำลังการผลิตของชาร์ปทั่วโลกอยู่ที่ 800,000 ถึง 1,000,000 เครื่องต่อปี ประมาณอันดับ 4 ของโลก"
4 โรงงานซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร เดิมของชาร์ปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โทชิชิเงะกล่าวว่า โรงงานในจีนมีการผลิต 4 โมเดลหลัก ได้แก่ เครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำความเร็วต่ำ ปานกลาง สูง และเครื่องถ่ายเอกสารสี ระยะเริ่มแรกจะเป็นการย้ายโมเดลความเร็วต่ำเข้ามาผลิตในประเทศไทยแทนจีน โดยจะนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศจีนและญี่ปุ่นมารวมกับชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย
"ในอนาคตเราจะพยายามเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้น จากตอนนี้มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปจะเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ โมเดลความเร็วต่ำที่เราย้ายการผลิตมาจากประเทศจีน เรามั่นใจว่าในประเทศไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถซัปพอร์ตให้ได้ คาดว่าจะขยายเป็นโมเดลความเร็วปานกลางต่อไป" มั่นใจศักยภาพไทย
เรื่องนี้นายโคโซ อิโนอุเอะ กรรมการผู้จัดการ SMTL ผู้ดูแลฐานการผลิตในประเทศไทยของชาร์ปสรุปถึงเหตุผลของการยกสายการผลิตบางส่วนจากจีน ว่าการผลิตในไทยจะทำให้ชาร์ปมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
"ชาร์ปมั่นใจเพราะไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนมาก มีศักยภาพในเรื่องวัตถุดิบ คาดว่าจะทำให้เราสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ประเทศจีนมีปัญหาค่าแรงแพง ขาดแคลนสาธารณูปโภค ไฟดับบ่อย ค่าเงินผันผวน"
นายณฐกร ทองส่งโสม ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรกิจทั่วไปของ SMTL กล่าวว่า ก่อนการตัดสินใจเลือกประเทศไทยของชาร์ป ตัวเลือกอื่นคือประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
"ช่วงที่จีนมี SARS เราส่งออกไม่ได้เลย ไทยเราชนะอินโดนิเซียและฟิลิปปินส์มาได้ คุณภาพแรงงานเราเหนือกว่า จุดต่างสำคัญคือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ด้วยเงื่อนไขของ BOI เราจึงแบ่งสัดส่วน 96 เปอร์เซ็นต์เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนอีก 4 เปอร์เซ็นต์เป็นการผลิตสำหรับจำหน่ายในประเทศ"
ชาร์ปนั้นส่งเครื่องถ่ายเอกสารออกวางจำหน่าย ทั่วโลก ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประเทศแถบยุโรป 36 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นสหรัฐฯ 33 เปอร์เซ็นต์ ฐานการผลิตในฝรั่งเศสและสหรัฐฯจะเป็นการผลิตแบบ CTO หรือการประกอบเครื่องตามความต้องการ ของลูกค้า ขณะที่ตลาดจีนและเอเชียมีสัดส่วนรวมราว 30 เปอร์เซ็นต์ โดยโรงงานในญี่ปุ่นมุ่งที่การสร้างสรรค์ เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอนาคต
นายโคโซกล่าวถึงการผลิตในส่วนโทรทัศน์สีและโซล่าเซลล์ว่า ผลิตภัณฑ์ระบบโซล่าเซลล์เป็น การนำเข้ามาผลิตเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลไทย โดย รับชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นแล้วเข้ามาประกอบในไทยเพื่อส่งออกทั้งหมด ส่วนการผลิตโทรทัศน์สีนั้น 25 เปอร์เซ็นต์จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอินเดีย รัสเซีย มาเลเซียและประเทศอื่นๆ โดยจะไม่มีการลดการผลิตโทรทัศน์สีลง เนื่องจากชาร์ปคาดการณ์ว่า ตลาดในปีหน้าจะเติบโตเพราะเทศกาล ฟุตบอลโลก
สำหรับแผนการตลาด ผู้บริหารชาร์ปปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลใดๆ โดยกล่าวเพียงว่าต้องการสร้างจุดต่างในผลิตภัณฑ์แบรนด์ชาร์ป
"ถ้าเปิดเผยแผนการตลาดก็จะไม่เป็นแผนการ ตลาด เราอยากให้รอดูต่อไปในอนาคต"
|
|
|
|
|