|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้จัดการกองทุน "ฟินันซ่า" ประเมินช่วง 6-12 เดือนจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งทะยาน ผสมกับราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูง จะกดดันกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.) และผลตอบแทนจากการลงทุน ผสมโรงกับนักลงทุนต่างชาติยังมองตลาดหุ้นไทยไซส์เล็ก ตื้นและแคบ โอกาสแกว่งตัวจึงสูง เงินจากเฮดจ์ฟันด์จึงเข้าออกเร็วไม่ยืนยาว ล่าสุดคลอดกองทุนลงทุนในต่างประเทศ ชวนนักลงทุนขนเงินไปหาดอกผลในต่างประเทศ หลังถอดใจลงทุนในประเทศผลตอบแทนต่ำ ชนะเงินเฟ้อลำบาก
อลาสแตร์ แมคโดนัลด์ ซีเอฟเอ สำนักงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ฟินันซ่า ฉายภาพเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ไม่ดีแต่ไม่ถึงกับเลว ส่วนตลาดบ้านเราก็ไม่แตกต่างกันมากนัก มองรวมๆแล้วตลาดจึงค่อนข้างน่าเบื่อ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเงินเงินเฟ้อปรับขึ้นต่อ สถานการณ์จะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เพราะถ้าเงินเฟ้อปรับขึ้น ดอกเบี้ยสหรัฐก็ต้องปรับขึ้น ดอกเบี้ยในประเทศก็ต้องปรับตาม
ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ และผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ เศรษฐกิจที่คาดจะเติบโต 6% จึงถอยหลังลดลง เมื่อมาดูลึกๆในฝั่งการบริโภคในประเทศพบว่า ไม่ดี แต่ก็พอใช้ได้ เพราะผู้คนต้องจ่ายราคาน้ำมันแพงขึ้น
ซึ่งถ้าภายใน 6-9 เดือนราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยืนสูงต่อ ก็เป็นไปได้ว่าจะผลักให้เงินเฟ้อสูงระดับ 5-6% ขณะที่เงินเฟ้อ ต้องใช้ยาขมคือดอกเบี้ยคอยปราบ ดังนั้นดอกเบี้ยก็จะถูกปรับให้สูงขึ้น ในอีกด้านหนึ่งการที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูง ก็เป็นไปได้ยากที่จะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนสูงๆท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยลบท่วมท้น
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย การที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงจะส่งผลโดยตรง ถึงแม้จะมีข่าวดีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 7-8 ปีผ่านพ้นไป ราคาหุ้นจะกลับมาถูก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ถึงกับถูกมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดพันธบัตรก็ยังถือว่าคุ้มค่า
ในฝั่งของบริษัทจดทะเบียนจะได้รับแรงกดดันค่อนข้างมาก จากอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ดังนั้นก็อย่าได้หวังว่าจะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนจะสูงมาก โดยเฉพาะในช่วง 6-12 เดือนนับจากนี้
นอกจากนั้น ต้องยอมรับความจริงที่ว่าในสายตานักลงทุนต่างชาติก็ยังมองว่า ตลาดหุ้นไทย มีขนาดเล็ก ตื้นและแคบ โอกาสแกว่งตัวจึงสูง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ยังคงยึดบรรทัดฐานการลงทุนจากดัชนี เอ็มเอสซีไอ เป็นตัววัดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ที่ไม่รวมญี่ปุ่น ซึ่งให้น้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยแค่ 3-4%เท่านั้น
อีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดบ้านเราเริ่มเปลี่ยนไปมาก จากแต่ก่อนมีกองทุนขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเป็นเวลา 20-30 ปี ซึ่งหมดยุคไปแล้ว แต่ปัจจุบันการลงทุนเป็นไปในลักษณะ เงินไหลเข้า ออกง่าย และส่วนใหญ่เป็นเงินสั้น ของพวกเฮดจ์ฟันด์(กองทุนบริหารความเสี่ยง)มากกว่า
" เทียบ พีอี และผลตอบแทนจากการลงทุน จะพบว่า บ้านเราถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ทำให้ช่วงต้นปีฝรั่งเข้าซื้อเยอะ แต่เมื่อรวมกันกับดอกเบี้ย ราคาน้ำมันและตลาดที่มีขนาดเล็ก ต่างชาติก็ยังมองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสแกว่งตัวสูง"
ธีระ ภู่ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ฟินันซ่า บอกว่า สถานการณ์การลงทุนในตลาดบ้านเรา ติดอยู่ 2 อย่างคือ ดอกเบี้ยต่ำ และตลาดหุ้นมีความเสี่ยง ที่แย่กว่านั้นคือ ในฐานะที่ดูแลและบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่รู้ว่าจะหนีไปทางไหน
"การลงทุนในตลาดพันธบัตร ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นก็ช่วยได้ ที่ถือเป็นการลงทุนชนะเงินเฟ้อ แต่ถ้าลงทุนในพันธบัตรอายุยาวถึง 20 ปีก็จะเกิดความเสี่ยง จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และช่วงนี้กองทุนต่างๆก็หันมาลงทุนพันธบัตรอายุ 3 ปีที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4% เท่านั้น"
ส่วนการลงทุนในตั๋วแลกเงินหรือตั๋วบีอีอายุสั้นก็มีความเสี่ยงจากบริษัทที่มีปัญหา และจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงดอกเบี้ยปรับตัวสูง โดยสังเกตจากช่วงหลังๆที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ออกมาตักเตือนหลายสิบบริษัทในขณะนี้
ธีระ บอกว่า การจะหันไปเล่นตราสารหนี้เครดิตต่ำๆ ผลตอบแทนสูงก็คงไม่ดี ส่วนการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ยังลบจุดบอดจากการขาดสภาพคล่องไม่ได้ จึงพบว่าหลายกองที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จากเริ่มต้นที่ ราคา 10 บาทเหลือเพียง 8 บาท พอจะขายก็ไม่มีคนซื้อ จึงพบว่าสถานการณ์การลงทุนในประเทศเริ่มจะตีบตันแล้ว
ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศกลับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก ถึงแม้จะมีความเสี่ยงอยู่ การลงทุนถ้าจะลงทุนในละแวกเดียวกันในย่านเอเชีย ที่มีบุคลิกคล้ายกัน เรื่องผลตอบแทนก็คงไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นการลงทุนในระดับโลกจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่า
ธีระบอกว่า ถ้าโจทย์วันนี้ คือต้องการผลตอบแทนเป็นตัวเลข 2 หลัก และไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป การลงทุนในประเทศก็คงจะหาไม่ได้แล้ว แต่ถ้าจะตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศก็ยังพอหาได้อยู่ ล่าสุดก็ได้ออกกองทุน ยูบีเอส โกลบอล อัลโลเคชั่น ฟันด์ ที่สามารถลงทุนได้ทั่วโลก โดยร่วมกับพันธมิตรคือ ยูบีเอส โกลบอล แอสเสท แมเนจเมนช์
|
|
|
|
|