|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
คลังทุบโต๊ะแก้หนี้เอ็นพีแอลส่วนบุคคลระหว่างฟ้องร้อง มูลหนี้เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท มัดมือแบงก์ลดหนี้เงินต้น 50% ขีดเส้นลูกหนี้ที่มีเงินต้องชำระก้อนเดียวภายใน มิ.ย.ปีหน้า พร้อมเปิดทางลูกหนี้ สามารถกู้รีไฟแนนซ์จากแบงก์ออมสินตามโครงการธนาคารประชาชน อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ขุนคลังคุยลูกหนี้จะได้หลุดแบล็กลิสต์จากเครดิต บูโร ด้านแบงก์พาณิชย์ยันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กู้ใหม่
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมหารือ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนร่วมกับทางสมาคมธนาคารไทยว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี มูลหนี้เงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ตัด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งรวมถึงยอดหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ด้วย แต่จะไม่นับรวมหนี้ภาคเกษตร เคหะ และหนี้บัตรเครดิต
ทั้งนี้ ทางสถาบันการเงินทุกแห่งจะกลับไปรวบรวมตัวเลขหนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งคาดว่ามูลหนี้จะเพิ่ม ขึ้นจาก 7,000 ล้านบาทมากพอสมควร และหลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันให้เร็วที่สุด ถ้าไม่ติดปัญหาอะไร คาดว่าน่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2548 นี้
สำหรับเงื่อนไขในการชำระหนี้นั้น ลูกหนี้สามารถติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เพื่อขอชำระหนี้ โดยธนาคารจะตัดหนี้เงินต้นให้ทันที 50% หากหนี้นั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว ขณะที่ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ครั้งเดียวทั้งจำนวน แต่มีเวลาให้ชำระได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549
ส่วนลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ได้ หากมีเงินเดือนหรือมีรายได้สามารถใช้วิธีรีไฟแนนซ์จากธนาคารออมสินได้ โดยตกลงเงื่อนไขกับธนาคารออมสินตามกรณี แต่ต้องผ่อนชำระกับธนาคารออมสินให้หมดภายใน 3 ปี และต้องชำระอัตราดอกเบี้ยในอัตราปกติของธนาคาร ส่วนคนที่ไม่ติดต่อขอชำระหนี้เลยจะต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานธนาคารออมสิน กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าประชาชนที่มาขอกู้จากธนาคารออมสินเพื่อนำไปชำระหนี้คืนธนาคารพาณิชย์นั้นจะสามารถชำระคืนธนาคารออมสินได้แน่ เพราะเป็นการปลดภาระที่ได้รับการตัดดอกและคิดเงินต้นเพียงแค่ร้อยละ 50 โดยลูกหนี้ที่ขอกู้จากธนาคารออมสินในวงเงิน 100,000 บาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้คืนจะมีภาระในการผ่อนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนธนาคารออมสินเพียงเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น
"วันนี้แบงก์เห็นชอบในหลักการทั้งหมดแล้ว ซึ่ง แบงก์ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะมีทุนที่จะนำไปเพิ่มรายได้ได้มากขึ้น ส่วนกรณีที่ให้กู้ออมสิน ผมไม่เกรงข้อครหาว่าผลักหนี้ให้ออมสิน เพราะออมสินเขามีสิทธิ์ที่จะพิจารณาได้อย่างรอบคอบ โดยดูความสามารถในการชำระหนี้ และก็ได้รับดอกเบี้ยด้วย เหมือนกับการปล่อยสินเชื่อปกติ" นายทนง กล่าว
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารคงจะใช้โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนในการให้สินเชื่อสำหรับประชาชนที่มาขอรีไฟแนนซ์เงินเพื่อนำไปชำระหนี้ เพราะเป็นโครงการที่รองรับการปล่อยสินบุคคลรายย่อยตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 1% ต่อเดือน หรือ 12% ต่อปี
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ธนาคารจะได้รับประโยชน์ในแง่ที่ทำให้ปัญหาที่ค้างคาอยู่จบสิ้นลงได้
นายทนง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากลูกหนี้ชำระหนี้คืนให้กับธนาคารพาณิชย์หมดเรียบร้อยแล้ว ลูกหนี้ดังกล่าวจะถูกปลดออกจากบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ของเครดิตบูโร ซึ่งทำให้สามารถทำธุรกรรม ทางการเงินกับธนาคารอื่นได้ต่อไป
ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า การเจรจาแก้ไขหนี้ในครั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องมีการตัดหนี้สูญทันที 50% เฉพาะเงินต้น ที่ยังไม่รวมกับดอกเบี้ยค้างชำระ ดังนั้น หากคำนวณคร่าวๆ แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต้องตัดหนี้สูญออกไปทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเกือบ 90% นอกจากนี้ประเด็นของจำนวนหนี้ในแต่ละแห่งไม่มีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว โดยมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการขายหนี้เอ็นพีแอลให้กับ บสก.และ บบส. บ้างแล้ว จึงเป็นการตัดความเสียหายที่เล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนประเด็นของลูกหนี้ที่จะกลับเข้ามาขอกู้เงิน ใหม่นั้น ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องมีการพิจารณา กันใหม่ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการปล่อยสินเชื่อมีความเข้ม งวดมากอยู่แล้ว เชื่อว่าลูกหนี้ที่ถูกการผ่อนผันเข้าเกณฑ์แก้ไขหนี้ดังกล่าว จะไม่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารพาณิชย์หากมาขอสินเชื่อใหม่
|
|
 |
|
|