บลจ.เครือข่ายแบงก์ใหญ่ เร่งคลอดกองทุนตราสารหนี้ล็อกเงินฝากลูกค้า หลังการแข่งขันดุเดือดจากกองทุนใหม่ที่ออกมาทุกเดือน "บัวหลวง" ส่งบัวกองทุนรวมหลวงธนรัฐ 11/49 มูลค่า 5,000 ล้านบาท ลงทุนพันธบัตร 1 ปี รับดีมานด์พุ่งหลังกองทุนก่อนหน้านี้ยอดจองล้น ด้าน "ไทยพาณิชย์" มาแรง เปิดขายรวมเดียว 2 กองทุน ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชน ส่วน "บีโอเอ" คลอดกองใหม่ขอแชร์ส่วนแบ่งด้วย
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดขายกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 11/49 มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท อายุ 1 ปี โดยกองทุน จะเน้นลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ภาครัฐ และที่รัฐคุ้มครอง ซึ่งโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ย เงินฝาก พร้อมทั้งได้รับเงินจากการรับซื้อคืนอัตโนมัติในอัตราไม่น้อยกว่า 3.25% ต่อปีของเงินลงทุนเริ่มแรก ทุก 6 เดือน โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2548
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ บลจ. บัวหลวง ประสบความ สำเร็จเป็นอย่างมากกับกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 10/49 มูลค่าโครงการ 8 พันล้านบาท อายุโครงการ 1 ปี มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และที่รัฐคุ้มครอง โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินจากการรับซื้อคืนอัตโนมัติในอัตราไม่น้อยกว่า 2.75% ต่อปี ของเงินลงทุนเริ่มแรกทุก 6 เดือน ซึ่งปิดการเสนอขายหน่วย ลงทุนไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ด้วยยอดจองซื้ออย่างท่วมท้น 9,200 ล้านบาท เต็มจำนวนเงินทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด รายงานว่า บริษัทเตรียมเปิดขาย หน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้อีกจำนวน 2 กองทุน ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดยประกอบด้วยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์พันธบัตรรัฐบาล 10/12 และกองทุนเปิด ไทยพาณิชย์เฉพาะเจาะจง 12 ซึ่งจะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกพร้อมกันระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคมนี้
สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์พันธบัตรรัฐบาล 10/12 มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ไม่กำหนดอายุโครงการ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาล ประเภทพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติปีละ 1 ครั้ง
ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์เฉพาะเจาะจง 12 มีมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท กำหนดอายุโครงการ 2 ปี เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทางการเงินเอกชนเป็นหลัก รวมทั้งเงินฝากด้วย เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยจะเน้นการลงทุนในหุ้นกู้และตั๋วแลก เงินและตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัททั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ จะเน้นหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีความมั่นคงเป็นหลัก โดยกองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติทุก 6 เดือน
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีโอเอ จำกัด รายงานว่า เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุน ครั้งแรกสำหรับกองทุนเปิด คุ้มครองเงินต้น เพิ่ม ทรัพย์ 5 (CPP5) ระหว่างวันที่ 17-25 ต.ค. 48 โดย กองทุนดังกล่าวมีอายุโครงการประมาณ 1 ปี เน้นลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐบาล ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งเงินฝากธนาคาร เพื่อรับผลตอบแทนที่คาดหวังดีกว่าเงินฝากธนาคาร
ทั้งนี้ สมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้รายงานมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม(เอ็นเอวี) สำหรับกองทุนรวมล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ประมาณ 665,311,989,425.89 บาท โดยเป็นกองทุนเปิดตราสารหนี้มูลค่ากว่า 194,005,142,672.77 บาท
|