แบงก์กสิกรไทยขยับตัว เขย่าวงการธุรกิจธนาคารไทย ด้วยการรวมศูนย์ยุทธศาสตร์ และบูรณาการกลยุทธการตลาดของทั้งเครือเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มสารพัดวิธีการ
ยกเครื่องใหญ่เทคโนโลยี-บริการ ปรับกระบวนรบใหม่ รับทัพแบงก์นอกที่หวังเตรียมฮุบแบงก์ไทย
ปฏิวัติมิติบริหารใหม่วงการธนาคารไทย ที่หลายแบงก์เริ่มเพ่งมอง และหันมาปฏิบัติตาม
เซียนหุ้นชี้การปรับตัวเป็นผลดีต่อรายได้ ดันราคาหุ้น 80 บาท
“สิ่งที่เรากลัวคือระบบไอทีดีๆที่แบงก์ฝรั่งมีแล้วไทยไม่มี เพราะระบบไอทีคือหัวใจของธุรกิจการเงิน”
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เอ่ยประโยคนี้ขึ้นมาหลัง “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ถามว่า วันนี้กสิกรไทยกลัวอะไรมากที่สุด
นายแบงก์ผู้นี้อธิบายว่า เพราะไอทีไม่ใช่สิ่งที่สามารถไปซื้อหรือหยิบจากชั้นมาได้ เนื่องจากระบบการเงินเป็นระบบใหญ่ ไม่ใช่ไปซื้อระบบไมโครซอฟท์ ออฟฟิศมาทำแล้วสามารถไล่ทันต่างชาติได้ ถือเป็นความเข้าใจผิดของการประเมินสถานการณ์ระบบธุรกิจการเงินไทย ถ้าออกแบบโรงงานปูน กระเบื้อง รองเท้า ขบวนการมันมีอยู่แค่นั้นเห็นอยู่ เดี๋ยวก็จบ แต่การเงินตัวเลขมันหลากหลายแล้วทุกตัวเลขผิดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะบริการการเงินมีหลากหลายรูปแบบข้อมูลเต็มไปหมด มีประเด็นเรื่องของความลับ ความมั่นคงถูกต้องแม่นยำทุกสตางค์ มีความสะดวกรวดเร็ว และต้องมีความปลอดภัย”
เรื่องของเรื่องก็คือ วันนี้กสิกรไทยกำลังเข้าสู่อีกยุคหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม แม้ว่าจะเริ่มสบายจากการรอดวิกฤตครั้งที่ผ่านมา แต่วันนี้กำลังเผชิญวิกฤตอำนาจที่หนักกว่าเดิม เพราะครั้งที่แล้วปัญหามีมิติเดียวคือ คุณภาพของสินทรัพย์ตกต่ำชาติทนบาดแผลไม่ไหว เติมเลือดทันก็รอด เติมเลือดไม่ทันก็ตาย โจทย์มีตื้นๆอยู่แค่นั้น
“ครั้งใหม่นี้ประหลาด มันเปิด มันมากันเยอะแยะจากเอฟทีเอ มันมาเคาะประตูแล้ว และมันต้องเปิด ไม่มีทาง แต่ละยุควิกฤตมาไม่เหมือนกัน” เป็นคำกล่าวของ ซีอีโอที่ผสมผสานศาสตร์ตะวันออกและตะวันตก ฮวงจุ้ยและการจัดการสมัยใหม่
เมื่อกองทัพการเงินจากต่างชาติดาหน้าเข้ามาเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยต้องขยับแข้งขยับขาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ภาพที่ปรากฏชัดเจนที่สุดในช่วงเวลานี้ก็คือ โฆษณาชุด KHeroes ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ต่อเนื่องจากแบรนด์แบงก์กสิกรไทยเป็นแบรนด์เครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมี 6 บริษัท คือ ธนาคารกสิกรไทย บริษัทแฟคตอริ่งกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย และบริษัทลิสซิ่งกสิกรไทย โดยมี KExcellence เป็นสัญลักษณ์แห่งผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพจากเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งลูกค้าจะพบสัญลักษณ์ K ทุกช่องทางของการให้บริการ
แต่ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ถูกวางไว้ เพราะโฆษณาที่เน้นเทคโนโลยีทั้งไฮเทค และไฮทัชนี้ต้องการเพียงให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าใช้บริการจากธนาคารกสิกรไทยแล้วเป็นคนทันสมัย แม้จะมีบางจุด บางสาขาที่ผู้ใช้บริการเข้ามาแล้วยังรู้สึกว่ายังคงอบอวลไปด้วยความรู้สึกเก่าแบบดั้งเดิมอยู่ แต่เชื่อว่าภาพเช่นนั้นอีกไม่นานคงจางหายไป โดยมีความรู้สึกแบบใหม่เข้ามาแทนที่
ทว่า จริงแล้วกสิกรไทยยังมีโจทย์อื่นที่ยาก และใหญ่กว่านี้ ที่คาดว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวถัดไปที่นายแบงก์รายนี้ให้ความสำคัญมากขึ้นมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเกราะและอาวุธในการต่อต้าน ต่อสู้กับการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่ที่ไหลมาตามกระแสการค้า มาทางระบบทุนที่ไหลอย่างไม่มีพรมแดน
“ขณะนี้ผู้รุกรานได้เข้ามาแล้ว ยิ่งเปิดมันก็ยิ่งเข้ามา ตลาดในสายที่เป็น complex product ตอนนี้เราไม่ถนัดเท่าไร เพราะเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ทุกคนต้องพัฒนาโดยมีระบบไอทีสนับสนุน”
สร้างเกราะ-ติดอาวุธ ด้วยไอที-บริการ
ภาพ 6 ฮีโร่พันธ์ใหม่ตัวสีเขียวที่ปรากฏผ่านภาพยนตร์โฆษณาความยาว 90 วินาที ก่อนจะคัทดาวน์ลงเหลือ 45 วินาทีนั้น ซีอีโอแบงก์กสิกรไทย กล่าวว่า เป็นเพียงแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งเท่านั้น
“ผมออกตัวในวันแถลงข่าวว่าไอ้นี่ (โฆษณา) ตัวมันเองไปได้แค่ไม่กี่น้ำหรอก มันก็ได้แค่ฟู่ฟ่าชั่วคราว ถ้าทำแต่เมื่อลูกค้ามาแล้วไม่ได้รับการบริการที่ดี ไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดีสักพักแบงก์นี้มันก็ล้ม เพราะฉะนั้นตัวมันเองไม่ใช่เป็นการรีแบรนด์ดิ้ง ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้กันอย่างไม่ระมัดระวังในวงการตลาดไทย พอเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนอะไร รีแบรนด์ดิ้ง...ไม่ใช่ สุดท้ายมันคือประสบการณ์ของลูกค้า นี่แหละ real brand เลย”
และสิ่งที่จะทำให้เกิด real brand ได้ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องบริการและเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเป็นหมากล่าสุดที่แบงก์กสิกรต้องการสื่อไปถึงผู้บริโภคผ่านงานโฆษณาล่าสุด ทว่า การจะให้บริการที่ดี ชนิดลงลึกถึงความต้องการของผู้บริโภคจนถึงใจนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบไอทีเข้ามารองรับด้วย
“ลำพังแบงก์ปล่อยกู้อย่างมากได้แค่เสมอตัว เพราะมันเป็นได้แค่กระแสตามสภาพเศรษฐกิจมีขึ้นมีลง ตอนจบได้เท่าตัวถือว่าเก่งแล้ว ที่เหลือมันมาจากค่าธรรมเนียม ซึ่งก็คือการซื้อขายแบบตื้นๆ เช่น เอทีเอ็ม และทุกคนก็มีกันหมดแล้ว
นอกนั้นก็ต้องเป็นเรื่องของสินค้าใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งหนีไม่พ้นเป็นเรื่องของนวัตกรรม แต่นวัตกรรมเป็นเรื่องของสมองเขียนออกมาบนกระดาษอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีระบบไอทีรองรับ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าระบบไอทีเป็นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจการเงิน และเป็นสิ่งที่ฝรั่งได้เปรียบเพราะเขาทำแล้ว ส่วนระบบที่เรามีก็เก่าแล้วทั้งนั้น ไม่คล่องตัว แยกกันเป็นชิ้นๆ แล้วมันจะไปรวมกันมีพลังในการให้บริการได้อย่างไร”
แม้ว่าใน 4-5 ปีที่ผ่านมากสิกรไทยได้พัฒนาเทคโนโลยีพอสมควร แต่ต่อไปนี้จะเกิดขึ้นอีกมากมายเพราะบางสิ่งการจัดการไม่มีคุณภาพ บางสิ่งเดินเข้ากรอบตัน บางสิ่งเทคโนโลยียังไม่ถึง แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีหลายอย่างมากกว่าที่ผู้บริหารของธนาคารประเมินไว้ และการจะฝ่าปราการตรงนี้ไปได้คือ ต้องไม่ไปติดหล่มอยู่กับเทคโนโลยีรุ่นเก่าที่ไม่มีความคล่องตัว
“นับจากนี้ไปจะเห็นมหกรรมของการ integrated และตัวสำคัญที่สุดคือไอที เพราะในตอนนี้โจทย์ที่จะทำเรื่อง call banking ในเรื่อง application ต่างๆ ทุกคนต้องคิดเป็นโจทย์ในแง่ของเครือ เครือจะต้องมีเครื่องมือที่เชื่อมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลอมเครื่องมือทางเทคนิคไมให้เป็นอุปสรรค แล้วค่อยมาหลอมใจของคนทำ”
การกลับมาของ บริการทุกระดับประทับใจ
ปัจจุบันแบงก์กสิกรไทยมี Key Business Capability ในการดำเนินธุรกิจอยู่ 3 ประการคือ 1.Know your Customer 2.บริการได้ทุกช่องทาง 24 ชั่วโมง และ 3.IT Capital ทั้งหมดนี้ล้วนตอบโจทย์ในเรื่องของการบริการที่มุ่งไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Customer Centric ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายธนาคารกำลังดำเนินกลยุทธ์นี้อยู่ทั้งสิ้น (อ่านล้อมกรอบ Customer Centric Bank ถึงยุคที่แบงก์ต้องยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง เพื่อความอยู่รอด)
สิ่งที่น่าสนใจของอีกประการหนึ่งของยุทธศาสตร์ล่าสุดของกสิกรไทย คือ การนำสโลแกนที่ว่า บริการทุกระดับ ประทับใจกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่หันไปใช้สโลแกนที่ว่า “สะดวกทุกที่ ดีทุกบริการ” มาได้ระยะหนึ่ง
“ตอนนั้นข้างในฮิตการทำแบรนด์ดิ้งก็เกิดความรู้สึกว่าจะต้องมีคำพูดอะไรที่สะท้อนความเป็นแบรนด์ออกมา ซึ่งได้ออกมาว่า สะดวกทุกที่ ดีทุกบริการ แต่เมื่อมาคิดๆกันอีกทีแล้วเห็นว่าบริการทุกระดับประทับใจ ที่มีอยู่มันก็สะท้อนอยู่แล้ว จะไปร่างสโลแกนที่2 ออกมาทำไมให้สับสนก็เลยเลิก”
บัณฑูร กล่าวอีกว่า นับจากนี้โฆษณาที่เรียกว่า คอร์ปอเรท อิมเมจ แอดเวอร์ไทซิ่ง ของบริษัทในเครือตนจะเป็นผู้ทำเอง แต่ถ้าเป็นโฆษราผลิตภัณฑ์ แต่ละบริษัทสามารถแยกไปทำได้แต่ต้องใช้กรอบแบบเดียวกัน และใช้ภาษาโฆษณาเดียวกัน แต่ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนทั้งหมด จะไม่มีการแตกกันไป เพื่อที่แต่ละบริษัทจะได้ไม่ต้องไปคิดมุขโฆษณาของตนเอง ทั้งยังมีคำพูดเขียนข้างล่างว่า “เครือธนาคารกสิกรไทย บริการทุกระดับประทับใจ” ทุกโฆษณา ทุกหัวจดหมาย ทุกเอกสาร อิมเมจจะเซ็นทรัลไลซ์ มากขึ้นกว่าเดิม
ยกเครื่องระบบไอที
สุวัฒน์ เจริญวิจิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานไอทีแคปปิตอล ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านไอทีเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคารกสิกรไทย ว่า โดยโครงการสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ค่อนข้างที่จะเก่าใช้มากว่า 20 ปี จึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบหลัก หรือ Core Banking ระบบนี้จะรองรับระบบเงินฝาก ระบบเงินกู้ และระบบฐานข้อมูลลูกค้า ในลักษณะการเปลี่ยนของเก่าออกและนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้งาน
อีกด้านหนึ่งคือโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับสาขา ระบบประสานงานผ่านในธนาคาร และพวกเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรินเตอร์ สแกนเนอร์ รวมทั้งฮาร์ดแวร์ เซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ที่ใช้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
“เรากำลังมุ่งลูกค้าเป็นแกน”
ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยพัฒนาคอมพิวเตอร์ โดยมีลักษณะรองรับบริการแต่ละผลิตัภัณฑ์ เมื่อมีการเชื่อมโยงเข้าหากันของข้อมูลจะมีข้อจำกัด ครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองใหม่ของทั้งเครือแบงก์ ให้หันมามองในแกนของลูกค้าเป็นหลัก แทนที่จะมองในแกนของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก
ธนาคารกสิกรไทยและทั้งเครือจะเข้าใจลูกค้าว่าลูกค้ามีการใช้บริการใดของธนาคารบ้าง มีการใช้งานมากน้อยเพียงไร การออกแคมเปญใหม่ จึงสามารถทำให้ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดี ทำให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ระบบเทคโนโลยีของ Core Banking ใหม่ จะช่วยให้ออกโปรดักส์ให้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี
ด้านซอฟต์แวร์ที่ธนาคารกสิกรไทยกำลังพิจารณาเลือกนั้น มีทั้งซอฟต์แวร์จากอเมริกาและยุโรป คาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2549
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเรื่องของการรักษาความปลอดภัยทั้งฮาร์ดแวร์ เน็ตเวิร์กต่างๆ ขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาโจมตี หรือปล่อยไวรัสเข้ามาธนาคารได้
สุวัฒน์ ได้ขยายความ Core Banking แอปพลิเคชั่นของ ธนาคารกสิกรไทย ว่าส่วนที่หนึ่งคือระบบเงินฝาก ออมทรัพย์ กระแสรายวัน ทวีทรัพย์ ระบบพวกนี้จะทำงานอยู่บนรายการของ Core Banking ระบบที่สองคือระบบเงินกู้เมื่อลูกค้ามากู้เงินธนาคารจะมีการเก็บข้อมูลทั้งหมดของลูกค้า เข้าไปในระบบ ระบบจะมีการคิดคำนวณเรื่องต่างๆ ทั้งดอกเบี้ย ค่าใช้จ่าย วันไหนชำระเงินและการเก็บเข้าระบบ
ส่วนที่สามเรียกว่าระบบข้อมูลลูกค้าของแต่ละผลิตภัณฑ์ ระบบจะรู้ว่าลูกค้ามีเงินกู้เงินฝากเท่าไร และมีข้อมูลอื่นๆ ที่ระบุว่าลูกค้านี้อยู่ในลูกค้าประเภทใด
ยิ่งไปกว่านั้นระบบใหม่ที่เกิดขึ้นช่วยให้ธนาคารกสิกรไทยให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่าย สามารถสร้างความได้เปรียบของการแข่งขันในวงการธนาคาร ทำให้ธนาคารออกโปรดักส์ได้เร็ว มีความเด่นชัด ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพราะลูกค้ามีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน
ยุทธศาสตร์เข้าถึงลูกค้า
ขัตติยา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานเลขาธิการองค์กร รับผิดชอบในแกนยุทธศาสตร์ใหม่ ด้านการเข้าถึงลูกค้า (Know Our Customer Project) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของแกนยุทธศาสตร์หลักของการเสริมสร้างความสามารถของธนาคารกสิกรไทยยุคใหม่
เดิมซึ่งขัตติยาจะรับผิดชอบเพียงการวางแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทยและเครือบริษัทในตระกูล “K” ทั้งหมด แต่จากนี้ไปจะเข้าสู่ระบบการรวมศูนย์ยุทธศาสตร์ และการบูรณาแผนทางการตลาดของบริษัทในเครือเข้าเป็นกระบวนการขับเคลื่อนเดียวกัน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพในการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ ในราคาและเวลาที่เหมาะสม จึงต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลและกระบวนการจัดเก็บและใช้ข้อมูลลูกค้าให้เกิดประโยชน์ทางการตลาดอย่างเต็มที่ โดยผ่านแผนการส่งเสริมการตลาด และโปรแกรมการตลาดที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
เจาะลูกค้าทุกกลุ่ม
ในการนี้มีการแบ่งลูกค้าออกเป็น 7 กลุ่มตั้งแต่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดย่อม จนถึงลูกค้ารายบุคคล ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทในเครือจะใช้ช่องทางต่างๆ ในการเข้าถึงและเสนอขายบริการของทั้งกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ขัตติยา ชี้แจงว่าขณะนี้กำลังพิจารณาเลือกบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดเข้ามาช่วยและโครงการเข้าถึงลูกค้า จะใช้เวลาเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงธันวาคม 2549 ซึ่งจะช่วยให้มีข้อมูลลูกค้าทุกแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน และการเสนอขายผ่านช่องทางต่างๆ เช่นโดยพนักงาน ผ่านทางโทรศัพท์ระบบคอลล์เซ็นเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือทางโทรศัพท์ผ่านระบบเอสเอ็มเอส เป็นต้น
“ลูกค้าเป้าหมายทั้ง 7 กลุ่ม เมื่อมีข้อมูลที่ละเอียดจะทำให้เรารู้ความต้องการ และพฤติกรรมการใช้บริการก็สามารถเสนอขายบริการของทุก K ไม่ใช่แต่การรับเงินฝาก แต่ยังให้คำปรึกษาแนะนำการลงทุน หรือความสะดวกในการเพิ่มคุณค่าเงินออมได้อีกหลากหลายวิธี”
ช่องทางการเงิน 24 ชั่วโมง
นอกจากการให้บริการผ่านสาขา (เคแบงก์ อี-แบงก์กิ้ง เซ็นเตอร์) แล้วธนาคารกสิกรไทยยังมีการพัฒนาช่องทางเพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าเป็นไปได้สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น เคแบงก์ อี-เอทีเอ็ม 24 ชั่วโมง, อี-อินเทอร์เน็ต, อีโฟน แบงก์กิ้ง และ อี-โมบายโฟน
อี-อินเทอร์เน็ต เป็นการให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.KASIKORNBANK.com ซึ่งให้บริการธุรกรรมทางการเงินโดยลูกค้าสามารถจัดการด้านเงินได้สะดวก และมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลโดยนำรหัสรักษาความปลอดภัย (Security Password) มาใช้ควบคู่กับรหัสเข้าสู่ระบบ (Login Password) เพื่อใช้เปลี่ยนแปลงข้อมูล ในการใช้บริการ KBANK e-Internet ของลูกค้า เช่น การขอเพิ่มบัญชีที่ใช้ผ่านบริการ KBANK e-Internet, การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในการติดต่อกับธนาคาร
KBANK e-Internet ยังสามารถสร้างรูปแบบส่วนตัว (Personalization) ช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างแบบฟอร์มในการชำระค่าสินค้า/ บริการ, การทำ Shortcut พิเศษที่หน้าหลักของบริการ สำหรับรายการ ทางการเงินที่คุณต้องทำเป็นประจำ รวมถึงการนำเสนอข่าวสารด้านการเงิน อาทิ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงข้อแนะนำ หรือข้อเสนอพิเศษต่างๆ ในการใช้บริการต่างๆ ของธนาคาร
สำหรับบริการ KBANK e-Internet จะประกอบด้วย บริการดูข้อมูลทางบัญชี, บริการเกี่ยวกับบัตรเครดิต, บริการโอนเงิน, บริการเรื่องเช็ค, บริการชำระค่าสินค้า/บริการ, บริการอายัดบัตร, บริการสมัคร KBANK e-Web Card เพื่อซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ต
อี-โมบายโฟน เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยมีเครื่องมือที่สำคัญคือ Mobile Payment Club by KBANK (MPC) ที่ให้บริการชำระและโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยการชำระเงินจะทำผ่าน ระบบ SMS และเมื่อเสร็จสิ้นการชำระเงิน เงินค่าสินค้าจะถูกโอนจากบัญชีของผู้ซื้อไปยังบัญชีของร้านค้าโดยตรงทันที ปัจจุบันสามารถใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือของระบบ DTAC และ AIS ทั้งแบบ Pre-paid (เติมเงิน) หรือ Post-paid (ชำระค่าบริการรายเดือน) ซึ่งเป็นรุ่นใดก็ได้ที่สามารถทำการรับส่ง SMS ได้
ทั้งนี้รูปแบบของการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการของ Mobile Payment Club by KBANK มีทั้งหมดมี 5 รูปแบบ คือ การชำระเงินด้วยการสั่งซื้อทางโทรศัพท์ (Call Center Commerce), การชำระเงินด้วยการสั่งซื้อผ่านระบบ SMS (SMS Commerce), การชำระเงินด้วยการสั่งซื้อผ่านระบบ E-Commerce (E-Commerce), การชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าสินค้า โดยได้รับการแจ้งหนี้ (Bill Payment) (ปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการ) และ การโอนเงินในรูปแบบของ P2P (Person to Person Transfer)
อี-โฟนแบงก์กิ้ง เป็นบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์อัตโนมัติ (02) 888-8888 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งให้บริการชำระค่าสินค้าต่างๆ เช่น เพจเจอร์ โทรศัพท์มือถือ บริการเช่าซื้อ เคเบิ้ลทีวี อินเตอร์เน็ต ธุรกิจขายตรง ประกัน วัสดุก่อสร้าง การเกษตร น้ำมัน เครื่องดื่ม โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา กองทุน สถาบันการเงิน มูลนิธิ
อี-เอทีเอ็ม เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่อง ATM ของ ธนาคารกสิกรไทยกว่า 1,200 เครื่องทั่วประเทศ โดยผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม บัตรเอทีเอ็มท่องโลก บัตร อี-แคชการ์ด บัตร Flex-C และบัตรเครดิต ทั้งของธนาคารกสิกรไทย บัตรต่างธนาคาร (ซึ่งอยู่ในเครือเอทีเอ็มพูล) รวมถึงบัตรของธนาคาร ต่างประเทศที่อยู่ในเครือ PLUS และ CIRRUS สามารถใช้บริการ KBANK e-ATMได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
|