เปิดกลยุทธซื้อขายหุ้น "พายัพ ชินวัตร" ขาใหญ่ตลาดหุ้นไทยแห่งยุค พบรูปแบบ การลงทุนเหนือชั้นผสมผสานสไตล์ขาใหญ่ ยุคเก่ากับปัจจุบัน ใช้เทคนิคถือหุ้นไม่เกิน 5% เลี่ยงรายงาน ก.ล.ต. เก็บหุ้นเก่าปัดฝุ่นทำกำไร พึ่งพาเครือข่ายร่วมวงลุยไล่ราคาส่งผลหลายหุ้นร้อนแรงจนตลาด หลักทรัพย์ฯเพ่งเล็ง และเข้าสกัด
ในบรรดานักลงทุนประเภทบุคคลเงินหนาในตลาดหุ้นไทยเวลานี้หากจัดอันดับออกมา เชื่อว่าชื่อของ นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ติดอยู่ในลำดับต้นๆ และหากพิจารณาความร้อนแรงของหุ้นหลายบริษัทที่มีชื่อเขารวมถึงคนที่มีความใกล้ชิด เขาเข้าไปพัวพันอยู่ด้วยขณะนี้สะท้อนว่า นาย พายัพ เป็นนักลงทุนขาใหญ่ที่โด่งดังในยุคปัจจุบันอีกคนหนึ่ง ด้วยชั้นเชิงการลงทุนที่มองมุมหนึ่งก็คล้ายนักลงทุนขาใหญ่ในอดีตหลายคน แต่ในความคล้ายก็ยังมีความต่างอยู่ เลือกถือหุ้นไม่ถึง 5%
วงการค้าหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ชื่อนายพายัพ ชินวัตร โด่งดังขึ้นตลาดหุ้นไทย จากการเข้าไปลงทุนโดยตรงและพัวพันในหุ้น บมจ. อีเอ็มซี (EMC) บมจ.ซิโน-ไทย รีซอร์เซส ดีเวลลอปเม้นท์ (STRD), และ บมจ.อีสเทิร์นไวร์ (EWC) ซึ่งราคาหุ้นเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวร้อนแรง
โดยเฉพาะหุ้น EWC ซึ่งอดีตเป็นหุ้นในกลุ่มฟื้นฟูกิจการ หรือกลุ่มรีแฮบโก เมื่อได้กลับมาซื้อขาย อีกครั้งราคาหุ้นก็ร้อนแรง หวือหวา ชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ราคาหุ้นวันแรกที่เข้ามา ซื้อขายได้พุ่งขึ้น 1,600%
ว่ากันว่า ความร้อนแรงของหุ้นเหล่านี้น่าจะ ทำให้นักลงทุนฯรู้จักนายพายัพ ชินวัตร ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่มากกว่าการเป็นนักการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นบมจ.บีเอ็นที เอ็นเตอร์เทน-เม้นท์ (BNT) ที่ร้อนแรงจนตลาดหลักทรัพย์ฯต้องใช้มาตรการสกัดความร้อนแรง พร้อมๆ กับหุ้น EWC ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาหุ้นที่มีชื่อนายพายัพ พัวพันในลักษณะเข้าถือหุ้นโดยตรงจะพบว่าปัจจุบันมี 5 บริษัท คือ 1) BNT ถือหุ้นในลำดับที่ 3 สัดส่วน 4.38% จากวันปิดสมุดทะเบียน 28 มิ.ย. , 2) STRD ถือหุ้นในลำดับ 5 สัดส่วน 4.60% จากปิดสมุดทะเบียน 7 เม.ย. 3) KTECH ถือหุ้นในลำดับ 7 สัดส่วน 1.70% จากวันปิดสมุดทะเบียน 11 พ.ค. 4) หุ้นบล. แอ๊ดคินซัน หรือ ASL ในลำดับที่ 5 สัดส่วน 2.41% ปิดสมุดทะเบียน 11 เม.ย.
จะเห็นว่า นายพายัพ มักจะถือหุ้นไม่เกิน 5% ซึ่งการถือหุ้นไม่แตะ 5% ของทุนจดทะเบียนบริษัท มีผลไม่ต้องรายงานการถือครองหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และชื่อของนายพายัพจะปรากฏให้เห็นก็ต่อ เมื่อปิดสมุดทะเบียน และการถือครองติด 1 ใน 20 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เท่ากับนักลงทุนทั่วไปจะทราบ ข้อเท็จจริงว่านายพายัพ ถือหุ้นตัวไหนอีกก็ต่อเมื่อมีการปิดสมุดทะเบียนเท่านั้น
"พายัพ" คนเพื่อนเยอะ
หากเอ่ยถึงนักลงทุนรายใหญ่ที่สร้างสีสันให้กับตลาดหุ้นไทยในยุคแรกเริ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ วงการค้าหลักทรัพย์ ระบุว่า ยุคแรกเป็นยุคของ "นาย เสรี ทรัพย์เจริญ" เจ้าของและผู้บริหารบริษัทราชาเงินทุน ที่นั่งบริหารจนราคาหุ้นราชาเงินทุนทะยานจาก 275 บาทไปกว่า 2,400 บาทในเวลาประมาณ 1 ปี แต่สุดท้าย ก็ลงเอยด้วยการถูกกล่าวโทษฟ้องร้องจากทางการ
ตามด้วยยุค "เสี่ยสอง" หรือนายสอง วัชระศรีโรจน์ ที่มาในรูปแบบนักลงทุนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่สามารถดึงความสนใจนักลงทุนรายย่อยในตลาดให้ ร่วมลงทุนตามไปด้วยได้ ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนใกล้ชิดและเพื่อนฝูงร่วมหัวจมท้ายกับเขา ในที่สุดทาง การมองเขาเป็นผู้ต้องหาและก็จบลงด้วยการถูกกล่าวโทษไป
ขณะที่นักลงทุนขาใหญ่เงินหนายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น "เสี่ยปู่" นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล "หมอยง" นายยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม และ "เสี่ยแตงโม" นายสมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์ ล้วนเป็นนักลงทุนธรรมดาแต่ด้วยความที่มีพอร์ตการลงทุนจำนวนสูง มีความใกล้ชิดกันในบางจังหวะโดยการเข้าไปซื้อขายในหุ้นตัวเดียวกันบางครั้ง แต่ก็ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นพันธมิตรกันได้ทุกครั้งไป
สไตล์การลงทุนของกลุ่มนี้จะเลือกหุ้นโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญสำหรับการลงทุน โดยมีกลุ่มเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่ง ที่มักจะซื้อขายไปด้วยกัน แต่บนพื้นฐานดังกล่าวกลุ่มนี้ก็ยังมีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน "เสี่ยปู่" จะลงทุนในลักษณะถือระยะยาว มากกว่า "หมอยง" ซึ่งบุคลิกเป็นคนใจร้อน ส่วน "เสี่ย แตงโม" หากนับเป็นกลุ่มหาดใหญ่จัดว่าเป็นประเภท เงินหนามากสุดสไตล์การลงทุนจะหวือหวากว่า
เมื่อพิจารณาการลงทุนของ นายพายัพ ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า รูปแบบของนายพายัพ ได้ผสมผสานระหว่างนักลงทุนขาใหญ่ยุคเก่า กับ ยุค ใหม่มาสผมผสานกัน มีการวิเคราะห์และเข้าถือหุ้นใหญ่ในกิจการ เพียงแต่ช่วงแรกส่วนใหญ่จะเลือกหุ้น ที่ต้องนำมาปัดฝุ่นใหม่ในลักษณะการฟื้นฟูกิจการจริงและจะมีข่าวดีออกมา
นอกจากนี้ อาศัยเครือข่ายหรือกลุ่มเพื่อนฝูงที่ ใกล้ชิดที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ร่วมกันเข้าไปซื้อขายหุ้น ทำให้ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวหวือหวา จนเป็นที่สนใจของรายย่อยที่ชอบการเก็งกำไร แต่บังเอิญว่า นายพายัพ มีเพื่อนที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่มากกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็น นายสุทธิศักดิ์ โลห์สวัสดิ์ เพื่อนสนิท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร EMC ส่วน STRD ทั้ง นายพายัพ และนายสุทธิศักดิ์ ก็ถือหุ้นใหญ่ ด้วยกัน
ขณะที่หุ้น EWC ซึ่งร้อนแรงตั้งแต่ได้ออกมาซื้อขาย และมีชื่อเขาพัวพันแต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าถือหุ้นก็จะมีเพื่อนที่ชื่อ นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ถือหุ้นใน EWC และปัจจุบันยังมี นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 17%
ส่วนการลงทุนในกิจการของกลุ่มนายผิน คิ้วคชา ก็พบว่า นายพายัพ ยังถือหุ้น ASL โดยตรง ขณะ เดียวกันกิจการในกลุ่มคิ้วคชา บมจ.ซาฟารี (SAFARI) ก็พบว่ามีตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปถือหุ้นใหญ่
แม้แต่ หุ้น บมจ.ปิคนิคคอร์ปอเรชั่น (PICNI) ที่แม้จะไม่เคยเห็นชื่อนายพายัพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วม กับกลุ่มลาภวิสุทธิสิน แต่ความใกล้ชิดกันมากจนช่วง หนึ่งถูกกล่าวขานถึงในตลาดหุ้นว่าเป็นหุ้นแฝด กับ EWC ด้วย เพราะราคาหุ้นเคลื่อนไหวหวือหวาไปด้วยกัน
อย่างไรก็ดี หุ้นหลายตัวที่มีชื่อนายพายัพ ไปพัวพัน ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯเพ่งเล็ง โดยใช้มาตรการ สั่งห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคา ค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันใน วันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Trading) ไม่ว่าจะเป็น BNT, ASL-W4 หุ้นลูกของ ASL, EWC โดยหุ้นถูกให้มาตรการดังกล่าวมากที่สุดในรอบปี 2548 คือ APRUE และ APRUE-W1 จำนวน 6 ครั้ง
ปรับ "สมพร" ซื้อขายหุ้นไม่รายงาน
ด้านรายงานข่าวจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะกรรมการ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK เนื่องจากพบว่าระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2547 ถึง 3 มีนาคม 2548 นางสมพรไม่ได้รายงานการเปลี่ยน แปลงการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทเอ็มลิ้งค์ฯ ต่อ สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันที่กำหนดทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมจำนวน 26,000 บาท
ทั้งนี้เมื่อประมาณเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมาทาง สำนักงาน ก.ล.ต.เคยมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ นางสมพร แล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากพบว่า ระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2547 ถึง 4 พฤศจิกายน 2547 นางสมพรในฐานะกรรมการ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชียไม่ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของ บริษัทมายังสำนักงาน ก.ล.ต.ภายในวันที่กำหนดจึงมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมจำนวน 14,500 บาท ดังนั้นเมื่อรวมกับครั้งล่าสุดเท่ากับว่า นางสมพร ถูก สำนักงาน ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมแล้วจำนวน 40,500 บาท
|