“ออเร้นจ์” วางกลยุทธ์ปี 2546 ขยายตลาดเชิงลึกสร้างบริการหลากหลาย หวังดันยอดผู้ใช้บริการโตอีก
2.5 ล้านราย หลังตัวเลขล่าสุดโกยยอดทะลุ 1 ล้านราย พร้อมเดินหน้าเร่งติดตั้งโครงข่ายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ
ทุ่มอีก 6,000 ล้านบาทขยายเน็ตเวิร์กเฟสสอง
นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์
จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์หลักของออเร้นจ์ในการขยายตลาดในปี 2546 จะต้องเน้นการผสมผสานกลยุทธ์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
เพื่อให้แบรนด์ของออเร้นจ์สามารถซึมลึกเข้าไปถึงทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น งานด้านการตลาดจะต้องซับซ้อนละเอียดมากขึ้น
ส่งผลให้ผู้ใช้บริการรับกับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับออเร้นจ์
“ภาระหนักในปีนี้คือการสร้างแบรนด์ออเร้นจ์ให้กระจายไปทั่วถึงที่สุด ทำให้บริการหลายๆ
อย่างไม่สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ กลยุทธ์ภาพรวมในปีนี้จึงต้องเน้นการบริการการใช้งานที่หลายหลายมากขึ้น
ให้ลูกค้าได้ใช้บริการจริง โดยถือเป็นคีย์สำคัญสำหรับการทำตลาดในช่วงปีหน้า”
ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งติดตั้งโครงข่ายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมุ่งพัฒนาเครืองข่ายที่ให้คุณภาพสัญญาณที่ดีด้วยเทคโนโลยีซูเปอร์ซาวนด์ในระบบ
Enhanced Full Rate (EFR) ซึ่งเป็นไปตามแผนนโยบาย Network Confidence โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครบทั้ง
13 กลุ่มจังหวัดหรือคัสเตอร์ทั่วประเทศภายใตสิ้นปีนี้
ออเร้นจ์เริ่มเปิดให้บริการในเขตต่างจังหวัดแห่งแรกที่จังหวัดภูเก็ต พังงา
และกระบี่ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2545 โดยใช้กิจกรรมการตลาดและส่งเสริมกาขาย
รวมทั้งจัดงานฉลอดการเปิดให้บริการนำแบรนด์เข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่กระตุ้นความสนใจของผู้คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ตามด้วยการเปิดให้บริการในเขตภาคกลางตอนล่างที่จังหวัดเพชรบุรี หัวหิน สมุทรสงคราม
และสมุทรสาคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในโคราชและขอนแก่น ภาคตะวันตกที่จังหวัดนครปฐม
ราชบุรีและกาญจนบุรี ภาคตะวันออกที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง 6 จังหวัดภาคกลางได้แก่อยุธยา
สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง และล่าสุดในเขตภาคเหนือคือเชียงใหม่
ลำพูน และลำปาง
ทั้งนี้ออเร้นจ์ยังเหลืออีก 6 คลัสเตอร์ที่จะต้องเปิดให้แล้วเสร็จภายใน 8
สัปดาห์ก่อนสิ้นปี ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงราย
สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่ เชื่อว่าจะสามารถครอบคลุมการให้บริการประชากรกว่า
90% ของประเทศไทย
“ในทุกที่ที่มีสัญญาณออเร้นจ์คุณภาพเครือข่ายของเราไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ
ปัจจุบันผู้บริโภคให้การยอมรับและเชื่อถือในบริการระดับคุณภาพจากออเร้นจ์มากขึ้น
ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ใช้บริการสูงถึงกว่า 1,000,000 ราย ซึ่ง 15% เป็นลูกค้าในเขตต่างจังหวัด”
นายอติรุฒม์ กล่าวว่า ทางบริษัทเตรียมใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนจำนวน 6,000
ล้านบาทมาพัฒนาเครือข่ายเน็ตเวิร์กในเฟสสองให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสสองหรือสามของปี
2546 โดยจะเน้นขยายเน็ตเวิร์กในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นก่อน เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานอย่างมีคุณภาพ
รวมทั้งขยายเครือข่ายเน็ตเวิร์กออกไปในพื้นที่ไกลขึ้น หลังจากนั้นค่อยดำเนินการเพื่อลงทุนในเฟสที่สามต่อไป
“ปีหน้าเป็นปีที่บริษัทต้องการเน้นการสร้างคุณค่าทั้งทางด้านเครือข่ายเน็ตเวิร์กและบริการให้เป็นที่ยอมรับตามนโยบาย
Network Confidence ซึ่งถือเป็นภาระหนักในปีหน้า เนื่องจากฝ่ายบริหารได้ตั้งเป้าหมายสำหรับปี
2546 วางเป้าเพิ่มยอดผู้ใช้บริการอีกถึง 2.5 ล้านราย”
ด้านนางสาวรุ่งฟ้า รัตนชัยกานนท์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารการตลาดและแบรนด์ บริษัท
ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด กล่าวว่า งานด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ถือเป็นหัวใจอีกด้านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์ออเร้นจ์ในปีนี้
และบริษัทประสบความสำเร็จครั้งใหญ่กับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย
หรือ TACT Awards โดยผลงานโฆษณาที่โดดเด่นที่สุดคือภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง “Get
Closer” สามารถคว้ารางวัลได้ถึง 6 รางวัล รวมทั้งได้รับรางวัลพิเศษจากการโหวตความนิยมอีก
2 รางวัล ได้แก่ รางวัล Popular TACT Awards และรางวัล Press Award
“เราคิดว่าเราเดินมาถูกทางในเรื่องโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ต้องการทำลายกำแพงที่ขวางกั้นการสื่อสารเพื่อให้คนพูดกันได้มากขึ้น
เราเชื่อว่าประชากรไทยกว่า 90% จะสามารถพูดบนเครือข่ายออเร้นจ์ได้ภายในสิ้นปีนี้
เหมือนอย่างคนกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกที่สามารถพูดผ่านเครือข่ายออเร้นจ์”
ทั้งนี้เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั่วไทยรู้จักออเร้นจ์มากขึ้น
ทางบริษัทจึงได้นำภาพยนตร์โฆษณาชุด Do You Speak Orange? ขึ้นทั้งสิ้น 4
ตอน ได้แก่ สวัสดีภูเก็ต สวัสดีโคราช สวัสดีนครปฐม และล่าสุดสวัสดีเชียงใหม่
เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นถึงการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และทุกเวอร์ชั่นโฆษณาที่ออกมาจะต้องมีความเป็นวิถีท้องถิ่น
เพื่อสร้างแบรนด์ออเร้นจ์ซึมลึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆ จังหวัด