ประชาชนแห่จองซื้อพันธบัตรน้ำมัน เปิดจองวันแรกหมดเกลี้ยงในเวลาไม่ถึง 10 นาที ขณะที่นักลงทุนรายย่อยโวยคอมพิวเตอร์กรุงไทยขัดข้องทำสูญโอกาส เข้าคิวตั้งแต่ไก่โห่ ยังซื้อไม่ได้ ด้าน สบพ. เตรียมนำข้อมูลปรับเงื่อนไขการขายในล็อตสองเดือน ก.พ.ปีหน้า ผู้จัดการกองทุนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนคนมีเงินออม หมดหวังกับการฝากเงิน
นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพ. เปิดเผยถึงการเปิดจองพันธบัตรสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน หรือ พันธบัตรกองทุนน้ำมันวันแรกผ่านผู้จัดจำหน่ายทั้ง 3 ธนาคาร คือ ธนาคารทหารไทย กรุงไทย และนครหลวงไทย วานนี้(10 ต.ค.)ว่า ใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็สามารถจำหน่ายได้หมด ถึงแม้ว่า ธนาคารกรุงไทย จะมีปัญหาทางด้านระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ทั้งนี้ พันธบัตรที่ออกมาจำหน่ายครั้งนี้มีจำนวน 26,400 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายให้นักลงทุนประเภทสถาบัน 60% หรือ ประมาณ 15,840 ล้านบาท และ ประชาชนทั่วไป 40% หรือประมาณ 10,560 ล้านบาท ซึ่งธนาคารทหารไทย นครหลวงไทยได้รับไปจำหน่ายแห่งละ 3,600 ล้าน บาท ขณะที่กรุงไทยได้จำนวน 3,300 ล้านบาท ส่วนการจัดสรรให้แก่ลูกค้า ธนาคารแต่ละแห่งได้ใช้แบ่งให้ลูกค้าประจำของธนาคารประมาณ 75% และอีก 25% จัดสรรให้กับประชาชนทั่วไป โดยสัดส่วนการจัดจำหน่ายผ่าน ธนาคารทั้ง 3 แห่งทั่วประเทศกว่า 1,400 สาขา เมื่อรวมแล้วพบว่า มีประชาชนจองซื้อภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 50% และ ต่างจังหวัดประมาณ 50%
"การที่พันธบัตรได้รับความสนใจสูงเพราะมีความมั่นคง เรตติ้งดีคือ AA- อายุพันธบัตรสั้นคือ 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี แต่ให้ดอกเบี้ยที่จูงใจ คือ 1 ปี อยู่ที่ 4.28% 2 ปี อยู่ที่ 5.26% และ 3 ปี อยู่ที่ 5.87%" นายศิวะนันท์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่สูงจนทำให้พันธบัตรขายหมดในเวลาสั้นนั้นได้สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนที่มารอซื้อ โดย "ผู้จัดการรายวัน" ได้รับร้องเรียนจากประชาชนในต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพร ได้ร้องเรียนว่า ธนาคารกรุงไทย สาขาจังหวัดชุมพร มีประชาชนมาเข้าคิวเพื่อจองซื้อพันธบัตรกองทุนน้ำมันตั้งแต่ธนาคารเปิดให้บริการ แต่ไม่สามารถ จองซื้อได้ เพราะระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง
"ทุกคนเสียเวลาเตรียมเอกสาร ซื้อแคชเชียร์เช็ค บางคนเตรียมไม่ทันก็หอบเงินสดมาเข้าคิวตั้งแต่เช้า แต่ปรากฏว่าไม่มีใครได้จองพันธบัตรสักคน ความจริงถ้าไม่มีให้ก็ควรจะบอกมาไม่ใช่ให้ทุกคนมาเสียเวลา แล้วบอกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ขัดข้อง พอเครื่องหายก็บอกว่าหมดแล้ว"
นายศิวะนันท์ กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ การกระจายพันธบัตรได้เป็นจำนวนน้อยว่า เพราะไม่มีการกำหนดเพดานการจองขั้นสูงสุด เพียงแต่มีการกำหนดขั้นต่ำสุดไว้ที่ 50,000 บาท ดังนั้น ในการเปิดขายพันธบัตรสถาบันกองทุนพลังงานในครั้งหน้าอีก 15,600 ล้านบาทนั้น สถาบันฯ จะนำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปปรับปรุงคือ การกำหนดเพดานการจองขั้นสูงว่าควรมีจำนวนเท่าใด เพื่อให้กระจายสู่ประชาชนได้ทั่วถึง ส่วนอัตราดอกเบี้ย และอายุของพันธบัตรนั้น จะต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ล็อต 2 เล็งออกให้รายย่อยเพิ่ม
สำหรับการออกพันธบัตรล็อตที่ 2 อีก 15,600 ล้านบาทนั้น คงจะออกตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ คือกุมภาพันธ์ 2549 ไม่เลื่อนการออก ให้เร็วขึ้น เพราะสบพ.จะออกตามความต้องการใช้เงินเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากในช่วงดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น สบพ.อาจจะลดลง เงินกู้ และออกพันธบัตรล็อต 2 มากกว่า 15,600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะมีการพิจารณาลดวงเงินขั้นต่ำในการซื้อสำหรับนักลงทุนรายย่อย จากงวดแรกที่กำหนดไม้ขั้นต่ำ 50,000 บาท เป็น 10,000-20,000 บาท เพื่อรองรับกับความต้องการซื้อที่มีมาก จ้องเก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนฯ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานและสบพ.กำลังติดตามราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะสัปดาห์นี้ที่ดีเซลมีโอกาสจะปรับลดราคาขายปลีกลงได้หากตลาดสิงคโปร์ลดลงต่อเนื่องอีก 1-2 วันโดยจะเก็บเงินส่วนที่จะลดราคาขายปลีกเข้าใช้หนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งก่อนหน้าได้ชดเชยราคาดีเซลไปถึง 85,000 ล้านบาท
"หากราคาดีเซล ช่วงสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับลดราคาขายปลีกลงก็จะดึงเงินส่วนที่ควรจะลดมาส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะประมาณครึ่งหนึ่งมาใช้หนี้กองทุนฯเพื่อให้คนที่ซื้อบอนด์มั่นใจว่ารัฐบาลจะทยอยเก็บเงินใช้หนี้คืนจริงๆ และส่วนหนึ่งก็จะไปลดราคาขายปลีกให้ประชาชนเพื่อให้รู้สึกว่าราคาน้ำมันลงบ้าง" แหล่งข่าวกล่าว สะท้อนคนหมดหวังเงินฝาก
นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด กล่าวว่า การที่พันธบัตรน้ำมันได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลามจนต้องปิดการจองเพียงแค่ 10 นาทีนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนต้องการแสวงหา การลงทุนรูปแบบใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงนอก เหนือจากการฝากเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรน้ำมันสามารถตอบสนองความต้อง การดังกล่าวได้ บวกกับสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อตราสารซึ่งออกโดยรัฐ เพราะมีความเสี่ยงน้อย
ด้านนายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่ประชาชนแห่จองพันธบัตรน้ำมันดังกล่าว มาจากอัตราดอกเบี้ยของกองทุนเป็นหลัก เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงจากการฝากเงินทั่วไป อีกทั้งยังเป็นตราสารที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย ซึ่งการเปิดขายพันธบัตรดังกล่าวก็เปรียบเสมือนการออกพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ โดยในส่วนของบลจ.ไอเอ็นจี ได้เข้าไปลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวเช่นกันประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนจะได้รับการจัดสรรเป็นมูลค่าเท่าไหร่นั้น คงต้องรอดูอีกที
|