ท่าอากาศยานภูเก็ตกำไรลดลงกว่าร้อยละ 38 เหลือแค่ 456 ล้าน จากปีที่แล้วฟันกำไรสูงถึง 739 ล้านบาท เหตุเครื่องบิน-ผู้โดยสารระหว่างประเทศเข้าน้อยหลังเกิดสึนามิ แต่คาดไฮซีซันนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เที่ยวบินประจำ-เช่าเหมาลำจองเข้าเพียบวันละเกือบ 100 เที่ยว นักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าวันละ 15,000 คน คาดตลอดปีหน้านักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ขณะที่การขยายทางวิ่งเพิ่มเป็น 3,700 เมตรรับเครื่องโบอิ้ง 747 ไปยุโรปผลการศึกษาสรุปสิ้นปีนี้
นาวาอากาศตรี พรชัย เอื้ออารี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต แถลงผลการดำเนินงาน ของท่าอากาศยานภูเก็ตในรอบปี 2548 ว่า การดำเนินงานของท่าอากาศยานภูเก็ตในรอบปี 2548 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 ถึงเดือนกันยายน 2548 มีผู้โดยสารรวม ที่ใช้บริการผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตทั้งหมด 4,473,191 คน ลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 23.20
แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 2,357,874 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 2.27 ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1,115,312 คนลดลงร้อยละ 41.55 โดยก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม แต่หลังจากเกิดสึนามิ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ยอดนักท่องเที่ยว ลดลงถึงร้อยละ 40 ซึ่งในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงสูงถึงร้อยละ 60 และภายในประเทศลดลงร้อยละ 23
ขณะที่การให้บริการด้านอากาศยานหรือเที่ยวบิน โดยภาพรวมตลอดทั้งปีมีเที่ยวบินใช้บริการทั้งสิ้น 26,807 เที่ยวบิน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 10 โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศลดลงร้อยละ 22.06 แต่เที่ยวบินภายในประเทศกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 เนื่องจากในช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิ มีเที่ยวบินที่เข้ามาให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ททท.ได้มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทำให้มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทาง เข้ามามากพอสมควร และในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักปีนี้นักท่องเที่ยวได้จองเดินทางเข้ามาเต็มเกือบจะทุกที่นั่งของสายการบินที่บินเข้ามาภูเก็ต แม้แต่ชั้นธุรกิจก็ถูกจองเต็มทั้งหมด และคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้าภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นจนถึงไฮซีซันปีนี้
นาวาอากาศตรี พรชัย กล่าวอีกว่า จาก เหตุการณ์สึนามิทำให้สายการบินต่างๆ บินเข้ามาภูเก็ตลดน้อยลง ทำให้ผลประกอบการของ ท่าอากาศยานภูเก็ตลดลงมากในปี 2548 โดยในปีนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 737.73 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 26 โดยปีที่แล้วท่าอากาศยานภูเก็ตมีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 1,007.09 ล้านบาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 288.90 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิของท่าอากาศยานภูเก็ตในปี 2548 อยู่ที่ 456.03 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 38.31 โดยปีที่แล้วมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 739.26 ล้านบาท สาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิของท่าอากาศยานภูเก็ตลดลงมากในปีนี้ จากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้สายการบินต่างๆ ใช้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตลดน้อยลง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนสถานการณ์การใช้บริการของสายการบินต่างๆ ในช่วงไฮซีซันปีนี้ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ระบุว่า มีแนวโน้มสายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศใช้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตมากขึ้น โดยขณะนี้มีสายการบินที่เป็นเที่ยวบินประจำ ได้ยืนยันที่จะบินเข้าภูเก็ตในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมปีนี้ สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ขณะนี้จองเข้ามาแล้ววันละ 92 เที่ยวบิน ผู้โดยสารไม่ต่ำกว่าวันละ 15,000 คน โดยเที่ยวบินจากยุโรปและรัสเซีย จองเข้ามาสัปดาห์ละ 86 เที่ยวบิน และเที่ยวบินจากเอเชีย เหนืออีกสัปดาห์ละประมาณ 150 เที่ยวบิน
นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากยุโรป เกาหลี จองเข้ามาแล้ว 9 สายการบิน ทั้งจาก สวีเดน รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย และเกาหลี เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีมาก โดยคาดว่าในปีหน้านี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน แม้ว่ายอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะไม่สูงเท่าก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิก็ตาม
"ทางท่าอากาศยานภูเก็ตได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วงไฮซีซันปีนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความประทับใจสูงสุด ทั้งในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการรักษาความปลอดภัย โดยใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในระดับรองจากสูงสุด คือระดับสีส้ม และมีการติดตั้งทีวีวงจรปิดแล้ว 56 จุด พร้อมทั้งจะติดตั้งเพิ่มอีก 50 จุดในปีหน้า เพื่อความปลอดภัยสูงสุด"
นาวาอากาศตรี พรชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ต ให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานภูเก็ตได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมใน 3 ส่วน คือ การก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ อีก 1,300 ตารางเมตร(ตร.ม.) พร้อมติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน 1 ชุด ปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ที่ต้อง ใช้ร่วมกัน และปรับปรุงห้องผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ 12,000 ตร.ม. โดยใช้เงินลงทุน 399 ล้านบาท ให้สามารถรองรับได้ในชั่วโมงหนาแน่น ชั่วโมงละ 5-8 เที่ยวบิน
การเพิ่มหลุมจอดจาก 11 หลุมเป็น 15 หลุม หรืออีก 18,000 ตร.ม. โดยขณะนี้ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 2 หลุม เหลืออีก 2 หลุมคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนหน้านี้ จะทำให้มีหลุมจอดรองรับเครื่องบินตั้งแต่แอร์บัสขึ้นไปถึง 15 หลุม ใช้งบประมาณก่อสร้าง 115 ล้านบาท และการขยายคลังสินค้าให้รองรับสินค้าได้ปีละ 30,000 ตัน ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2548 นี้ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณ 44 ล้านบาท และทั้งหมดจะต้องพร้อมรับนักท่องเที่ยวภายในไฮซีซันปีหน้า
นาวาอากาศตรี พรชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการขยายทางวิ่งจาก 3,000 เมตร เป็น 3,700 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่ บรรทุกน้ำหนักเต็มพิกัดไปยังยุโรปและอเมริกา ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา คาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในเบื้องต้นหากมีการขยายเพิ่มอีก 700 เมตร จะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพราะต้องมีการก่อสร้างเข้า ไปในภูเขาด้วย และจะต้องดำเนินการในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
|