Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน10 ตุลาคม 2548
ขอดเกล็ด'ประชานิยม' ทักษิโณมิกส์             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
กระทรวงการคลัง
ชาลอต โทณวณิก
Credit Card




ชำแหละ "นโยบายประชานิยม" รัฐบาลทักษิณว่าด้วยการแก้หนี้เน่าสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" งงเหตุมาตรการคลุมเครือ นักวิชาการชี้เป็นการลากเกมการตลาดเข้าสู่การเมืองขยายฐานเสียงรัฐบาล ส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ ท้ายที่สุดต้องดึงเงินภาษีมาโปะหนี้ ระบุแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม เหตุก่อนหน้าส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ แล้วตามลดหนี้ ทีดีอาร์ไอเตือนอย่าออกมาตรการเหวี่ยงแห เชื่อแบงก์ไม่โง่ขายหนี้ดีออกจากพอร์ต

ความพยายามของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของหนี้รายย่อยที่เกิดจากสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงเดือนมิถุนายน 2548 กำลังนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่18 ตุลาคมนี้ กลายเป็นคำถามที่คนในแวดวงธนาคารหรือนักวิชาการต้องการ หาคำตอบว่าท้ายที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบไหน จะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ (Moral Hazard) และจะตกเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวเป็นเพียง "นโยบายประชานิยม" ตัวใหม่ของรัฐบาลทักษิณ เพื่อหวังผลทางการเมือง

ในเบื้องต้น กระทรวงการคลัง และ ธปท. มีแนวคิดที่จะลดหนี้เงินต้นของสินเชื่อบุคคลและบัตร เครดิตที่มีปัญหา โดยเป็นหนี้วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท จะลดหนี้เงินต้นในสัดส่วน 50% ส่วนดอกเบี้ยไม่คิด แต่ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดคืนภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ เป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องหรือการ บังคับคดี ก่อนเดือนมิถุนายน 2548 สำหรับตัวเลขหนี้ที่อยู่ในนิยามเบื้องต้นพบว่า เป็นเงินต้น 7 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 2 หมื่นล้านบาท

โดยรัฐบาลจะนำมาใช้นำร่องคือการให้บรรษัท บริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ก่อนขยายไปสู่การรับซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการขายหนี้และลดหนี้ตามเงื่อนไข

จากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่าหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้ การนำของพรรคไทยรักไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

แหล่งข่าวแบงก์พาณิชย์กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาล ทักษิณหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ล่าสุดกระทรวงการคลังเปิดให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง นโยบายดังกล่าวจึงถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่จริงใจนอกจากหวังผลเป็นคะแนนเสียงทางการเมืองจากประชาชน

"มาตรการนี้เป็นเพียงการเสนอตัวของรัฐในการเป็นคนกลางเจรจาหนี้ ทั้งๆ ที่หนี้ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการติดตามและฟ้องร้อง จะเห็นได้ว่านายธนาคารส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงความเห็นหรือบอกว่าให้ความร่วมมือ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ นอกจากส่วนลดหนี้ 50% แต่ประชาชนที่เป็นหนี้ในส่วนดังกล่าวส่วนใหญ่ไร้ความสามารถในการชำระหนี้ จึงเชื่อว่าประโยชน์ของมาตรการมีน้อยและมีประชาชนที่ได้อานิสงส์ไม่กี่คน"

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ยังไม่เข้าใจถึงเจตนารัฐบาลนโยบายรับซื้อหนี้เอ็นพีแอลรายย่อยมากนัก ว่าต้องการที่จะช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์และลูกหนี้อย่างไร และคงไม่เหมือนกับการรับซื้อหนี้เอ็นพีแอล ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพราะเป็นคนละเรื่องและคนละเวลา เพราช่วงบสท.ธนาคารพาณิชย์มีปัญหาเอ็นพีแอล เศรษฐกิจและภาวะตลาดเงินตลาดทุน ไม่เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนและดำเนินธุรกิจ เอ็นพีแอลจึงเป็นภาระ ทั้งเกณฑ์การตั้งสำรอง รวมทั้งเงื่อนไขของเงินทุนที่จะขยายสินเชื่อใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตัดขายเอ็นพีแอลออกไปจากธนาคาร และปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อดำเนินธุรกิจในอนาคต แต่ตอนนี้ไม่ใช่

"การรับซื้อหนี้ครั้งนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสีย รวมทั้งการที่จะนำเงินภาษีของประชานโดยรวมมาช่วยเหลือได้หรือไม่"

นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่ใช่ทุกรายที่จะได้รับการแก้ไข เพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสถาบันการเงินที่ให้กู้ แต่ความครอบคลุมจะไปถึงบริษัท AMC ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ที่สำคัญไม่ใช่เป็นการยกหนี้ให้ฟรีๆ และต้องดูกันต่อไปว่าลูกหนี้เหล่านั้นยังมีอาชีพ/รายได้ พอที่จะจ่ายหนี้หรือไม่

ส่วนผลกระทบต่อสถาบันการเงินของเอกชน น่าที่จะไม่มีเพราะเป็นความสมัครใจว่าสถาบันการเงินจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งหากจะตอบว่าสนใจหรือไม่สนใจคงจะต้องดูว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง

นางชาลอตเชื่อว่า หนี้มีจำนวนไม่มาก เพราะในช่วงปี 2540-2541 ไม่ได้มีการบูมเรื่องสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ดังนั้น ส่วนใหญ่หนี้ดังกล่าวได้รับการแก้ไขหรือไม่ก็มีการตัดหนี้สูญกันไป จนเกือบสูญพันธุ์หมดแล้ว พวกที่ติดค้างอยู่คงเป็นพวกที่มีปัญหาจริงๆ ที่หากมีมาตรการนี้ออกมา อาจทำให้ลูกหนี้พอจะชำระได้

ทั้งนี้ หนี้สินภาคประชาชนที่มีจำนวนมากขณะนี้เป็นหนี้ใหม่ที่มาบูมในช่วง 4-5 ปีหลังมากกว่า และหากเป็นหนี้ที่มีปัญหาตอนนี้น่าจะมาจากวินัยการใช้เงินซึ่งไม่ใช่ปัญหาเดียวกับในช่วงวิกฤต แต่การกำหนดว่าลูกหนี้ที่เข้าข่ายคือ ที่ถูกฟ้องก่อน 30 มิถุนายน 2548 ก็น่าที่จะมีบางส่วนเป็นหนี้ใหม่ในช่วงสินเชื่อบูมกัน

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลในการเข้ามาซื้อ หนี้เอ็นพีแอลจากธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งรัฐบาลจะให้เอเอ็มซีหรือหน่วยงานใดเข้ามาซื้อ และนำเงินไปทำอะไรนั้น ยังไม่มีความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์จะมองตรงที่เงื่อนไขของการซื้อหนี้มากกว่า เพราะปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างและเรียก เก็บหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ตั้งสำรองไว้ครบแล้ว
นักวิชาการชี้เกมการตลาด

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้ใครได้รับประโยชน์ ถ้าหากมองในแง่ประเด็นการเมือง เรื่องนี้ถือเป็น การตลาดทางการเมืองเพราะการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการขยายกลุ่มจากเดิมที่รัฐบาลลงไปเล่นในระดับ รากหญ้า ผ่านโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งถือว่าฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือมีฐานเสียงเพิ่มขึ้นเป็นแสนคน

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของเศรษฐกิจการเมืองแล้วกลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเดิมต้องมีภาระหนี้จากการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว หากสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จจริงก็จะทำให้คนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

"มองอีกด้านหนึ่งของเหรียญเงินที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ คงหนีไม่พ้นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนแน่นอน ซึ่งจุดนี้จะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ (MoralHazard) และทำให้คนใช้จ่ายเกินตัว ถือเป็นการนำเงินจากคนที่เป็นลูกหนี้ที่ดีไปคืนหนี้ให้กับคนที่สร้างปัญหาในการคืนหนี้ เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจึงเกิดคำถามตามมาว่าสมควร หรือไม่" นายสมชายกล่าว

นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอาจจะมองว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเกิดปัญหาการคืนหนี้รัฐบาลก็จะเข้ามาจัดการแก้หนี้ให้ถ้าไม่เบี้ยวหนี้แล้วจะสู้เบี้ยวหนี้ไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรมและเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้แก้ปัญหา และหนักใจแทน ธปท. ที่พยายามเข้ามากำกับดูแลการก่อหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะอยู่ในฐานะผู้กำกับดูแล

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ที่ก่อนหน้าส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเกิดปัญหารัฐบาลก็ต้องเร่งหาแนวทางเข้ามาช่วยเหลือด้วยการลดหนี้ให้ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่แปลก

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ธปท.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วยเช่นกันเพราะก่อนหน้านี้เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ หรือนอน-แบงก์มีการออกบัตรเครดิตได้ง่าย ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลเพราะเป็นการใช้จ่ายในสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยและที่สำคัญหากรัฐยังคงเดินหน้าที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ท้ายที่สุดแล้วคนจะหันมาทำบัตรเครดิตมากขึ้นŽ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ของรัฐบาลต้องระมัดระวังและไม่ควรช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห เพราะการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์แล้วคงไม่โง่พอที่จะขายหนี้ที่ดีคืนให้กับรัฐบาลในอัตราที่มีส่วนลด และควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทราบถึงปัญหานี้ดีเข้ามาดูแลแทนการเข้าไปทำหน้าที่ตัวกลางของรัฐบาลที่ยังขาดความเชี่ยวชาญ

คลังหวังลูกหนี้หลุดแบล็กลิสต์

นายทนง พิทยะ รมว.คลัง ยืนยันว่า จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือรายย่อย เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งบสท. ขึ้นมาแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากวิกฤต เศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งได้มีการเข้าไปและที่ผ่านมาก็ได้มีการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ดังนั้น ณ ขณะนี้เท่ากับว่าได้มีการเข้าไปดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่มยกเว้นหนี้ของประชาชนรายย่อย โดยเฉพาะพนักงาน ที่มีรายได้ประจำและข้าราชการที่มีมูลหนี้เงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ จึงตีกรอบการแก้ไขหนี้ส่วนบุคคลกลุ่มนี้

"การแก้ไข จะทำให้ลูกหนี้เหล่านี้ หลุดพ้นจากสภาพความเป็นหนี้ เท่ากับหลุดจากแบล็กลิสต์ของแบงก์ซึ่งหากเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับเครดิตจากสถาบันการเงิน เหมือนบุคคลปกติ"

สำหรับข้อกังวลเรื่องปัญหาพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ที่เกิดจากการใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาหนี้ ของภาครัฐนั้นนายทนง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้คำนึงถึงและเข้าใจประเด็นนี้ดีแต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า

ปรัชญาของการแก้ไขปัญหา คือการเข้าไปดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่เคยได้รับการดูแลและจะเป็นการแก้ไขที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ใช่ในอนาคต ดังนั้น คนที่คิดจะเบี้ยวหนี้ในช่วงนี้ ไม่สามารถทำได้แต่หากมองว่า ประชาชนจะเชื่อว่า หากเกิดปัญหารัฐจะเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้วนั้น โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าคงไม่มีใครที่คิดอยากเป็นหนี้ และพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้นน้อยมากในหมู่คนจน เห็นได้จากตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลโครงการหนี้ภาคประชาชนของธนาคาร ออมสิน

เปรียบเทียบบัตรเครดิตปี 2545 กับ 2548

ณ มกราคม 2545
จำนวนบัตร 2.61 ล้านใบ
ยอดสินเชื่อคงค้าง 3.86 หมื่นล้านบาท

ณ มกราคม 2548
จำนวนบัตร 9.34 ล้านใบ
ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.28 แสนล้านบาท

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us