|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กระทรวงการคลังลุ้นคลอดกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ หวังเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการทุกระดับเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพราะสามารถใช้ทรัพย์สิน ประเภทวัตถุดิบ สินค้าคงคลัง หรือกิจการทั้งกิจการ มาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ขณะที่ตัวกฎหมายรองรับความเสี่ยงให้เจ้าหนี้กล้าปล่อยกู้มากขึ้น สานต่อยอดนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาลที่เน้นกลุ่มคนระดับรากหญ้าและปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 7 หมื่น ล้านบาท
นายเสงี่ยม สันทัด ที่ปรึกษา กฎหมายกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ซึ่งคาดว่า ร่างกฎหมายนี้น่าจะเข้าสู่กระบวน การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ได้ภายในปีนี้
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้ในการทำธุรกิจ ไปเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ โดยไม่ต้องส่งมอบสินทรัพย์ไปให้สถาบันการเงินที่ให้กู้ เช่น เครื่องจักรที่ใช้ผลิตอยู่ในโรงงาน วัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตสินค้า สินค้าในสต๊อก หรือแม้แต่กิจการทั้งกิจการ จากปัจจุบันที่ต้องใช้วิธีจำนอง หรือจำนำ ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนอสังหาริมทรัพย์ และจะต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินไปให้แก่ผู้รับจำนำในส่วนของสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จะเป็นการเสริมโครงการ แปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล เพราะปัจจุบันแม้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนจะสามารถเดินหน้าไปได้ดี โดยมีสถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน เอสเอ็มอี เป็นต้น ปล่อยสินเชื่อเข้าระบบตามโครงการ นี้รวมกว่า 70,000 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มโครงการ แต่ก็ดำเนินการภายใต้ นโยบายที่เร่งด่วนของรัฐบาล ไม่มีกฎหมายรองรับ และยังเน้นการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มคนระดับรากหญ้าเป็นหลัก
ดังนั้น หากประกาศใช้กฎหมายนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะกฎหมายนี้จะเป็นการรองรับ ความเสี่ยงให้กับเจ้าหนี้ว่า หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามสัญญา เจ้าหนี้สามารถดำเนินการบังคับเอาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้เอง หรือเปิดประมูลทรัพย์นั้นอย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลเหมือนเช่นปัจจุบัน เพียงแต่แจ้งให้ลูกหนี้ทราบเท่านั้น ซึ่งทำให้เจ้าหนี้กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดโทษสำหรับลูกหนี้ที่มีการแจ้งข้อมูลเท็จ ทั้งจำทั้งปรับ ตามมูลค่าความเสียหาย รวมทั้งกำหนด ให้มีการนำหนังสือสัญญาการกู้เงิน มาจดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบประวัติของหลักทรัพย์ที่จะนำมากู้เงินได้ด้วย เสมือนเครดิตบูโร ที่ใช้ในระบบสถาบันการเงินปัจจุบัน และกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งจนจำเป็นต้องยื่นต่อศาล กฎหมายก็ได้เขียนให้มีกระบวนการที่รวดเร็ว กว่ากระบวนการทางแพ่งทั่วไป และให้มีการยื่นอุทธรณ์ได้เพียงศาลเดียว
"ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นการสร้างความสะดวก รวดเร็วสำหรับกระบวนการบังคับหลักประกัน โดย จะสามารถดำเนินการได้ภายใน 7-15 วันเท่านั้น ไม่ต้องเข้ากระบวนการ ศาลที่ยืดเยื้อ หรือถ้ามีข้อโต้แย้ง ต้องยื่นต่อศาล ก็จะผ่านแค่ 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์" นายเสงี่ยม กล่าว
นายเสงี่ยมกล่าวว่า กฎหมาย ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการภาระหนี้ให้กับประชาชนในสังคมมากขึ้น แต่เป็นการสร้างเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากกว่า และแม้กฎหมายจะเอื้อให้เจ้าหนี้สามารถบังคับหลักประกันได้รวดเร็ว แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้ลูกหนี้มีสภาพล้มละลายได้เร็วขึ้น เพราะในการกู้เงิน ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ย่อมต้องมีการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อน และโดยธรรมชาติของผู้กู้ หากเห็นว่าสัญญาการชำระหนี้มีความเสี่ยงสูง หรือมีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะทำตามเงื่อนไข ก็คงไม่กล้าทำสัญญา
"เชื่อว่ากฎหมายนี้จะมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากทีเดียว เพราะเป็นการสร้างเครื่องมือการหาทุนให้กับผู้ประกอบการ ทำให้เขาสามารถขยายธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น" นายเสงี่ยม กล่าว
|
|
|
|
|