|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
กระแสการจัดการภาครัฐแนวใหม่ แผลงฤทธิ์เข้าใส่แวดวงการศึกษา กระตุ้นหลักสูตรเอ็มบีเอเปิดเกมรุก เจาะคนภาครัฐ ให้เร่งสปีดพัฒนาระบบเท่าทันธุรกิจ ขณะที่หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ใช้การจัดการภาครัฐและเอกชน กินรวบทั้ง 2 กลุ่ม เชื่อนักบริหารทั้ง 2 ฟากอยากรู้เท่าทันกัน
ปัจจุบันการพัฒนาระบบราชการไปสู่การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่ได้ประยุกต์นำเอาเครื่องมือการจัดการจากภาคธุรกิจเข้ามาใช้ กำลังส่งผลสะท้อนกลับสู่ภาคการศึกษา ที่มองว่าการผลิตบุคลากรป้อนเข้าภาคราชการ หรือรัฐวิสาหกิจก็ตามไม่น่าจะแตกต่างจากการส่งคนเข้าสู่ภาคธุรกิจ เพราะโดยเนื้อหาแท้แล้ว ก็คือ การเรียนหลักการบริหารเหมือนกัน เพียงแต่ฟากธุรกิจอาจมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกค้าผู้ซื้อสินค้า ขณะที่หน่วยงานราชการ ลูกค้าก็คือประชาชนนั่นเอง
MBA แทรกซึมตลาดภาครัฐ
จากการสำรวจตลาดการศึกษาของ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีหลายสถาบันการศึกษาที่สอนด้านบริหารธุรกิจ เริ่มผลิตหลักสูตรเจาะบุคลากรด้านภาครัฐมากขึ้น ล่าสุดวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเพิ่งจะลงนามความร่วมมือกับสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) เปิดหลักสูตรเอ็มบีเอ สาขาการจัดการสาธารณะ
รศ.ดร.อิสระ สุวรรณบล ผู้อำนวยการ สปร. กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งข้าราชการ คนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ ได้เรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก ขณะเดียวกันก็จะผนวกหน่วยงานต่างๆ เช่น ก.พ. และ ก.พ.ร. ที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานภาครัฐเข้ามาร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอน และใช้เสนอกรณีศึกษา ซึ่งเป็นผลงานของ สปร. จากการปรับปรุงหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมาเข้ามาประกอบด้วย
"ตอนนี้คนทำงานบริหารภาครัฐยุคใหม่ต้องรู้เรื่องการบริหารต้นทุน ทำบัญชีเป็น ระบบราชการกำลังจะปรับเปลี่ยนเลิกซีหมด เงินเดือนเปลี่ยนหมด ระบบการประเมินผลการปฏิบัติเปลี่ยนหมด ก็ต้องเรียนรู้ลักษณะการจ้างที่หลากหลาย เอกชนรู้เรื่องกลยุทธ์การตลาด สร้างลูกค้า สร้างกำไร มีการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า มี call center ภาครัฐก็ควรต้องมีเหมือนกัน เพื่อเสนอบริการที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน"
ด้าน รศ.ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างหลักสูตร เนื้อหาจะใช้หลักวิชาการบริหารจัดการเหมือนเอ็มบีเอ แต่แทรกด้วยบริบทของภาครัฐ และจะมีวิชาที่เพิ่มเข้ามา คือ การจัดการสาธารณะ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และจริยธรรมและคุณธรรมของนักบริหาร หรือ Good Governance ซึ่งพัฒนามาจากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ที่จัดทำโดย ก.พ. ด้วย
"ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยธุรกิจของนิสิต เพื่อทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็มีการคุยกับ ดร.สุเมธ ท่านจะยกตัวอย่างการแก้ปัญหาของปูนซีเมนต์ไทย เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ปูนฯ เป็นธุรกิจใหญ่ อยากเน้นกรณีศึกษาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน"
รศ.ดร.สุดา กล่าวว่า นอกจากคนภาครัฐแล้ว เชื่อว่าคนภาคเอกชนเองอาจจะสนใจหลักสูตรนี้เช่นกัน เพื่อเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติของภาคราชการ ซึ่งจะเป็นผลดี เพราะจะเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รุ่นแรกจะเปิดรับสมัครช่วงปลายปีนี้ จำนวนรับอยู่ที่ประมาณ 60 คน ทั้งนี้ มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 170,000 บาท สำหรับส่วนภูมิภาค อาจขยายไปเปิดสอนที่หัวหิน ซึ่งคงต้องพิจารณาความต้องการของตลาดก่อน
อีกหลักสูตรหนึ่งที่เปิดตัวในปีนี้เช่นเดียวกัน เป็นของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเปิดเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้น "The Senior Administrators Program" เพื่อผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ เรียกสั้นๆ ว่า SAP
พัชราภรณ์ พันธราธร ผู้จัดการศูนย์พัฒนานักบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ต้องการให้เปิดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 3 สัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์แรกเรียนในประเทศ และสัปดาห์สุดท้ายไปเรียนที่ Kellogg School of Management at The Northwestern University พร้อมทั้งทัศนศึกษาในต่างประเทศด้วย
ก่อนหน้านี้ศศินทร์มีหลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับนักบริหารอยู่แล้ว คือ The Senior Executive Program หรือ SEP ซึ่งมีทั้งนักบริหารระดับสูงจากภาคเอกชน แต่ก็มีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจมาเรียนด้วย
พัชราภรณ์ กล่าวว่า ลักษณะการบริหารงานของหน่วยงานข้างต้นปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกันแล้ว ซึ่งเห็นชัดเจนในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 หลักสูตร จึงแตกต่างกันเพียงเรื่องการไปเรียนที่ Kellogg และดูงานที่ต่างประเทศ ซึ่ง SEP ไม่มีในส่วนนี้
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก SAP จัดทำขึ้นใหม่ จึงมีการเสริมประเด็นที่มีความสำคัญ ได้แก่ ทักษะในการตัดสินใจ การจัดการภาวะวิกฤติ และทักษะในการเจรจาต่อรอง เข้าไปรวมกับหัวข้อที่ SEP มีอยู่แล้ว ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระดับโลก ภาวะผู้นำและการบริหารการเปลี่ยนแปลง การบริหารโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ธรรมาภิบาล การตัดสินใจด้านการเงินขององค์กร และการบริหารเชิงกลยุทธ์
"การบริหารของภาครัฐอาจแตกต่างกับเอกชนอยู่บ้าง ตรงที่หน่วยงานภาครัฐจะมีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายมาให้ต้องกำหนดกลยุทธ์ที่สอดคล้อง อาจต้องเน้นเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงมากกว่าขณะที่เอกชน ซีอีโอจะมีการตัดสินใจที่ไม่ซับซ้อนเท่าภาครัฐ"
สำหรับปีการศึกษาหน้า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลก็มีแผนจะเปิดหลักสูตร การจัดการมหาบัณฑิต สาขาการบริหารองค์กรสาธารณะ ซึ่งเคยเปิดสอนเป็นหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษมาแล้วหลายปี และหยุดรับนักศึกษาไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีแผนจะปรับเป็นภาคภาษาไทย เพราะเชื่อว่าจะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดโครงร่าง และเนื้อหาหลักสูตร
MPA ไม้เด็ดลูกผสม
ขณะที่บางสถาบันเชื่อว่าคนภาครัฐควรเติมเต็มความรู้ด้านบริหารธุรกิจให้แน่นขึ้น แต่ในบางสถาบันกลับเลือกที่จะพัฒนาหลักสูตรด้านรัฐประศาสนศาสตร์เช่นเดิม โดยเปิดเป็นสาขาลูกผสม อย่างสาขาการบริหารภาครัฐและเอกชน
ดร.ทิวา พงศ์ธนไพบูลย์ รองอธิการบดี วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการบริหารภาครัฐและเอกชน ที่เพิ่งเปิดเป็นปีแรกว่า เนื่องจากการบริหารงานราชการใช้แนวคิดการจัดการธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ผู้ปฏิบัติงาน อย่างผู้ว่าซีอีโอมีไม่ถึง 10% ที่เข้าใจ ทำให้การบริหารในหลายจังหวัดล้มเหลว
"ผู้ว่าซีอีโอต้องทำ OTOP ต้องรู้เรื่องการผลิตสินค้า การทำตลาด พอไม่รู้หลักบริหารธุรกิจ ก็ทำไม่สำเร็จ"
ขณะเดียวกันเขาเองก็มองด้วยว่าขณะนี้การบริหารงานของภาคเอกชนก็ต้องรู้นโยบายสาธารณะ ระบบสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ การจัดการการเงินการคลัง และการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าในหลักสูตรเอ็มบีเอไม่ได้เน้นมาก การพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น จึงกำหนดให้ต้องเรียนทั้งการบริหารภาครัฐ ประมาณ 54% การบริหารธุรกิจ 33% และบางวิชาที่เป็นเนื้อหาเดียวกันอีกประมาณ 13%
ก่อนหน้าที่จะเปิดหลักสูตร วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก มีความเห็นคล้ายกับอีกหลายสถาบันการศึกษาที่มองว่าบุคลากรจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ น่าจะต้องการหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจมากขึ้น แต่เพราะมองว่ายังมีบุคลากรภาครัฐบางหน่วยงานที่ต้องการปริญญาบัตรเพื่อปรับวุฒิ ซึ่งถ้าเป็นด้านเอ็มบีเอ อาจทำให้นักศึกษาบางกลุ่มไม่สามารถใช้ปรับวุฒิให้ตนเองหลังจบการศึกษาได้ จึงเลือกเปิดเป็นรัฐประศาสนศาสตร์
ประกอบกับสาขาการจัดการภาครัฐและเอกชน ถือว่ายังไม่แพร่หลาย มีเปิดในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงไม่กี่แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เชื่อว่าหลักสูตรนี้น่าจะขยายโอกาสให้ผู้ที่อยากเรียนได้มากขึ้น รวมถึงข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดสมุทรปราการที่น่าจะสะดวกในการมาเรียนที่วิทยาลัยมากกว่า
สำหรับผลตอบรับรุ่นแรก ดร.ทิวา กล่าวว่า มีผู้เรียนประมาณ 30 คน มีนักศึกษาจากทั้งภาคเอกชน และภาคราชการในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
อีกสถาบันที่เปิดสอนลูกผสมเช่นเดียวกัน และแซงหน้าไปตั้งแต่เมื่อปีการศึกษาที่แล้ว คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เปิดหลักสูตรทวิปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์และบริหารธุรกิจ รศ.ดร.อุทัย เลาหวิเชียร ผู้อำนวยการหลักสูตร ให้เหตุผลเมื่อตอนเปิดใหม่ไว้ว่า ศาสตร์ของการจัดการทั้ง 2 ด้านมาจากรากเดียวกัน จับคู่กันได้และจบภายใน 2 ปีครึ่ง เพราะมีวิชาพื้นฐานที่เรียนร่วมกันถึง 70%
ทั้งนี้หลักสูตรเหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการอย่างกว้างๆ ทั้งในมุมมองของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของผู้เรียนที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เศรษฐกิจได้จากทั้ง 2 ด้าน
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่สามารถชี้ได้ว่ามีสาเหตุมาจากภาครัฐหรือเอกชน บางเหตุการณ์เกิดเพราะภาครัฐ แต่ปัญหาก็ส่งผลกับภาคเอกชน และบางเหตุการณ์เกิดกับภาคเอกชน ก็มีผลเกี่ยวพันกับภาครัฐ ดังนั้นปัญหาต่างๆ บางครั้งก็ต้องใช้ความรู้ทั้ง 2 ด้านเข้ามาแก้ไข"
ด้านสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่เปิดสอนหลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชนมหาบัณฑิต ในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มากว่า 10 รุ่นแล้ว รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต นับว่ามีดีมานต์สูงขึ้น โดยสัญญาณที่เห็นชัด คือ มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านนี้มากขึ้น
เป้าหมายของนิด้า ต้องการให้คนภาครัฐเข้าใจระบบของธุรกิจที่ต้องเข้าไปกำกับดูแล ขณะที่ภาคธุรกิจต้องรู้นโยบาย การดำเนินงานของภาครัฐ เพราะมีผลกระทบต่อการบริหารธุรกิจ โดยหลักสูตรมีทั้งภาคปกติ ที่ฝึกนักปฏิบัติไปรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และหลักสูตรสำหรับนักบริหาร ที่ใช้มุมมองทั้ง 2 ด้านวิเคราะห์ และวางแผน ซึ่งกลุ่มหลังนี้ จากสถิติพบว่าผู้เรียนมาจากภาคเอกชน 60% ภาครัฐ 20% และรัฐวิสาหกิจอีก 20%
ทั้งนี้ นิด้ามีแผนจะปรับหลักสูตรใหม่ เพื่อใช้ในปีการศึกษาหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นของศิษย์เก่า คาดว่าปลายปีนี้จึงจะสรุปว่าจะเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง ส่วนที่คาดว่าจะเพิ่มเติมเข้ามา คือ การเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคปฏิบัติมาเป็นวิทยากรมากขึ้น และเพิ่มการวิเคราะห์กรณีศึกษา และการฝึกทำงานร่วมกันเป็นทีม จากปัจจุบันที่เน้นการบรรยายถึง 60-70%
|
|
 |
|
|