โอเรียนท์คัมแบ็กบุกตลาดเมือไทยอีกครั้งพร้อมตั้งโทรคาเดโรเป็นตัวแทนจำหน่าย เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ ส่งนาฬิกาหลายรุ่นครอบคลุมตลาด โดยชูเทคโนโลยีสู้แบรนด์สวิส ซึ่งหันไปเน้นเรื่องของการประดับด้วยอัญมณีมากกว่า
ในภาวะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค มีการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนาฬิกาที่นอกจากจะเป็นเครื่องบอกเวลาแล้ว ยังได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์จนกลายเป็นสินค้าแฟชั่นชนิดหนึ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกและฐานะทางการเงินของผู้สวมใส่
ตลาดนาฬิกามีการแบ่งเซกเมนต์ตามระดับราคาได้ 3 กลุ่มคือ ตลาดระดับบน เป็นนาฬิกาที่มีราคาตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการดีไซน์และการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ เช่น นาฬิกาจากสวิส และประเทศอื่นๆในยุโรป ส่วนตลาดระดับกลางมีราคา 5,000-50,000 บาท เป็นนาฬิกาที่มีดีไซน์และเทคโนโลยีพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น และสุดท้ายตลาดล่างมีราคา 100-5,000 บาท มักมาในรูปแบบของนาฬิกาควอตซ์ หรือนาฬิกาใส่ถ่านทั่วไป ไม่ได้มีการดีไซน์มากนัก เน้นแค่ประโยชน์ในการบอกเวลาเท่านั้น อย่างไรก็ดีพฤติกรรมการบริโภคนาฬิกาของคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดกับแบรนด์ของนาฬิกา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ของตลาดนาฬิกาข้อมือในปีนี้ว่ามีแนวโน้มที่ชะลอตัวโดยเป็นผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งเคยส่งผลต่อตลาดนาฬิกาในช่วงปี 2540 มาแล้ว ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรเชื่อว่าตลาดนาฬิการะดับล่างยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้และอาจจะดึงฐานลูกค้าในระดับกลางได้ด้วย ในขณะที่ตลาดบนไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ส่งผลต่อผู้บริโภคในกลุ่มนี้
จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ให้เห็นว่านาฬิกาญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ดังนั้นบรรดานาฬิกาแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นจึงพยายามที่จะกระตุ้นยอดให้ขายให้เติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ตัวเลขจากกรมศุลกากรชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดนาฬิกาข้อมือในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาโดยในปี 2544 มีการนำเข้านาฬิกาข้อมือกว่า 2,000 ล้านบาท จากนั้นก็มีการเติบโตปีละกว่า 1,000 ล้านบาท จนในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการนำเข้ากว่า 5,197 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์กว่า 3,410 ล้านบาท ส่วนญี่ปุ่นมีเพียง 221 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าการนำเข้านาฬิกาจากจีนที่มีมูลค่ากว่า 497 ล้านบาท
ความเคลื่อนไหวของนาฬิกาญี่ปุ่นล่าสุดคือการกลับมารุกตลาดอีกครั้งของโอเรียนท์วอทช์ ซึ่งเคยทำตลาดในเมืองไทยแต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้ตลาดในเอเชียซบเซา โอเรียนท์จึงเบนเข็มไปสู่ภูมิภาคอื่นอย่างทวีปอเมริกา ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จในการขยายตลาดในภูมิภาคอื่นแล้วโอเรียนท์จึงหันกลับมามองเอเชียอีกครั้ง โดยให้ความสำคัญในการกระตุ้นยอดขายในเมืองไทย พร้อมกับการแต่งตั้ง โทรคาเดโร ให้เป็นผู้จำหน่ายในประเทศไทย
"การที่ผู้นำเข้ารายเดิมสั่งแต่สินค้ารุ่นราคาถูกมาทำตลาด เพื่อจับตลาดระดับล่าง ทำให้เป็นจุดอ่อนเพราะเวลาเศรษฐกิจตก ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อที่ลดลง ดังนั้นการกลับมาสู่ตลาดเมืองไทยอีกครั้งจึงเน้นสินค้าที่มีระดับสูงขึ้น โดยมีสินค้าหลายรุ่นครอบคลุมตลาดทุกกลุ่ม" เคนนิชิโร คาวาอิ ประธาน โอเรียนท์ วอทช์ กล่าว
นาฬิการุ่นใหม่ที่โอเรียนท์เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมีราคาตั้งแต่ 2,000-99,000 บาท เริ่มจากรุ่นราคาถูกคือ Standard Quartz, Standard Automatic และอีกหลายรุ่นจนไปถึงรุ่นที่แพงที่สุดคือ Automatic Classic ซึ่งรุ่นเหล่านี้ถูกจำแนกด้วยราคาและเทคโนโลยี แต่ยังมีรุ่นที่จำแนกตามไลฟ์สไตล์ได้แก่รุ่น Sport และ Lady Rore
การกลับมาสู่ตลาดเมืองไทยอีกครั้งของโอเรียนท์จะเน้นฐานลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่สอดคล้องกับวัยรุ่น ดังนั้นจึงมีการโปรโมทนาฬิกาโดยใช้ ฟิล์ม รัฐภูมิ เป็นพรีเซ็นเตอร์
อย่างไรก็ดีในตลาดวัยรุ่นยังมีแบรนด์จากสวิตเซอร์แลนด์คือ Swatch ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน แต่โอเรียนท์มั่นใจว่าจะสามารถต่อกรกับคู่แข่งได้เนื่องจากคู่แข่งเน้นในเรื่องของการดีไซน์อย่างเดียว ในขณะที่โอเรียนท์จะมีทั้งการดีไซน์และเทคโนโลยีของนาฬิกา โดยเฉพาะในระบบออโตเมติกที่บางรุ่นมีเข็มบอกพลังงาน บางรุ่นก็จะเน้นการดีไซน์ที่โปร่งใสสามารถเห็นกลไกต่างๆของนาฬิกาได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ชื่นชอบให้ความสนใจที่จะสะสมนาฬิกาโอเรียนท์ แต่นักสะสมส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงมีการชูในเรื่องของไลฟ์สไตล์ในการใช้งานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีกิจกรรมค่อนข้างมาก มีการเล่นกีฬามากขึ้น บางคนก็นิยมดำน้ำ จึงมีการนาฬิกาที่กันน้ำ หรือบางรุ่นก็จับเวลาได้ ทำให้หลายคนมีนาฬิกาหลายเรือนไว้ใช้ในโอกาสที่แตกต่างกันไป
ปัจจุบันโทรคาเดโรมีช่องทางจำหน่ายกว่า 150 ราย โดยคาดว่าภายในสิ้นปีจะสามารถเพิ่มเป็น 200 ราย และจะเพิ่มเป็น 300 รายในปีหน้า
นอกจากโอเรียนท์แล้วก็ยังมีซิติเซ็นที่มีศรีทองพาณิชย์เป็นผู้จำหน่าย ซึ่งมีการออกรุ่นใหม่คือ Eco Drive ซึ่งเน้นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งาน การดีไซน์ที่สวยงาม การบอกข้างขึ้นข้างแรม รวมไปถึงการมีรุ่นที่มีอัญมณีประดับ ในขณะที่เมืองทองไซโกก็เตรีมที่จะออกสินค้ารุ่นใหม่กว่า 20 รุ่น
ความพยายามของนาฬิกาญี่ปุ่นที่จะกระตุ้นตลาดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะสามารถนำพาให้แบรนด์ญี่ปุ่นให้ได้ยอดขายตามเป้าหรือไม่ ทั้งฟังก์ชั่นและการดีไซน์จะดึงดูดกำลังซื้อได้เพียงไร ในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคก็หันมาใช้นาฬิกาหลายเรือน ประกอบกับการสนับสนุนจากห้างสรรพสินค้าชั้นนำ 2 ค่ายคือ เซ็นทรัล และเดอะมอลล์ ที่มีการจัดงานแสดงนาฬิกาทุกปี ทำให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ
|