3 บลจ.สุดปลื้ม กองทุนตราสารหนี้อายุ 1 ปีระดมเงินฝากแบงก์ล้นพอร์ต ค่ายบัวหลวง ปิดขายกอง บัวหลวงธนรัฐ 10/49 รับทรัพย์ 9,200 ล้านบาทเต็มมูลค่า เตรียมส่งกองใหม่ปลายปีนี้ ด้านกสิกรไทย ดูดเงินเข้ากองทุน รวงข้าวธนรัฐ 8/50 อีกกว่า 3,800 ล้านบาท ขณะที่บีโอเอ ปิดจอง 2 กองทุนกว่า 2,000 ล้านบาท
ภาพรวมตลาดกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรหรือตั๋วเงินคลัง พันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ยังคงได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม แม้สัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยหลายฝ่ายประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่ง ประเทศไทย ที่จะมีขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น (อาร์/พี) 14 วันอีกครั้ง และใน การประชุมในคราวหน้าก็จะประกาศขยับตัวขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบขยับตัวขึ้นตาม
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวกองทุนตราสารหนี้ ระยะสั้นยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่อง จากผลตอบแทนที่ได้รับถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะเดียวกันการลงทุนผ่านกองทุนยังได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งยิ่งเป็นอีกแรงหนุนที่สำคัญทำให้คนที่มีเงินฝากสนใจลงทุนผ่านกองทุนรวม และประเด็นที่น่าสนใจ คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มี นโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐ หากจะเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์แล้ว แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็อยู่ในสถานะที่รับได้ เพราะผู้ที่ออกตราสารส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง หรือรัฐวิสาหกิจ
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกสำหรับกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 10/49 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 9,200 ล้านบาท ซึ่งเต็มจำนวนเงินทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยหลังจาก ระดมทุนในครั้งนี้แล้ว บริษัทจะนำไปจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในวันที่ 6 ตุลาคม 2548 และเริ่มลงทุนให้แก่กองทุนตามนโยบายที่ระบุไว้ทันที เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของท่านผู้ถือหน่วย ลงทุนทุกท่าน
ทั้งนี้ หลังจากได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม สำหรับกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 10/49 แล้ว บริษัทกำลังพิจารณาจัดตั้งกองทุนอายุ1 ปีอีกในช่วง ที่เหลือของปี โดยจะดูจังหวะที่เหมาะสมต่อประโยชน์ของผู้ลงทุน
นอกจากนี้ บริษัทได้จดทะเบียนเพิ่มทุนสำหรับกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวีเป็น 15,000 ล้านบาทจากมูลค่ากองทุนที่จดทะเบียนเดิม 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการผูกติดกับกองทุน เป็นระยะเวลานานและต้องการซื้อขายได้ทุกวันพร้อมรับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยในขาขึ้น
โดยกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวีเป็นกองทุนที่ มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ หรือหากเป็น ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะต้องที่มีคุณภาพเยี่ยมโดย ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A- ขึ้น ไปเท่านั้น สำหรับผลตอบแทนที่ผ่านมานับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 รวม 207 วัน ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.29% ต่อปี
ด้านรายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้เสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดรวงข้าวธนรัฐ 8/50 เมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก โดยได้ยอด ขายถึง 3,831.22 ล้านบาท จากมูลค่าจดทะเบียนโครงการทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนเปิดรวงข้าวธนรัฐ 8/50 มีอายุโครงการประมาณ 1 ปี 10 เดือน รับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ 4 งวด เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ที่รัฐบาลออกหรือค้ำประกัน เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ พันธบัตรกองทุนเพื่อ การฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน โดยมีระยะเวลาลงทุน ในกองทุนประมาณ 1 ปี
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บีโอเอ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ปิดขาย หน่วยลงทุนสำหรับกองทุนเปิดพันธบัตรทวีค่า 3 และกองทุนเปิด พันธบัตรเพิ่มค่า 11 (WTF11) เมื่อ วันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสามารถระดมทุนรวมกันได้ประมาณ 2,050.38 ล้านบาท โดยแบ่ง เป็นกองทุนเปิดพันธบัตรทวีค่า 3 ได้ยอดขาย 746.66 ล้านบาท ส่วนกองทุนเปิดพันธบัตรเพิ่มค่า 11 ได้รับยอดขาย 1,303.72 ล้านบาท
|