จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นของคนไทย
ผลิตโดยคนไทย และได้พระราชทานตราสินค้า "สุวรรณชาด" ขึ้นเป็นต้นแบบ เพื่อส่งเสริม
และสนับสนุนกิจการของคนไทย
เป็นตราสินค้าพระราชทานที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง อย่างที่จะพัฒนาให้มีสถานะเป็น
"ตราสินค้าแห่ง ชาติ" อย่างจริงจังในอนาคต
การพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ "หอการค้าไทย" ใช้ชื่อตราสินค้า "สุวรรณชาด"
ดำเนินการตามแนวพระราช ประสงค์ ภายใต้โครงการ "ภูมิใจในตรา สินค้าไทย" โดยมี
"เสื้อทองแดง" เป็นสินค้า นำร่องของโครงการ จึงมิได้มีความพิเศษ จำกัดอยู่ที่วัตถุประสงค์หลักว่าด้วยการปลุก
จิตสำนึกให้คนไทยหันมานิยมสินค้าไทย และร่วมภาคภูมิใจในตราสินค้าไทยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หากในด้านหนึ่งยังเป็นภาพสะท้อนของนัยว่าด้วย "ยุทธศาสตร์การพัฒนา" ที่ได้ทรงพระราชทานต่อพสกนิกร
ผ่านแนวพระราชดำริฯ ที่มีความลึกซึ้งยิ่ง
และดูเหมือนว่า "หอการค้าไทย" ที่มี ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
และอยู่ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนิน การผลิตและจำหน่าย
"เสื้อทองแดง" ในครั้งนี้ ตระหนักและมุ่งสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในประเด็นที่ว่านี้
อย่างแข็งขัน
คณะกรรมการโครงการภูมิใจในตรา สินค้าไทย และคณะทำงานเพื่อประสานงานโครงการฯ
จึงมิได้ประกอบไปด้วยกรรมการ และสมาชิกของ "หอการค้าไทย" เท่านั้น หากยังประกอบไปด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าทั้งผู้ผลิต
ผู้จำหน่าย รวมถึงบริษัทโฆษณา ที่ได้ร่วมระดมความคิด กันเป็นคณะทำงานขนาดใหญ่
โดยมี พรพินิจ พรประภา เป็นประธานโครงการฯ
ภายใต้ความชำนาญการ ในการจัดการธุรกิจ คณะทำงาน ในโครงการฯ ได้อาศัยประสบการณ์หลากหลายมาเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์แนวทางทางการตลาด
การประชาสัมพันธ์ การผลิตและหีบห่อ (production & packaging) หรือแม้กระทั่งการจัดเตรียมช่องทางการกระจายสินค้า
และการจัดตั้งหน่วย สนับสนุนการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ และมีแบบแผนที่เกิดจากความเข้าใจและตระหนักดีถึงการนำเทคโนโลยี
มาใช้สนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้อย่างน่าสนใจยิ่ง
ตลอดจนการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านคุณภาพของ "เสื้อทองแดง" โดยมี SGS
Thailand ในเครือของ SGS Group (Societe Generale de Surveillance : 1878)
แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าและบริการ
อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบในทุกขั้นตอนการผลิต
ซึ่งนี่อาจเป็นการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเพื่อเตรียมการสำหรับนำ "เสื้อทองแดง"
ภายใต้ตราสินค้า "สุวรรณชาด" ออกสู่ตลาดโลกในฐานะ "ตราสินค้าระดับโลก" ในอนาคต
ขณะที่ Call Center หมายเลข 0-2900-9977 ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์บริการขายผ่านโทรศัพท์
Call Center ที่หมายเลข 0-2900-9988 ได้รับการจัดวางไว้ในฐานะศูนย์กลางการให้ข้อมูลข่าวสาร
ควบคู่กับการใช้ช่องทางของ www.thaiechamber.com ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเว็บไซต์ที่ให้รายละเอียดและที่มาของโครงการภูมิใจในตราสินค้าไทย
และการจัดทำเสื้อทองแดงได้ตลอดเวลาเท่านั้น หากเว็บไซต์นี้ยังเป็นช่องทาง
การสั่งซื้อและชำระเงิน ในลักษณะของ eCommerce ที่มีบริการส่งสินค้าถึงที่
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
ทั้ง Call Center และ www. thaiechamber.com คือภาพสะท้อนของประสบการณ์และความเข้าใจ
เกี่ยวกับประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาบริหารระบบธุรกิจสมัยใหม่ของ ดร.อาชว์
เตาลานนท์ ซึ่งดำรงสถานะเป็นรองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)
และรองประธานกรรมการ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทีเอ) ในปัจจุบันอย่างยากที่จะปฏิเสธ
ทรัพยากรบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมและดำรงบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาระบบของ
www.thaiechamber.com ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย และบริษัท อินเตอร์แอคทีฟ
มีเดีย เซอร์วิส จำกัด ในเครือบริษัทเทเลคอมเอเซีย ตั้งแต่เมื่อ ดร.อาชว์
เตาลานนท์ เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย เมื่อปี 2544 แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการออกแบบและพัฒนาช่องทาง
eCommerce สำหรับ "เสื้อทองแดง" ในคราวนี้
และ Call Center ทั้งสองหมายเลขล้วนมีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ในอาคารเทเลคอมเอเซีย
ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นอาคารที่ตั้งของสำนักงาน ดร.อาชว์ และย่อมดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของ
เทเลคอมเอเซีย อย่างมิพักต้องสงสัย
แผนประชาสัมพันธ์ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากการแถลง
ข่าวเปิดโครงการ "ภูมิใจในตราสินค้าไทย" ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เมื่อวันที่
14 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ LOWE แล้ว หอการค้าไทยยังได้เชิญ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาอาวุโสของหอการค้าไทย
มาเป็นผู้แสดงแบบกิตติมศักดิ์ "เสื้อทองแดง" ภายใต้ตราสินค้าพระราชทาน "สุวรรณชาด"
ขณะที่กรรมการที่ปรึกษาอาวุโสของหอการค้าไทยบางท่าน ไม่ว่าจะเป็น ธนินท์
เจียร-วนนท์, ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย, ชาตรี โสภณพนิช รวมทั้งนักธุรกิจและบุคคลชั้นนำของสังคมไทยอีกส่วนหนึ่ง
ต่างได้รับเชิญมาเป็นผู้แสดงแบบกิตติมศักดิ์ในวาระพิเศษนี้เช่นกัน
แต่ทั้ง Call Center และ www.thaiechamber.com หรือแม้กระทั่งแผนประชาสัมพันธ์
ตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่ายใดๆ ย่อมเป็นเพียงปรากฏการณ์ปลายน้ำ ที่มีความสำคัญในฐานะองค์ประกอบเล็กๆ
เมื่อเปรียบเทียบกับ คุณค่า ที่เกิดขึ้นจาก แนวพระราชดำริฯ ว่าด้วย "ตราสินค้าสุวรรณชาด"
และ "เสื้อทองแดง" ที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบพระราชทานเป็นปฐมบทของกระแสธารที่ไม่สิ้นสุดนี้
แม้ว่า "เสื้อทองแดง" ซึ่งเป็นสินค้านำร่องภายใต้ตราสินค้าพระราชทาน "สุวรรณชาด"
จะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผลิต และจำหน่ายในวาระแรกนี้เพียง 300,000 ตัว
ที่หากเป็นการผลิตเสื้อโปโลในตราสินค้าระดับโลกรายอื่นๆ ที่ผลิตแต่ละแบบไม่เกิน
50,000 ตัว จะเป็นจำนวนที่มากอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ด้วยพลังแห่งความจงรักภักดี
ดูเหมือนว่าจำนวนผลิตที่ 300,000 ตัวซึ่งเป็นการคำนวณจากฐานของการจำหน่าย
เสื้อทองแดง ในครั้งก่อน อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอย่างแน่นอน
เพราะนี่คือ ตราสินค้าแห่งชาติ ที่ทรงคุณค่าและความหมายยิ่ง