-โตโยต้า-อีซูซุ-ฮอนด้า ยับไม่มีทีท่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่จนถึงสิ้นปี
-เหตุราคาน้ำมัน และค่าครองชีพสูงทำให้แนวโน้มยอดรถหดตัว ประกอบกับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ยังสูงต่อเนื่อง
-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้ตลาดรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท
ค่ายรถยนต์ใหญ่ตรึงราคาดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่จนถึงสิ้นปี ทำให้ค่ายรถยนต์ขนาดกลางและเล็ก รวมถึงรถมือ 2 ต้องคงดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารเริ่มทยอยปรับขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ป้ายแดงส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 2.5-2.65%
ก่อนหน้านี้มีบริษัทรถยนต์หวังจะปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตั้งแต่กลางปี 2548 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากบริษัทรถยนต์รายใหญ่ทั้งโตโยต้า อีซูซุ และฮอนด้า ซึ่งมีบริษัท ลิสซี่งของตัวเองยังมีการปรับขึ้น และบางช่วงมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินผ่อนลงอีก ทำให้บริษัทรถยนต์อื่น ไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ ซึ่งทำให้บริษัทที่ไม่มีลิสซิ่งของตนเองต้องทนแบกภาระต่อไป โดยก่อนหน้านี้คาดการณ์กันว่าบริษัทรถยนต์หลายๆ แห่งจะตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไว้ถึงแค่เดือนตุลาคมนี้
แต่จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ที่เริ่มชะลอตัว และผู้บริโภคเริ่มมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แหล่งข่าวในวงการรถยนต์รายหนึ่งมองว่า บริษัทรถยนต์ใหญ่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี 2548 นี้
ขณะเดียวกันสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ เต้นรถยนต์มือ 2 ส่วนใหญ่ต้องดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อของรถมือ 2 ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4-5.5%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การเช่าซื้อรถยนต์ในอีกไม่กี่เดือนที่เหลือของปีนี้ ยังเป็นตลาดของผู้ซื้อหรือผู้กู้ยืมต่อไป แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจการเงินจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นได้ไม่มากนักและปรับขึ้นได้ช้า เมื่อเทียบกับต้นทุนการระดมเงินฝากใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่ทรงตัวในระดับต่ำตลอดปี 2547-ต้นปี 2548
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับรถใหม่ทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 2.9%ต่อปี สำหรับเงื่อนไขการผ่อนปกติ คือ วางเงินดาวน์ประมาณ 20% และผ่อนชำระไม่เกิน 48 เดือน ซึ่งคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสุทธิ เพียงประมาณ 5.5% เท่านั้น นับเป็นอัตราที่ถูกมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ห รือMLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่กำหนดไว้ 6.0% ในขณะที่มีแนวโน้มว่าต้นทุนการเงินเพิ่งอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น และยังห่างไกลจากอัตราเงินเฟ้ออีกหลายเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ความต้องการซื้อรถยนต์จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นประมาณ 210,000 คัน ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นการซื้อด้วยเงินสดประมาณ 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% ซื้อด้วยเงินผ่อน โดยปัจจัยน้ำมันราคาแพงมีผลให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็กลง และคาดว่าจะผลให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถโดยรวมปรับตัวลดลงตาม
มีการประเมินมูลค่าตลาดรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยจากข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 2548 แบ่งเป็นการให้สินเชื่อโดยบริษัทเงินทุนทั้งระบบ 205,920 ล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 80% เป็นของเจ้าตลาดรายใหญ่ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธนชาต 102,911 ล้านบาท ทิสโก้ 42,433 ล้านบาท และเกียรตินาคิน 21,218 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจึงกระจายไปยังบริษัทเงินทุนอื่น
สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ปล่อยโดยบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดรวมร่วม 300,000 ล้านบาท นำโดย จีอีแคปปิตอลออโตลีส 80,000 ล้านบาท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดลิสซิ่ง และบริษัทลิสซิ่งของผู้ค้ารถยนต์รายใหญ่ ได้แก่ โตโยต้าลีสซิ่ง ไทยออโต้เซลล์ ซึ่งเป็นลีสซิ่งของค่ายอีซูซุ และฮอนด้าลีสซิ่ง บริษัทลิสซิ่งที่เป็นบริษัทลูกของผู้ค้ารถยนต์รายใหญ่เหล่านี้ มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมกันกว่า 70% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในตลาด โดยบริษัทลีสซิ่งเหล่านี้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของตนเองประมาณ 1 ใน 4 ของยอดขาย ส่วนที่เหลือจึงกระจายไปยังผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรายอื่นที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 20 ราย
|