|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตระกูล "บูรณุปกรณ์" นับเป็นตระกูลเก่าแก่สายหนึ่งของเชียงใหม่ แม้จะมีประวัติความเป็นมาไม่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า "ชินวัตร" หรือ "นิมมานเหมินท์" ที่โด่งดังมาก่อน แต่สำหรับทุกวันนี้ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า "บูรณุปกรณ์" เป็นกลุ่มตระกูลหนึ่งที่ได้ก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ทั้งด้าน ธุรกิจ และการเมืองของเชียงใหม่ในระดับหัวแถวชนิดไม่เป็นสองรองใคร
นับเฉพาะด้านเครือข่ายธุรกิจแล้วกลุ่มธุรกิจบูรณุปกรณ์มีครอบคลุมธุรกิจหลายด้าน ทั้งธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ ธุรกิจโรงแรมย่านถนนช้างคลาน ธุรกิจร้านจำหน่ายของที่ระลึกตลอดเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง และธุรกิจเรียลเอสเตท ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าแผ่ขยายเข้าไปสู่ธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในแทบจะทุกระดับ โดยเชื่อกันว่าเครือข่ายของธุรกิจตระกูลนี้น่าจะมีมูลค่านับพันล้านบาท
อาณาจักรธุรกิจของตระกูล "บูรณุปกรณ์" ยิ่งใหญ่มากน้อยเพียงใด วิเคราะห์ได้จากคำพูดของ "บุญเลิศ บูรณุปกรณ์"ทายาทคนที่ 10 จากพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด 11 คน และปัจจุบันนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่กล่าวอย่างมั่นใจผ่าน "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า
"ถ้าถามผมว่าธุรกิจของตระกูลมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน มีเงินหมุนเวียนหรือมีรายได้ในแต่ละปีเท่าไร ผมตอบได้ไม่เต็มปากจริงๆ แต่ผมกล้าพูดว่า เงินทุกๆ 100 บาทที่นักท่องเที่ยวควักกระเป๋าใช้จ่ายในเชียงใหม่จะต้องตกอยู่กับเครือข่ายธุรกิจของเราอย่างน้อย 10 บาท เพราะธุรกิจของเราครอบคลุมในเกือบจะทุกส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และเป้าหมายในอนาคตของเราตั้งใจด้วยจะเพิ่มเป็น 20 บาทให้ได้"
แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบูรณุปกรณ์จะเรียกได้ว่าก้าวไปสู่จุดที่เรียกได้ว่าติดลมบนแล้ว แต่นั่นไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องหยุดนิ่งแต่อย่างใด โดยที่ล่าสุดจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของตระกูลอย่าง "บุญเลิศ" ได้จับมือกับ "ปกรณ์" ผู้เป็นน้องชาย ในการที่จะลงทุนด้วยวงเงินร่วม 700 ล้านบาทเพื่อทำธุรกิจโรงแรมระดับห้าดาว ย่านถนนช้างคลานอีกด้วย ในชื่อของ "เมอริตัส เชียงใหม่" บริหารงานในนามบริษัทเชียงใหม่ริเวอร์ไซด์ พาวิลเลียน สปา รีสอร์ต จำกัด
บุญเลิศ บอกว่า เหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจลงทุนทำโรงแรมห้าดาวนั้น เป็นเพราะมองแนวโน้มธุรกิจของเชียงใหม่ในช่วง 4-5 ปี จากนี้ไปจะมีการเติบโตจากการท่องเที่ยวสูงมากเนื่องมาจากโครงการสำคัญๆ ของรัฐบาลหลายโครงการที่ลงทุนเพื่อผลักดันให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค รวมทั้งธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว จากการเป็นเจ้าของโรงแรมระดับ 3 ดาว และ 4 ดาว ในย่านเดียวกัน จึงอยากจะต่อยอดธุรกิจด้วยการเป็นเจ้าของโรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งใหม่ของเชียงใหม่ ที่เป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นแท้ๆ
"เป็นความตั้งใจของผมเองที่อยากจะทำโรงแรมระดับห้าดาวในเชียงใหม่ ที่เป็นของคนเชียงใหม่จริงๆ เพราะที่ผ่านมาเป็นการลงทุนโดยนายทุนจากต่างถิ่นทั้งหมด โรงแรมแห่งนี้มี 74 ห้องเป็นห้องสูททั้งหมด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงในจุดที่น่าจะมีวิวสวยที่สุดแห่งหนึ่ง ราคาห้องพัก 300-500 เหรียญ จุดเด่นอยู่ที่การออกแบบที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นล้านนา 100% และเชื่อมโยงเรื่องราววิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำปิง คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการได้ประมาณพฤษภาคมปี 49โดยตอนนี้มีการจองห้องพักไว้เต็มแล้ว จึงมั่นใจว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดี" บุญเลิศ กล่าว
ขณะเดียวกันบุญเลิศ ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้เขามีแผนที่จะร่วมกับ "ปกรณ์" น้องชาย ลงทุนสร้างอพาร์ทเม้นต์อีก 2 แห่ง ประมาณ 500 ยูนิต ย่านถนนคลองชลประทาน ในตำบลแม่เหียะ เพื่อรองรับผู้คนที่จะเดินทางเข้ามาสู่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ โดยอพาร์ทเม้นต์นี้ตั้งเป้าหมายจับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและมีคุณภาพสูง เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งราคาห้องพักจะตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
ถึงธุรกิจของกลุ่มตระกูลบูรณุปกรณ์จะมีการขยายแตกแขนงอย่างต่อเนื่อง แต่ "บุญเลิศ" บอกว่าไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการธุรกิจแต่อย่างใด เพราะพี่น้องทุกคนมีการแบ่งหน้าที่กันในการดูแลรับผิดชอบ โดยใช้สัดส่วนการถือหุ้นในแต่ละธุรกิจเป็นตัวกำหนด อย่างเช่นธุรกิจโรงแรมที่ตนเองและนายปกรณ์ถือหุ้นใหญ่ก็รับผิดชอบดูแลไป ธุรกิจโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่พี่ชายพี่สาวถือหุ้นอยู่มากกว่าก็จะรับหน้าที่หัวเรือใหญ่แทน เป็นต้น ซึ่งไม่เคยมีปัญหาในการทำงาน เพราะเราให้ความเคารพซึ่งกันและกันในการทำงาน
"ธุรกิจของครอบครัวเราจะเป็นการลงทุนในลักษณะไขว้กันไปมา เช่น พี่ชายลงทุนธุรกิจอะไรสักอย่าง ผมก็ไปร่วมด้วยโดยที่เขาเป็นหุ้นใหญ่ อำนาจการตัดสินใจเราก็ต้องยกให้เป็นของพี่ชาย ในทางกลับกันหากผมเป็นหุ้นใหญ่เขาก็ยกให้ผมตัดสินใจ ซึ่งไม่เคยมีปัญหาในการทำธุรกิจร่วมกัน เพราะพี่น้องเราคุยกันตลอดและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน" บุญเลิศ กล่าว
จากร้านชำสู่อาณาจักรธุรกิจพันล้าน
บุญเลิศ ในฐานะฟันเฟืองสำคัญของกลุ่มธุรกิจตระกูลบูรณุปกรณ์ เล่าความเป็นมาของธุรกิจครอบครัวที่กว่าจะก้าวย่างมาถึงทุกวันนี้ว่า เริ่มต้นมาจากครอบครัวคนจีนที่มีฐานะยากจน มีต้นตระกูลคือ "นายใช้" ผู้เป็นพ่อที่เดินทางจากเมืองจีนมาปักหลักอยู่เชียงใหม่เปิดร้านขายของชำชื่อ "จิ้มชุ่ยใช้" อยู่ย่านกาดหลวง กับนางจิตราผู้เป็นแม่ และมีลูกๆ อีก 11 คน ช่วยเหลือกิจการของร้านเล็กๆ แห่งนั้น
จนกระทั่งต่อมาในปี 2512 พ่อที่เห็นว่ากิจการร้านขายของชำมีแนวโน้มไม่ดี จึงตัดสินใจขยายกิจการด้วยเปิดร้านขายผ้าพื้นเมืองชื่อ "ทัศนาภรณ์" ย่านถนนท่าแพ รับผ้าพื้นเมืองจากแหล่งต่างๆ เช่น ป่าซาง(ลำพูน) หรือสันกำแพง(เชียงใหม่) มาขาย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้นตามลำดับและมีเงินที่ได้จากการค้าขายมากพอสำหรับที่จะนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม
โดยที่ในปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ภายในครอบครัวได้มีการหารือกันว่าเป็นโอกาสที่ดีทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนแนวการขายสินค้า ซึ่งเวลานั้นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากร้านขายผ้ามาร่วมกันตั้งโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ขึ้นในนาม "เชียงใหม่ทัศนาภรณ์"ย่านถนนเชียงใหม่-สันกำแพง เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง
ปรากฏว่าผลประกอบการดีเกินคาด สามารถจำหน่ายได้เป็นจำนวนมากและกำไรสูง เพราะไม่มีคู่แข่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นเจ้าแรกของเชียงใหม่ด้วย ส่งผลทำให้กิจการของตระกูลบูรณุปกรณ์เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเข้าเทคโอเวอร์ บริษัทเชียงใหม่สุดาลักษณ์ จำกัด โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ใหญ่กว่าของตัวเองถึง 3 เท่า ด้วยเงิน 200 ล้านบาท ในปี 2535 ทำให้แทบจะเรียกได้ว่าตระกูลบูรณุปกรณ์ได้ผูกขาดธุรกิจนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการประกาศตัวเป็นผู้ส่งออกไม้สักอันดับหนึ่งของประเทศ
ในระหว่างที่ธุรกิจของครอบครัวเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้เอง กลุ่มพี่น้องจึงได้ทำการขยายโรงงานเพิ่มเติมอีก 4-5 แห่งในย่านถนนเชียงใหม่-สันกำแพง เช่นเดียวกัน เพื่อทำการผลิตเครื่องเขิน เครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน ทำร่ม รวมทั้งทำร้านจำหน่ายของที่ระลึกในย่านเดียวกันภายใต้แนวความคิดที่ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ทุกคนจะต้องเอาเงินมาซื้อสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่ม "บูรณุปกรณ์"
หลังจากทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ส่งออกแล้ว ในปี 2538 กลุ่มบูรณุปกรณ์ที่นำโดย "บุญเลิศ" ได้กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ด้วยการสร้างโรงแรมขนาด 400 ห้อง ย่านถนนช้างคลาน ชื่อ "ดิ เอ็มเพรส" ซึ่งเมื่อเห็นว่ากิจการไปได้ดีจึงลงทุนสร้างโรงแรมเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง ชื่อ "เดอะปาร์ค" ตั้งอยู่บนถนนเส้นเดียวกันนี้เอง รวมทั้งยังได้ทำการปรับปรุงตึกแถว 5 ชั้นที่มีอยู่บริเวณไนท์บาซาร์เป็นโรงแรมด้วยในชื่อ "ดาวน์ทาวน์อินน์" ซึ่งมาถึงจุดนี้เองที่เรียกได้ว่าธุรกิจของกลุ่มบูรณุปกรณ์เป็นแพ็จเกจครอบคลุมการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรแล้ว
นอกจากนี้ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญของตระกูลบูรณุปกรณ์ในนามของ "บริษัทช้างคลานพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด" ทำธุรกิจบ้านจัดสรร และค้าที่ดิน แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ใช้ธุรกิจที่ร้อนแรงทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำแต่อย่างใด เพราะเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและจังหวะโอกาส
ธุรกิจกลุ่ม "บูรณุปกรณ์"
ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ - บ.เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด,บริษัทเชียงใหม่สุดาลักษณ์ จำกัด
ธุรกิจโรงแรม - โรงแรมดิเอ็มเพรส โรงแรมเดอะปาร์ค โรงแรมดาวน์ทาวน์อินน์ โรงแรมเมอริตัสเชียงใหม่
ธุรกิจร้านจำหน่ายของที่ระลึก - ร้านจิวเวลรี่ ร้านเครื่องเขิน ร้านขายเครื่องเงินเครื่องทองเหลือง
ธุรกิจเรียลเอสเตท - บริษัทช้างคลานพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
|
|
|
|
|