คราวที่แล้วผมได้แนะนำการหัดเล่นไวโอลินด้วยวิธีการที่เรียกว่า "เล่นก่อนรู้"
โดยใช้วิธีการของ Suzuki ดังที่กล่าวไว้ วิธีการนี้เหมาะกับการเรียนที่มีครูสอน
เพราะตำรา Suzuki จะไม่ค่อยมีเนื้อหาความรู้ พื้นฐาน และแบบฝึกหัดเพื่อการพัฒนานิ้ว
และไม่มีการสอนเรื่อง Scale หรือ Position และการอ่านโน้ต วิธีของ Suzuki
จะไม่เน้นเรื่องเหล่านี้ในแบบเรียนเล่มต้นๆ ถ้าจะหัดเล่นแบบ DIY (Do It Yourself)
วิธีการที่เป็นไปได้สำหรับใช้กับวิธี Suzuki คือหาซื้อเทป หรือซีดี ประกอบการเรียนซึ่งจะมีตัวอย่างการเล่นไวโอลิน
ตามแบบฝึกหัด และส่วนของเปียโนประกอบให้ผู้เรียนเล่นคู่กันไป แบบการร้องคารา
โอเกะ อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำให้หาตำราเล่มอื่นมาหัดประกอบด้วยจะเหมาะ
สำหรับอีกวิธีการหนึ่งที่เรียกว่า "รู้ก่อนเล่น" นั้นจะเหมาะกับผู้ใหญ่ที่ชอบแก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วยตัวเอง
หรือสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางดนตรีมาก่อน ตำราที่ผมขอแนะนำคือ Practical
Method for the Violin โดย Christian Heinrich Hohmann การใช้ตำรานี้ท่านต้องศึกษาอย่างละเอียดที่สุดในส่วนต้นของตำรา
ตั้งแต่หัวข้อ Prefactory Remarks ซึ่งจะกล่าวถึงเครื่องดนตรีและวิธีการเล่นเครื่องดนตรี
ไปจนถึงตัวย่อและสัญลักษณ์ทางดนตรีทั่วไปและ ที่เกี่ยวกับไวโอลินโดยเฉพาะ
หัวข้อต่อๆ มา จะเป็นเรื่องความรู้เบื้องต้นในเรื่องของตัวโน้ตดนตรี การนับจังหวะไปจนถึง
Position Chart
กล่าวถึง Position Chart ผมขอสาธยายเพิ่มเติมว่า ในการเล่นไวโอลิน เนื่องจากบน
Sound Board ที่สำหรับการกดนิ้วมือซ้ายจะไม่มี Frat หรือ เครื่องหมายใดๆ
ให้สังเกต ดังนั้นการใช้นิ้วเพื่อเล่น ตัวโน้ตแต่ละตัวจึงต้องมีการจัดเป็นระบบที่แน่นอน
เพื่อให้ไม่สับสนว่าตัวโน้ตตัวนี้จะต้องกด ณ ตำเเหน่ง ใดด้วยนิ้วไหน (นิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย)
ถ้าขาดระบบจะเกิดความสับสน ยาก ต่อการจดจำและจะเกิดความ คลาดเคลื่อนได้ง่าย
ระบบดังกล่าวเรียกว่า Position ซึ่งจะมีอยู่ 7 ตำแหน่ง สำหรับการเริ่มต้น
เราจะเล่นที่ Position 1 เท่านั้น และตำราที่ใช้หัดเล่นเล่มแรก (หัดกันเป็นปี)
ก็จะอยู่ที่ Position 1 ไม่ไปไหน สำหรับผม ผมตั้งจุดหมายไว้ที่ Position
3 และ Position 5 ด้วย ซึ่งจะสามารถครอบคลุม เพลงเกือบทุกเพลงที่รู้จักและอยากจะเล่น
ตำราของ Hohmann จะเน้นการอ่านโน้ตตั้งแต่ต้น แบบฝึกหัดจะเริ่มเล่นที่บันไดเสียง
C Major จุดนี้เป็นจุดดีและจุดเสีย สำหรับผู้ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นมาก่อนโดยเฉพาะคีย์บอร์ด
จะเข้าใจว่าบันไดเสียง C Major เป็นโน้ตที่อ่านและเล่นง่ายที่สุดเพราะไม่มีตำแหน่ง
Flat หรือ Sharp ซึ่งในคีย์บอร์ดคือคีย์สีดำ
ถ้าใช้ตำรา Hohmann จะรู้สึกสบายตาสบายใจ (อ่านโน้ต) และรู้สึกว่าเพลงเล่นง่าย
แต่ในเรื่องการเล่นของไวโอลินอาจมีความลำบากในเรื่องของนิ้วมือ ตำแหน่งการกดนิ้วที่มีช่วงชิดหรือห่างตามขั้นของบันไดเสียง
C Major ของไวโอลินจะเล่นกว่าเมื่อเทียบกับบันไดเสียง G, D หรือ A
ในการเริ่มฝึกฝนการเล่นไวโอลิน สิ่งที่สำคัญที่สุด 2 สิ่ง คือ หู และวินัย
หู หมายถึงการใช้หูจับเสียงที่ตัวเองเล่นและสามารถบอกได้ว่าเสียงเพี้ยน หรือไม่
แน่นอนเราต้องเริ่มต้นจากการตั้งเสียง แต่ละสายให้ถูกก่อนการเล่น และการเล่นเพลงจะอาศัยเสียงของสายเปล่า
เพื่อการ Tune เสียงของตัวโน้ตตัวอื่นๆ ที่ไม่ใช้สายเปล่าอีกที โดยหูของท่าน
(สมองเสียมากกว่า) จะต้องรู้จำถึงเสียงของทำนองอย่างถูกต้องและละเอียดลออเท่าที่ทำได้
ในกรณีที่ท่านมีความสามารถร้องโน้ตเพลงได้ ท่านจะมีบันไดเสียงอยู่ในหู
(สมอง) ซึ่งท่านสามารถเปลี่ยนตัวโน้ตให้เป็นเสียงที่ถูกต้องได้ ซึ่งจะช่วยการฝึกซ้อมไวโอลินเป็นอย่างดี
ถ้าท่านยังไม่แม่นเรื่องหู ผมแนะนำให้ใช้เครื่องดนตรีที่มีเสียงถูกต้อง เช่น
คีย์บอร์ดช่วยนำทาง และต้องอาศัยความจำ ทั้งตัวโน้ตและเสียงเพื่อการฝึกซ้อม
วินัย เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่งในการฝึกไวโอลิน แต่ละตัวโน้ตในแบบฝึกหัดจากตำรับตำราไวโอลินจะระบุการใช้นิ้ว
ด้วยเลข 0 ถึง 4 เลข 0 คือ สายเปล่า (ไม่ต้องกด) เลข 1 ถึง 4 แทนนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย
ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีการกำหนด การเคลื่อนคันสี ขึ้นหรือลง (Up bow, Down
bow) ช่วงของการสีและตำแหน่งการสี (Upper half, Lower half, Middle of bow,
Whole bow เป็นต้น) นอกจากนั้นยังมีเรื่องของความดัง การเล่น ตัวโน้ตอย่างต่อเนื่อง
หรือสั้นๆ เป็นตัวๆ การเน้นตัวโน้ต หรือการกดนิ้วค้างหลายๆ นิ้ว เป็นต้น
ราย ละเอียดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการฝึกมาก ท่านจะ ต้องมีวินัยเพื่อปฏิบัติตามรายละเอียดที่กำหนด
และ ต้องคอยสังเกตข้อผิดพลาดและพยายามปรับปรุงให้ถูกต้อง พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดีไม่งามตามข้อ
คิดที่ว่า "เล่นตามอำเภอใจจะเป็นภัยต่อการพัฒนา" (ข้อคิดนี้น่าจะใช้กับการเมืองการปกครองได้ด้วย)
นอกจากตำรา 2 เล่มที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ เหมาะกับการหัดไวโอลิน
DIY คือ String Class Method โดย Merle Isaac ตำราเล่มนี้อยู่ตรงกลางระหว่าง
Suzuki กับ Hohmann เป็นการหัดเล่นและหัดโน้ตไปพร้อมๆ กัน แบบฝึกหัดจะเริ่มที่สาย
D และสาย A (เริ่มที่บันไดเสียง D Major) โดยหัดเล่นเป็นกลุ่มของตัวโน้ตจำนวนน้อยๆ
จาก 2 ตัวเป็น 3 เป็น 4 ตัว แบบ ฝึกหัดจะง่ายและซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจดจำตำแหน่งของนิ้วเทียบกับตัวโน้ต
ตำราเล่มนี้เหมือนกับแบบฝึกหัด ต้องหัดเล่นไปครึ่งค่อนเล่มถึงจะมีเพลงที่เป็นเพลง
ถ้าใช้ตำราเล่มนี้ สักระยะหนึ่งควรจะหาตำราอื่น หรือโน้ตเพลงง่ายๆ มาหัดควบคู่กันไป
Check Point ที่ 2 ไม่ว่าจะใช้ตำราเล่มใด ในเวลาประมาณ 2 เดือนท่านควรจะสามารถไล่บันไดเสียง
G, D และ C Major ได้อย่างถูกต้อง โดยเสียงไม่เพี้ยน และน้ำเสียงจากการเล่นตัวโน้ต
เป็นตัวๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงยาวหรือสั้นจะต้องใสชัดเจน ฟังได้ไม่ระคายหู ท่านอาจทดสอบโดยนำ
เหยื่อ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท หรือคนที่บ้านมานั่งฟังท่านเล่นไวโอลิน (เหยื่อ
ต้องมีความเป็นกลางพอสมควร ควรหลีกเลี่ยงคู่อริ หรือบุคคลที่มีอคติ ต่อการหัดเล่นไวโอลินอย่างฝังจิตฝังใจ)
เป็นการทดสอบการพัฒนาการเล่นไวโอลินของท่านเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ หรือถ้าพบปัญหาร้ายแรง
เช่น เสียงไวโอลินของท่านสร้างปัญหาต่อสังคมอยู่ไม่วาย ท่านควรปรึกษาผู้รู้หรือหาครูมาสอนก่อนจะสายเกินไป
คราวหน้าผมจะมาแนะนำเพิ่มเติม และสรุปเรื่องราวของการหัดสีซอเบื้องต้นเป็นลำดับปิดท้าย
แล้วพบกันครับ