ผมขอสาบาน ว่า.....ด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอยู่ (ซึ่งค่อนข้างมีอยู่น้อยนิด
และอาจจะต้องได้รับการปรับปรุงในอนาคต), ระบบบัญชีของบริษัทผมมีความถูกต้อง
(ตามสมควร) ผมได้ตรวจสอบความถูกต้องนี้กับผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้อำนวยการ
ซึ่ง (ผมได้จ่ายให้) เห็นด้วย กับความถูกต้องนี้
นี่เป็นประโยคในปกหน้าของนิตยสารดิอิคอนอมิสต์ ฉบับกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ปกหน้า ของนิตยสารเป็นรูปชายสูงวัยนั่งอยู่ที่กองเอกสารและทำท่าครุ่นคิดกับประโยคดังกล่าว
แน่นอนว่าถ้าใครที่ติดตามข่าวคราวในช่วงปีที่ผ่านมา คงจะนึกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การฉ้อโกง
และตกแต่งบัญชีของบริษัทในวอลล์สตรีทของอเมริกาที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ และส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในอเมริกาที่ทรุดลง
กลางเดือนที่ผ่านมา ถึงกำหนดเส้นตายที่ ก.ล.ต. ของอเมริกา กำหนดให้บริษัทในตลาดจำนวน
695 แห่ง ที่รายได้ต่อปีมากกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ สาบาน (ให้การรับรอง)
ว่ารายงานทางด้านบัญชีและผลประกอบการที่แจ้งไว้ถูกต้อง หรือไม่ก็ยอมรับว่ารายงานที่ส่งไปมีปัญหา
ปฏิกิริยาที่ตามมา คือ บริษัทหลายแห่งไม่มี คำตอบจนกระทั่งผ่านเส้นตายไป
คือไม่ยอมรับและไม่ปฏิเสธว่าบัญชีของตนมีปัญหา หรือว่าถูกต้อง แต่หากคิดด้วยสามัญสำนึกแล้ว
บัญชีเหล่านั้นน่าจะมีปัญหา
นอกจากนี้บริษัทใหญ่ๆ อีกหลายแห่งขอเลื่อนกำหนดออกไป กำหนดที่ว่านี้คือ
กำหนดที่จะสาบานรับรองว่าบัญชีที่เคยส่งไปแล้วมีปัญหาหรือไม่
แม้กระทั่งบริษัทอย่างเช่น AOL Time Warner ซึ่งเป็นเจ้าของ CNN ที่เรารู้จักกันดี
แม้จะส่งคำรับรองไป แต่ก็ยังอุตส่าห์หมายเหตุไว้ว่า ประมาณการรายได้ที่ลงบัญชีไปอาจจะสูงกว่าที่ควรเป็น
การสาบานรับรองความถูกต้องดูจะเป็นแฟชั่นใหม่ในการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในอเมริกา
แต่นั่นคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับบัญชีที่มีการรายงานไปแล้ว แต่อเมริกายังออกกฎเข้มมาอีกให้ผู้บริหารอาวุโสของบริษัททั้งหมด
14,000 แห่งในอเมริกาต้องเซ็นรับรองรายงานของฝ่ายบัญชี โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมของปีนี้
ความหมายของกฎใหม่ที่ออกมานี้ก็คือ ฝ่าย บริหารของบริษัทจะมาแก้ตัวว่าไม่รู้ไม่ทราบโดยการโทษว่าปัญหานั้น
เกิดจากฝ่ายบัญชีเป็นผู้กระทำ แต่ฝ่ายเดียว (เหมือนอย่างที่กำลังทำกันอยู่)
ไม่ได้อีกต่อไป การเซ็นรับรองหมายความว่าฝ่ายบริหารยืนยันว่าตนเองรับรู้ว่าบัญชีถูกทำมาอย่างไร
หากปัญหาเกิดขึ้นฝ่ายบริหารต้องลงมารับผิดชอบ และ ได้รับความผิดหากมีหลักฐานว่าเจตนามิชอบ
ที่น่าสนใจคือมาตรการเช่นนี้จะได้ผลหรือไม่ กับการดึงผู้บริหารให้รับผิดชอบมากขึ้น
คำตอบคือไม่
ผู้รู้วิจารณ์ว่า ในแบบฟอร์มของการเซ็นรับรองเต็มไปด้วยคำประเภทว่า เจตนา
ความรู้ สุจริตใจมากเสียจนว่า ผู้บริหารฉลาดๆ หรือมีที่ปรึกษากฎหมายเก่ง
สามารถหลุดจากการเอาผิดได้ เพียงแต่แสดงบทว่า ตนเองไม่ฉลาด คือ ตนเองทำ เต็มความรู้ความสามารถเท่าที่มีอยู่
นอกจากนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้บริหารระดับสูงยังกำหนดให้ผู้บริหารระดับกลางเซ็นรับรองว่า
รายงานทางบัญชีที่ตนส่งให้ผู้บริหารระดับสูงนั้น ตนได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว
พูดง่ายๆ คือ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้บริหารระดับกลางจะเป็นคนที่โดนจัดการ
ส่วนผู้บริหารระดับสูงทำไปโดยสุจริตใจตามข้อมูลที่ได้ หากผิดพลาดก็เพราะคนยื่นรายงาน
ยื่นรายงานที่เป็นเท็จ
นัยของประโยคข้างต้นจึงไม่ได้มีเพียงแค่เหตุการณ์ของบริษัทเอ็นรอน (Enron)
ซึ่งคนระดับผู้บริหารประเทศเช่นประธานาธิบดี จอร์จ บุช เองก็โดนลากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เนื่องจากพฤติกรรมในสมัยที่เป็นผู้ว่ารัฐเท็กซัส และประธานาธิบดีบุชเองก็ไม่แคล้วต้องเอ่ยประโยคเด็ดดังกล่าว
คือ .......ด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอยู่ ผมไม่ทราบ...... ผมไม่เจตนา.....................ทั้งหมดที่เกิดขึ้น......
..................ผมกระทำไปโดยสุจริตใจ................. แต่ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเวิลด์คอม
(WorldCom) หรือบริษัทอื่นๆ ด้วย
หากมองต่อไป เราอาจจะพบว่าไม่ใช่เหตุการณ์เรื่องการตกแต่งบัญชีเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ 11 กันยายน ที่มีการกล่าวหาหรือกล่าวอ้างกันว่า
หน่วยงานบางหน่วยของอเมริกาทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีการ
เตรียมการป้องกันล่วงหน้า เมื่อโดนสอบผมเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องแต่ละรายก็คงจะเริ่มต้นด้วยประโยคดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้นเราจะพบว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเพียงแค่ 2-3 กรณีนี้เท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงอีกหลายๆ กรณีที่เคยเกิดมาแล้ว กำลังเกิดขึ้น และจะมีมาในอนาคตอีกหลายกรณี
เหตุการณ์เหล่านี้บังเอิญเกิดขึ้นในประเทศที่บ้านเราพยายามนำมาเลียนแบบในเรื่องของ
Good Governance หรือบรรษัทธรรมาภิบาล โดยที่แต่ละคนที่ทำเรื่องนี้ก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดว่า
บ้านเราจะมีวิธีการอย่างไรจึงจะไม่เดินซ้ำตามรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา
ทั้งหมดนี้ทำให้ผมนึกถึงประโยคเด็ดของประเทศๆ หนึ่ง ที่ผู้นำของประเทศให้บังเอิญไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรม
ที่ดูแล้วเข้าข่ายหลีกเลี่ยงการกระทำตามกฎระเบียบ แต่ท่านก็ออกมายอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องโดยสุจริต
ไม่ได้เจตนาและไม่รู้ว่ามันจะผิด แล้วทุกอย่างก็จบไป
แต่ปัญหาอาจจะไม่จบเพียงแค่นี้หากว่าต่อไปบรรดาผู้นำ หรือผู้บริหารทั้งหลายประพฤติ
หรือปฏิบัติในสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร หรือต่อประชาชนแล้วทุกคนอ้างว่าทุกสิ่งที่ทำไปทำไปตามความรู้
และข้อมูลเท่าที่มีอยู่ รวมทั้งสุดความสามารถที่ตนเองมี (ยอมรับว่าความสามารถของตนไม่มากนัก
เมื่อเกิดปัญหา แต่ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาทุกคนล้วนบอกว่าตนเองมีความสามารถสูง)
เราจะทำอย่างไรกัน เราคงหาคนผิด หรือผู้รับผิดชอบต่อปัญหาไม่ได้ เพราะหลายคนจะเรียกร้องหาหลักฐาน
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเรื่องแบบนี้ไม่มีหลักฐานให้เห็น หรือ หากมีก็อาจจะอ้างเอาดื้อๆ
เช่นว่าทรัพย์สินนั้นเล่นการพนันได้มา หรือที่มีหลายบัญชีเพราะไม่ต้องการให้เมียรู้
ถึงที่สุดแล้วเราอาจต้องยอมรับว่าแม้จะมีกฎระเบียบหรือกฎหมายดีอย่างไร
รัดกุมเพียง ใด แต่หากผู้บังคับใช้คำนึงถึงตนเอง ก็คงจะพยายามหาช่องโหว่เพื่อช่วยเหลือตนเองหรือพวกพ้องเอาจนได้
สุดท้ายอาจจะต้องกลับมาที่ประชาสังคม ที่จะสร้างแรงกดดันหรือบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริง
บทความนี้เขียนโดยความสุจริตใจ เท่าที่ ความรู้ความสามารถมีอยู่ หากผิดพลาดหรือกระทบถึงใครก็เป็นไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์