ความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยในปีนี้ มีความโดดเด่นน่าสนใจบางประการที่ควรกล่าวถึงโดยเฉพาะ
ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ที่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ด้วยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติมูลค่า
305,000 ล้านบาท บวกกับการออกหุ้นกู้ของบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท และยังจะมีหุ้นกู้เอกชนรายอื่นๆ
ตามมาอีกหลายราย คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาททีเดียว
เทียบกับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2545 มีการออก หุ้นกู้ภาคเอกชนคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า
30,000 ล้านบาท แล้ว และเมื่อพิจารณาปริมาณการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย
ก็ถือว่าคึกคักอย่างมาก มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในครึ่งปีหลังอยู่ระหว่าง
8,000-10,000 ล้านบาท (ดูตารางมูลค่าซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย)
ในช่วงต้นปีก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ
มีข่าวเรื่องพันธบัตรฯ ออกมาเป็นระยะๆ ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้เกิดความผันผวนอยู่พักหนึ่ง
นักวิเคราะห์บางท่านคาดว่าพันธบัตรฯ จะดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ ไปพอสมควร
แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆ แล้ว สภาพคล่องในระบบ ก็ยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
สะท้อนว่ากลไกการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังทำงานไม่เป็นปกติ
วิสาหกิจหลายแห่งใช้โอกาสนี้ออกหุ้นกู้ขายประชาชนนักลงทุนทั่วไป นำเงินที่ระดมได้มาชำระคืนหนี้สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ
บางรายก็ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ลงทุนตามโครงการที่วางไว้ (ดูตารางการเสนอ ขายหุ้นกู้ภาคเอกชนในเดือน
ต.ค. 2545) การระดมทุนจากประชาชนโดยตรงไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินทำให้ได้ต้นทุนที่ดี
ขณะที่แบงก์สูญเสียโอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อได้
พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาก ในภาวะที่การลงทุนด้านอื่นๆ
เงียบเหงาซบเซา นักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติกันเป็นจำนวนมาก
สะท้อนให้เห็นว่าเม็ดเงินลงทุนจะเคลื่อนไหวไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ซึ่งในกรณีนี้พันธบัตรฯ ให้ผลตอบแทนในอัตราถึง 6.1% ต่อปี เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่
1.25% - 1.75% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1.75% - 2.50% ต่อปี
เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า นักลงทุนได้ชำระเงินพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติแล้ว
ถึง 90% คิดเป็นเงิน 274,500 ล้านบาทในช่วงต้นเดือน ต.ค. และคาดว่าจะมีการชำระเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดชำระในกลางเดือน
ต.ค. อย่างไรก็ดียังมีนักลงทุนที่ขึ้นทะเบียนรอซื้อพันธบัตรอยู่อีกประมาณ
34,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.14% ของมูลค่าพันธบัตรทั้งหมดที่ออก ตัวเลขนี้บ่งชี้ชัดว่าจะมีการชำระเงินค่าพันธบัตรฯ
ครบแน่นอน และสะท้อนด้วยว่า สภาพคล่องในระบบยังมีอยู่อย่างเหลือเฟือ
Feature ที่ดี ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย
ในตลาดพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ออกกันในปีนี้ สิ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ
feature หรือ เงื่อนไขตราสารที่ดีอย่างมากๆ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้ออกตราสารพยายามทุกทางที่จะจูงใจนักลงทุนให้ซื้อให้ได้
ซึ่งเท่าที่สอบถามพูดคุยกับนักวิเคราะห์ ล้วนบอกว่าไม่เคยเห็นเงื่อนไขในตราสารใดจะดีสุดๆ
แบบที่มีในตราสารที่ออกๆ กันมาในปีนี้เลย
อย่างกรณีของพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติและหุ้นกู้ของ TA ก็มีอัตราดอกเบี้ยตายตัว
(fixed rate) และมีตารางการชำระคืนที่แน่นอนหรือมีการทยอยชำระคืนเงินต้น
(amortizing bond) พร้อมจ่ายดอกเบี้ยทุกไตรมาสในกรณีของ TA เป็นต้น เรียกว่าจูงใจจนนักลงทุนไม่ซื้อไม่ได้
ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ดีมานด์ และซัปพลายสอดคล้องกันตรงตัวขนาดนี้
ผู้ซื้อก็อยากจะซื้อและผู้ขายก็อยากจะขาย
แน่นอนในยามนี้ทุกคนคิดถึงปัจจัยความเสี่ยงน้อยมาก โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจโลกไม่มีวี่แววว่าข่าวใดๆ
จะทำให้เกิดบรรยากาศการลงทุนที่สดใสขึ้นมาได้ อัตราดอกเบี้ยก็ยากที่จะโน้มตัวขึ้น
และมีผู้ทำนายด้วยว่าต้องรอไปถึงปลายปี 2546 หรือต้นปี 2547 ด้วยซ้ำ จึงจะมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยผงกหัวขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงอีกข้อหนึ่งที่นักลงทุนพึงคำนึงถึงด้วยคือการดำเนินงานของบริษัท
และการจัดโครงสร้างทางการเงินที่ซับซ้อนจนเกินกว่าจะทำความเข้าใจ ได้อย่างง่ายๆ
ทั้งนี้มีบริษัทหลายแห่งที่ออกหุ้นกู้ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู และต้องเจ็บตัวเมื่อประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
ไม่สามารถชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ ได้
ความคึกคักของการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนและจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้ในปีนี้
ทำให้นักลงทุนคุ้นชินกับการลงทุนในหุ้นกู้กันมากขึ้น เห็นได้จากการถอนเงินออมออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้น
คาดว่าตลาดหุ้นกู้จะขยายตัวต่อเนื่องไปอีกตามภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างปัจจุบัน
ตลาด IPO หุ้นทุนหงอย
ด้านตลาดการออกหุ้นใหม่เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปีนี้
เห็นทิศทางชัดเจนว่าซบเซาลงอย่างมาก โดยหุ้นที่เจอแจ็กพอตจากสถานการณ์ความ
อึมครึมของแนวโน้มภาวะสงครามอ่าวเปอร์เซียรอบสองคือ หุ้นธนาคารไทยธนาคาร
ที่เข้าจดทะเบียนครั้งที่สองในตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่สามารถขายหมด และเมื่อเข้าเทรดแล้ว
ดัชนีหุ้นทรุดต่ำส่งผลราคาหุ้นต่ำกว่าราคาอันเดอร์ไรต์ประมาณเกือบ 3%
สภาพที่เกิดขึ้นกับหุ้นไทยธนาคารเป็นเหตุให้หุ้นรัฐวิสาหกิจอีกหลายตัว
ต้องเลื่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปเป็นปีหน้า และยังไม่รู้ว่าจะมีกำหนดแน่นอนอย่างไร
เพราะต้องรอดูสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลก
ผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนในตลาดแถบเอเชีย-แปซิฟิก ก็ออกมาบอกว่าความต้องการหุ้น
IPO (Initial Public Offering) ขณะนี้ต่ำมาก ผู้ออกต้องตั้งราคาที่ดึงดูดใจ
จึงจะสามารถกระตุ้นความต้องการซื้อได้
ทอมสัน ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นบริษัทที่สำรวจ ข้อมูลตลาดทุนทั่วโลกรายงานผลการสำรวจการออกหุ้นใหม่เสนอขายประชาชนทั่วไป
หรือ IPO ในช่วง 2 ปีนี้ (2544-2545) มีมูลค่า 48.1 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่า
IPO ในปี 2543 ปีเดียวที่มีมูลค่า 50.5 พันล้านดอลลาร์ แม้หลายตลาดในเอเชียจะมีการออกหุ้น
IPO จำนวนมาก แต่สภาพความต้องการหุ้น IPO ก็ยังต่ำอยู่ และยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงปีหน้า
อย่างไรก็ดี อันเดอร์ไรเตอร์ไทยบางราย เช่น บล.แอสเซท พลัส ยังยืนยันที่จะนำหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้
หลังจากที่ตัวบริษัทเองเข้าจดทะเบียนไปล่วงหน้าก่อนที่ นักลงทุนต่างประเทศจะเริ่มถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทย
ซึ่งก็ถือว่าเป็นการมองสวนทางตลาด และเป็นความพยายามที่จะรักษาบรรยากาศ การลงทุนในหลักทรัพย์ไว้
แม้จะเป็นการฝืนทิศทาง ใหญ่ก็ตาม