|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ก.ล.ต.คลายกฎเหล็กคุมกองทุนซื้อตั๋วบี/อี อีกรอบ หลังสมาคมบลจ.โวยเกณฑ์ใหม่ที่จะมีผลในกลางปีหน้าที่บีบให้ต้องมี Firm bid ทำวงการกองทุนป่วน ล่าสุด ก.ล.ต.แก้เกณฑ์ใหม่ด้วยการดึงศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (TBDC) ทำหน้าที่ Firm bid ส่วนตั๋วบี/อี ที่ไม่มีการจัดเรตติ้งจะต้องมีผู้ซื้อเกินกว่า 10 ราย และจะต้องมี บลจ. ร่วมซื้อไม่น้อยกว่า 3 ราย ยังคงเหมือนเดิม
แหล่งข่าวจากวงการกองทุน เปิดเผยว่า หลังจากที่ตัวแทนจากสมาคมได้หารือกับคณะกรรมการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอผ่อน ปรนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การลงทุนในตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) ที่ก.ล.ต.ได้ประกาศในช่วงก่อนหน้า และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 นั้น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เห็นว่าเป็นข้อจำกัดการลงทุน และจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้
สำหรับสาระสำคัญที่สมาคมบลจ.หยิบยก เพื่อ นำเสนอก.ล.ต.เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขคือ เรื่องของการกำหนดให้ต้องมีผู้พร้อมเสนอซื้อ (Firm bid) ซึ่ง จุดนี้ยังมีปัญหา เพราะปัจจุบันการบันทึกบัญชีตามราคาตลาด (mark to market) ของแต่ละบลจ.ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในราคา และทำให้ไม่มีตัวกลางเข้ามาทำหน้าที่ผู้พร้อมเสนอซื้อ
"สมาคมจึงเสนอให้มีตัวกลางเข้ามาทำหน้าที่ Firm bid ซึ่งได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วว่า จะให้ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางกำหนดราคารับซื้อคืน นอกเหนือจากที่ก.ล.ต.ได้กำหนดให้ตั๋วบี/อี หรือหุ้นกู้ต่างๆ ต้องขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย"แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ก.ล.ต.ต้องเข้ามาดูแลในจุดนี้ เนื่องจากการ กำหนดราคาพร้อมรับซื้อ ในช่วงที่ผ่านมา การบันทึกราคาของบลจ.บางแห่งไม่สะท้อนถึงความเป็นจริง แม้จะเป็นการลงทุนในตราสารชนิดเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรม สำหรับบาง บลจ. ที่บันทึกบัญชีตามมูลค่า ที่แท้จริง
ส่วนการลงทุนของกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในตั๋วบี/อี ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับจะต้องมีผู้ซื้อเกินกว่า 10 ราย และจะต้องมี บลจ. ร่วมซื้อไม่น้อยกว่า 3 ราย ก.ล.ต.ยังยืนยันหลักเกณฑ์ตามเดิม เนื่องจากเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้แก่นักลงทุนรายย่อย
แหล่งข่าว กล่าวว่า หลังจากที่ก.ล.ต.แก้ไขประกาศใหม่ เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนผ่านตั๋วบี/อี มี ความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากมีตัวกลางเข้ามาทำหน้าที่กำหนดราคากลางในการรับซื้อคืน และที่สำคัญจะทำให้ความน่าเชื่อถือในด้านข้อมูล ผลการดำเนินงานของบลจ.เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการกำหนดให้การลงทุนในตั๋วบี/อี ที่ไม่มีการจัดเรตติ้ง จะต้องมีบลจ.ถึง 3 รายเข้าไปลงทุน ถือว่ายังเป็นข้อจำกัดในการลงทุน หรือทำให้ผู้ประกอบการที่จะระดมทุนผ่านการออกตั๋วบี/อี มีข้อจำกัด และทำให้ตลาดบี/อี ไม่ได้รับความ สนใจจากผู้ออก และกองทุนรวมก็อาจไม่สนใจที่จะออกกองทุนใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีความยุ่งยาก ซึ่งจุดนี้ ก.ล.ต.ควรที่จะมองในแง่ของการกำหนดมูลค่า การลงทุนของแต่ละกองทุน มากกว่าที่จะกำหนดให้ว่าต้องมีกี่กองทุนเข้าไปลงทุน ถึงจะนำมาเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าบลจ.หลายแห่งในขณะนี้ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.เกี่ยวกับการโฆษณากองทุน เพราะหลักเกณฑ์ที่ประกาศออกมาไม่สะท้อนกับความเป็นจริง ซึ่งเห็นได้จากการที่นักลงทุนจะเข้าไปซื้อหน่วยลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผ่านโบรกเกอร์ หรือผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคารพาณิชย์ ตามปกติแล้วนักลงทุนแต่ละคนย่อมถามถึงผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งแต่ละแห่งต้องตอบคำถามกับนักลงทุนอยู่แล้ว แต่การที่ก.ล.ต.มาตีกรอบไม่ให้ผู้บริหารกล่าวถึงผลตอบแทน แล้วนักลงทุนจะสามารถทราบผลตอบแทนได้อย่างไร
"ที่สำคัญหากผู้บริหารของบลจ.เป็นผู้ออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับผลตอบแทนแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่เขาพูดจะเป็นสิ่งที่ผูกมัด และก่อนที่ผู้บริหารจะตัดสินใจกล่าวถึงผลตอบแทนในอนาคต เชื่อว่าทุกฝ่ายต่างได้มีการประเมินถึงแนวโน้มรายได้ในอนาคตอยู่แล้ว เรื่องนี้ก.ล.ต.ไม่น่าเข้ามาควบคุม แต่สิ่งที่ควร เข้ามามีบทบาทน่าจะเป็นการตรวจสอบว่า หลังจากที่ให้ความเห็นเรื่องของผลตอบแทน แล้วเขาสามารถทำได้หรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ ก.ล.ต. อาจเข้ามาตรวจสอบหรือกำหนดบทลงโทษในอนาคตก็ไม่น่าจะมีปัญหา" แหล่งข่าวกล่าว
|
|
|
|
|