วิวัฒนาการทางสังคม เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูจะเป็นบทสรุปที่เป็นสัจธรรม
แต่พลังอันทรงอิทธิพลก็สามารถบังคับให้วิวัฒนาการนั้นไปอย่างช้าๆ หรือเร็วก็ได้
เป็นเรื่องน่าคิด น่าศึกษา
เช่นเดียวกับคนที่ชอบอ้างวิวัฒนาการนั้น ย่อมจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากวิวัฒนาการ
น่าจะเป็นบทสรุปที่ควรจะถูกต้องบ้างไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกัน
ผู้นำซีพีเข้าใจวิวัฒนาการทางสังคมไทยมากคนหนึ่ง และที่สำคัญเขาสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจจากวิวัฒนาการนั้นได้อย่างมหัศจรรย์
ในช่วง 30 ปีมานี้ เริ่มต้นจากการควบคุมและขี่วิวัฒนาการใหม่ของการเลี้ยงไก่
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันซีพีกำลังหันทิศอย่างเต็มกำลังสู่การค้าปลีก
ขณะเดียวกันกำลังซุ่มทดลองและขายความคิด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระแสวิวัฒนาการที่ดูเหมือนเชื่องช้าที่สุดของไทย
นั่นคือการทำนา
แนวคิดของธนินท์ เจียรวนนท์ ดูยิ่งใหญ่และน่าติดตาม
โมเดลความคิดทางยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ มีขั้นตอนที่น่าศึกษามากทีเดียว
ขั้นแรก - เชื่อมั่นในวิวัฒนาการนั้นว่ามันกำลังมาถึง ความเชื่อมั่นมาจากการมองภาพนั้นไปข้างหน้า
หรือที่เรียกกันว่าวิสัยทัศน์ ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ล้วนมาจากศึกษาวิวัฒนาการในระดับโลก
ที่วิวัฒนาการแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคไม่ทัดเทียมกัน จากนั้นจึงเข้าถึงโมเดลวิวัฒนาการหนึ่ง
ที่ก้าวหน้ากว่าสังคมไทยพอสมควร ศึกษาอย่างลึกซึ้งที่ว่าด้วยแรงขับเคลื่อนวิวัฒนาการให้ดำเนินไปข้างหน้า
อย่างมีขั้นมีตอน ประสบการณ์ของซีพีระบุว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญจะอยู่ที่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการจัดการเป็นหัวใจ
บทเรียนในอดีตของซีพีที่ว่าด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในวิวัฒนาการนั้น
ส่วนใหญ่มาจากการทดลอง ในปี 2515-2517 ซีพีทดลองสร้างระบบ Contract Farming
เพื่อพัฒนาการเลี้ยงไก่ในชุมชนเล็กๆ ที่ยากจนที่สุด ในทำนองเดียวกัน ในปัจจุบันกำลังซุ่มศึกษาโมเดลการทำนาแบบประสมประสานใหม่
ในชุมชนที่แห้งแล้งที่สุดในภาคอีสานตอนใต้ ทั้งสองกรณีนี้มีความจำเป็นอย่างสูงในการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขในประเทศไทย
ส่วนค้าปลีกแค่ศึกษาบทเรียนในต่างประเทศก็เพียงพอแล้ว
ที่สำคัญมาก ยุทธศาสตร์นี้จะต้องมุ่งไปที่โครงสร้างเดิมที่เกี่ยวข้องกับสังคมระดับกว้าง
และมีวิวัฒนาการที่ล้าหลังเอามากๆ ด้วย
ขั้นที่สอง - กระตุ้นวิวัฒนาการ แรงกระตุ้นวิวัฒนาการเป็นงานที่ยากลำบากที่สุด
เพราะมักจะมาพร้อมกับแรงต้านวิวัฒนาการนั้น ประสบการณ์ในอดีตในเรื่องการเลี้ยงไก่แบบใหม่มีมากพอทีเดียว
เช่นเดียวกันปัจจุบันกำลังเผชิญแรงต้านอย่างรุนแรง จากระบบค้าปลีกแบบเดิมของสังคมไทย
การกระตุ้นที่สำคัญ ไม่อาจจะทำตามลำพังในเชิงธุรกิจเท่านั้น หากจะต้องเข้าถึงกลไกของรัฐ
และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง "การเข้าถึง" ที่ว่ามีความหมายหลายมิติ ไม่เพียงเข้าไปขายความคิด
ให้ความคิดนั่นฝังเข้าไปในกลุ่มผู้นำ และผู้มีอิทธิพลในสังคมไทย เพื่อผลักดันกติกาที่สนับสนุนวิวัฒนาการเกิดขึ้น
หากรวมถึงศึกษาแนวทางการพัฒนาสังคมไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประกอบด้วย
วิวัฒนาการเลี้ยงไก่แบบใหม่ภายใต้การควบคุมดูแลของซีพีคงไม่เกิดขึ้น หากระบบธนาคารไทยไม่ถูกบังคับให้เข้าไป
มีส่วนเกื้อหนุนในภาคการเกษตร หรือแม้กระทั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้สร้างบุคลากรรองรับการเกษตรสมัยใหม่ไว้จำนวนมากพอ
เช่นเดียวกันหากสังคมไทยไม่พัฒนาระบบคมนาคมในหัวเมืองมากพอ การกระตุ้นวิวัฒนาการนั้นก็คงเกิดขึ้นไม่ง่าย
ปัจจุบันซีพีกำลังเผชิญปัญหาที่ใหญ่พอสมควร มาจากแรงต้านวิวัฒนาการค้าปลีก
เพราะเป็นการต่อสู้ระดับนโยบายของรัฐ เข้าใจว่าเรื่องนี้ ธนินท์ เจียรวนนท์
คงต้องออกแรงไม่น้อยไปกว่าการได้มาซึ่งสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเมืองหลวงในวัยที่หนุ่มแน่นกว่านี้
เมื่อ 10 ปีก่อนเป็นแน่ ผมแนะนำให้ติดตามดูละครแห่งชีวิต ที่กระทรวงพาณิชย์อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านสะเทือนใจได้
ขั้นที่สาม - ควบคุมและขี่วิวัฒนาการ แนวทางของซีพีที่ถือเป็น Grand Strategy
ก็คือการเข้าควบคุมกลไกวิวัฒนาการ ซึ่งได้แก่เทคโนโลยีและ การจัดการ
ซีพีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนปฏิวัติการเลี้ยงไก่ในภูมิภาคนี้ แต่ความจริงซีพีใช้เทคโนโลยีจากตะวันตก
ที่ว่าด้วยการพัฒนาพันธุ์ไก่มาประยุกต์เข้ากับการจัดการ ที่เป็นแบบฟาร์มขนาดใหญ่แบบตะวันตก
มาสู่การสร้างฟาร์มย่อยของเกษตรกร บวกกับฟาร์มใหญ่ของตนเอง การจัดการในเรื่องนี้มีความหมายถึง
การเลี้ยงไก่โดยควบคุมและดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นระบบที่คาดหมายได้ในเชิงอุตสาหกรรม
เช่นเดียวกับการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อเข้าแทรกแทนที่ธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมซึ่งล้าหลังมาก ซีพีอาศัยเทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวการค้าปลีกของคนอื่นๆ เพื่อมีน้ำหนักในการควบคุมมากพอ
จึงใช้ยุทธวิธีเข้าลงทุนธุรกิจนี้กับเจ้าของเทคโนโลยีหลายราย และหลายระดับ
เริ่มตั้งแต่การค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยการลงทุนร่วมกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร
และ Makro แห่งฮอลแลนด์ มาจนถึงค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งเข้าปะทะกับระบบการค้าแบบเดิมที่เรียกว่า
"โชวห่วย" โดยตรง เข้าร่วมทุนกับ 7-Eleven แห่งญี่ปุ่น ด้วยแนวทางนี้ซีพีจึงสามารถสร้างโมเมนตัมที่แรงพอสมควร
เพื่อเข้าสู่กระแสวิวัฒนาการค้าปลีก และสามารถขี่กระแสนั้นได้
ส่วนเรื่องข้าว ขณะนี้เพียงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและขายความคิด ยังจำเป็นต้องใช้เวลาและพลังงานอีกมากทีเดียว
ว่าไปแล้วเวลานั้นก็ใกล้จะมาถึงแล้วเช่นกัน ผมเชื่อว่าการเข้าสู่วิวัฒนาการเรื่องข้าวเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
และยากที่สุด ซีพีจะเข้าสู่เรื่องนี้ก็ต่อเมื่อใหญ่พอ มีแรงมากพอ และทรงอิทธิพลมากพอในสังคมไทย
ซึ่งว่าไปแล้วก็ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้วเช่นกัน