|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ไออาตา" ออกโรงจี้คณะที่ปรึกษาพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประชุมด่วน หลังจัดตั้งแล้ว 4 เดือนไม่เคยประชุมเลยแนะต้องทดสอบก่อนเปิดจริง 6 เดือน ด้านสายการบินโวยรัฐ ต้องการวันเวลาแน่นอนในการย้ายไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพราะต้องวางแผนล่วงหน้า เกรงเปิดใช้จริงโกลาหลทั้งนักท่องเที่ยวและสายการบิน ส่วนระบบโทรศัพท์ยังวุ่นไม่เลิก เบื้องหลัง ทอท.ปันใจให้กลุ่มทรูเบี้ยวเซ็นสัญญา ด้าน "สรอรรถ" นัดถกปัญหา "พงษ์ศักดิ์" เกรงทีโอทีเสียหายหนักหลังลงทุนแล้ว 1.3 พันล้านบาท ฝ่าย ส.ว. อัดนายกฯสร้างภาพเที่ยวบินปฐมฤกษ์กลบเกลื่อนประเด็นทุจริต
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ออกคำแถลงวานนี้ (28) เรียกร้องให้คณะที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกระทรวงคมนาคมของไทยแต่งตั้งขึ้นเมื่อ 4 เดือนก่อน ต้องประชุมกัน "โดยด่วน" เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการท่าอากาศยานในเชิงพาณิชย์ได้ในปีหน้า
คำเตือนของไออาตา ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศด้าน การขนส่งทางอากาศ ที่มีความสำคัญยิ่ง มีขึ้นเพียง 1 วันก่อนจะมีการทดลองนำเครื่องบินเที่ยวแรกร่อนลงจอดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยสารไปด้วย และได้รับการประโคมข่าวอย่างเอิกเกริก
คำแถลงของไออาตาระบุว่า ถึงแม้ทางไออาตา, สายการบินต่างๆ, และทางท่าอากาศยาน ได้เปิดการ เจรจากับคณะกรรมการชุดหนึ่งอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมก็ได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาพิเศษชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งปรากฏว่ายังไม่ได้เคยประชุมหารือกันเลย
"เนื่องจากคณะที่ปรึกษาของกระทรวงคมนาคม ยังไม่เคยได้ประชุมพบปะกันเลยนับแต่จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ (คณะที่ปรึกษาชุดนี้) จะต้องประชุมกันอย่างเร่งด่วน" ไออาตากล่าวในคำแถลง
นอกจากนั้น ไออาตายังแนะนำว่าควรต้องทดสอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะเริ่มต้นการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความยุ่งยากซึ่งท่าอากาศยานแห่งใหม่ไม่ว่าในกรุงกัวลาลัมเปอร์หรือที่ฮ่องกงได้เคยประสบมาแล้ว สายการบินขอแผนย้ายที่ชัดเจน
นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำประเทศไทย และพม่า สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิก กล่าวถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในกลาง ปี 2549 ว่า สิ่งที่สายการบินทุกสายกำลังรอและกังวลอยู่ในขณะนี้ คือต้องการให้บริษัท ท่าอากาศ-ยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.กำหนดวันที่จะให้ขนย้ายออฟฟิศจากสนามบินดอนเมืองไปอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เมื่อใด โดยต้องการความชัดเจนในเรื่องของวันเวลาโดยเร็วที่สุด เพราะจะได้นำไปกำหนดแผนการทำงาน เนื่องจากการขนย้ายและวางระบบต้องใช้เวลา แต่ในส่วนของความพร้อมของสนามบินที่จะพร้อมเปิดให้บริการ คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เชื่อว่า การท่าอากาศยานจะต้องทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว
นายธนวัฒน์ เด่นนภาสุรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบิน KLM กล่าวว่า การเลื่อนเปิดบริการของสนามบินสุวรรณภูมิที่ผ่านมา ประกอบกับความคืบหน้าของโครงการ ณ ปัจจุบัน สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือเรื่องของระบบการจัดการ ณ วันที่เริ่มเปิดบินเชิงพาณิชย์ในกลางปีหน้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันชัดเจนนั้น จะทำได้ดีสมบูรณ์ 100% หรือไม่ เพราะถ้าไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดปัญหาทั้งกับแอร์ไลน์ และนักท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ก็ยอมรับว่า ทุกสนามบินที่เปิดใหม่ย่อมมีปัญหา แต่เอกชนก็ต้องการให้รัฐบาลการันตีทำให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจและไม่วุ่นวายเกินไปนักเมื่อเปิดทำการบิน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ KLM ยังคงมีเที่ยวบินเท่าเดิมไม่เพิ่มหรือลด โดยเฉพาะเส้นทาง กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ที่บินวันละ 1 ไฟลต์ ส่วนระบบการคมนาคมขนส่งที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและ ผู้โดยสาร ที่ลงจากสายการบินเข้ามาในกรุงเทพฯ หรือเมืองชั้นใน เป็นหน้าที่ภาครัฐที่จะต้องเตรียมให้พร้อม สายการบินเพียงชี้แจงลูกค้าถึงการเปลี่ยน สนามบินเท่านั้น "สรอรรถ" นัดถก "เพ้ง"
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงกรณีทอท.ไม่ยอมเซ็นสัญญา กับบริษัท ทีโอที เพื่อให้บริการระบบโทรศัพท์และระบบสื่อสารในสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า จะหารือกับ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคมและคาดว่าจะสามารถตกลงได้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดความเสียหายกับทีโอทีที่ลงทุนวางระบบไปแล้ว 1.3 พันล้านบาท
"ทีโอทีเซ็นเอ็มโอยูกับทอท.ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2546 หากทอท.ต้องการเปิดเสรีให้เอกชนทุกรายเข้าไปให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ควรแจ้งตั้งแต่ตอนเซ็นเอ็มโอยู ไม่ใช่มาบอกตอนที่ติดตั้งระบบไปพร้อมกับการก่อสร้างอาคารแล้ว"
อย่างไรก็ตาม หากทอท.ต้องการให้มีผู้ให้บริการหลายรายก็อาจจะให้เอกชนเข้ามาเช่าเครือข่ายของ ทีโอทีหรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ทอท. ต้องซื้อโครงข่ายทั้งหมดไปบริหารจัดการเอง แต่ในส่วนระบบของโทรศัพท์มือถือนั้นไม่เกี่ยวข้องกับทีโอที เพราะทอท.ว่าจ้างบริษัทอื่นไปวางจุดเชื่อมต่อวงจรเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือแก่ผู้ประกอบการทุกรายแล้ว
"หากไม่เกิดความชัดเจนจะส่งผลกระทบกับการเข้าตลาดของทีโอที โดยเฉพาะหากมีการฟ้องร้องกันขึ้น"
นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากบอร์ดของ ทอท.เปลี่ยนแปลงสัญญาในหมวดที่ 10 ซึ่งเป็นเรื่องขอบเขตการให้บริการ โดย ทอท.เพิ่มประโยคว่า "ทอท.สงวนสิทธิ์ที่จะอนุญาตเพิ่มเติม ผู้ให้บริการรายอื่นได้ตามความเหมาะสม" ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะถือว่าอยู่ที่ดุลพินิจของ ทอท. ในขณะที่หากใช้คำว่าตามความจำเป็น อาจดูเหมือนเป็นเจตนาที่ดีกว่าเผื่อไว้กรณีบริการของทีโอทีมีปัญหาก็สามารถใช้บริการจากเอกชนรายอื่นได้เพราะมีความจำเป็น ซึ่งทีโอทีก็ยินดีตามนั้นหากทีโอทีให้บริการไม่ได้ตามมาตรฐานที่ตกลงกัน
"เรื่องเจตนาต้องถามบอร์ด ทอท. แต่ผมได้ยิน ว่าบอร์ดได้อนุมัติเพิ่มให้บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นมาให้บริการอีกราย ไม่รู้จริงหรือเปล่า หรือลองถามสำนักอัยการดูก็ได้" นายธีรวิทย์กล่าว
เขาย้ำว่าบริการของทีโอทีมีศักยภาพเพียงพอ รองรับการใช้งานได้ถึง 10 ปีหรือประมาณ 1 แสนเลขหมาย รวมทั้ง ทีโอทีมีระบบสำรองทั้งไมโครเวฟ ระบบเคเบิลใยแก้ว และระบบดาวเทียมสื่อสาร นอกจากนี้ทีโอทียังตกลงกับทอท. 2 เรื่องคือส่วนแบ่งรายได้ที่ทอท.จะได้รับจากทีโอทีในอัตรา 3-10% และค่าปรับที่สูงถึง 18% หากผิดนัดชำระซึ่งสูงกว่าอัตราที่ควรจะเป็นระดับดอกเบี้ยปกติ 7.5%
"ทีโอทีวางระบบเสร็จแล้ว 99.5% หากทอท. ต้องการให้มีหลายรายก็ควรบอกตั้งแต่เซ็นเอ็มโอยู 2 ปีที่แล้วไม่ใช่เพิ่งบอกวันที่จะมีการเซ็นสัญญา"
ด้านนายสมชัย สวัสดิผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท.กล่าวว่าเรื่องการเซ็นสัญญาระบบสื่อสารไม่กระทบกับการบินเที่ยวปฐมฤกษ์วันนี้ (29 ก.ย.) และทอท.คาดว่าสัปดาห์หน้าก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ เพราะอาจต้องหารือกับสำนักงานอัยการถึงรายละเอียดในสัญญา ซึ่ง ทอท. เลือกทีโอทีซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกันมาเป็นผู้วางระบบในลักษณะ First Priority แต่ไม่ได้หมายความ ว่าทีโอทีจะเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (Single Provider) ระบบโทรศัพท์และระบบสื่อสารในสนามบินสุวรรณภูมิเพราะการให้บริการระบบที่ดีหมายถึง ต้องมีระบบเผื่อเลือกที่สามารถเข้ามาทดแทนหากเกิดกรณีที่ระบบไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ทีโอทีตกลงกับทอท.
"ทอท.ได้อนุญาตให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นลากสายเข้ามาจ่อที่รอบนอกของสนามบินสุวรรณภูมิ แล้ว เพราะไม่ได้กระทบสัญญาที่จะทำกับทีโอที เนื่องจากยังไม่ได้เข้ามาในพื้นที่ของสนามบิน และถือเป็นระบบสำรองให้ทอท.มีทางเลือกเพิ่มขึ้น"
นายการุณ ใสงาม ส.ว. บุรีรัมย์กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาการตรวจสอบการทุจริต ของสนามบินสุวรรณภูมิของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการ ทุจริตที่มี พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม. เป็นประธานว่า ขณะนี้การพิจารณาทั้งหมดกำลังจะได้รับข้อสรุปที่ชัดเจนในวันอาทิตย์หน้าที่จะถึงนี้ โดยตนเป็นคนร่างสรุปทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งงานนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างแน่นอน และหลังจากสรุปทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วกรรมาธิการจะดำเนินการฟ้องร้องบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวกับการทุจริตทั้งหมด
ส่วนการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิปฐมฤกษ์ ในวันนี้ (29 ก.ย.) ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้นเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็น การสร้างภาพเพื่อกลบเกลื่อนการทุจริตสนามบินหนองงูเห่า หลายครั้งที่เกิดกรณีวิจารณ์เรื่องการทุจริตซีทีเอ็กซ์รัฐบาลก็จะใช้วิธีการหลบเลี่ยงเบี่ยงเบน ประเด็นเช่นนี้มาตลอด
|
|
|
|
|