เคเบิลใต้น้ำข้ามแอตแลนติกสายประวัติศาสตร์
John Steele Gordon เป็นนักเขียนเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ ที่มีผลงานเขียนมาแล้วมากมาย
คราวนี้เขาหันมาจับเรื่องราวของคนและเทคโนโลยี ที่อยู่เบื้องหลังการวางสายเคเบิลใต้น้ำข้าม
มหาสมุทรแอตแลนติกเส้นแรกของโลก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ช่วง ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร
ทั้งๆ ที่สายเคเบิลใต้น้ำข้ามแอตแลนติกสายแรกนี้ นับเป็นการเชื่อมการ สื่อสารระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่ง นำไปสู่ยุค "ศตวรรษแห่งอเมริกัน" (American
Century)
ในเวลาต่อมา Gordon สำรวจตรวจสอบประวัติศาสตร์สำคัญช่วงนี้อย่างละเอียดลออและตื่นเต้นเร้าใจ
เพราะนับเป็นครั้งแรกในโลกที่การส่งข้อความเป็นระยะทางไกลมากๆ และด้วย ความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หนังสือของ Gordon ได้แสดงให้เราเห็นถึงความมุ่งมั่นและความ
เพียรพยายามอย่างไม่ลดละ อันน่ายกย่องของบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังโครงการยักษ์นี้
จนสามารถบรรลุถึงความสำเร็จในที่สุด
Gordon เริ่มต้นหนังสือของเขาด้วยการสรุปความก้าว หน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญๆ
ที่ในที่สุดได้นำไปสู่การประดิษฐ์ คิดค้นโทรเลขขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
สำคัญๆ เหล่านั้นได้แก่ การทดลองเรื่องไฟฟ้าอันน่าหวาดเสียว ของ Benjamin
Franklin การค้นพบวิธีส่งไฟฟ้าผ่านสายลวดของ Sir William Watson และการประดิษฐ์รหัสมอร์สของ
Samuel F.B. Morse
หลังจากผู้คนเริ่มใช้สายโทรเลขส่งข้อความถึงกัน ด้วยความรวดเร็วกว่าวิธีเก่าๆ
ถึงหลายพันเท่าแล้ว ยุโรปและสหรัฐฯ ต่างก็เร่งวางสายโทรเลขเชื่อมต่อภายในภูมิภาคและประเทศของตน
โดยยังมิได้มีความคิดที่จะเชื่อมสายโทรเลขถึงกันแต่อย่างใด เพราะระยะทางระหว่างกันอันแสนไกลและการมีมหาสมุทรแอตแลนติกขวางกั้นอยู่
อย่างไรก็ตาม หลังจากฝรั่งเศสกับเกาะอังกฤษสามารถเชื่อมถึงกันได้สำเร็จ ด้วยเคเบิลที่ทอดวางอยู่ใต้ช่องแคบอังกฤษ
(English Channel) แล้ว ความคิดที่จะเชื่อม 2 ฟากฝั่งของแอตแลนติกด้วยความมหัศจรรย์ของโทรเลข
จึงเริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงๆ จังๆ
รวมพลังนักลงทุนและวิศวกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
Cyrus Field สนับสนุนความคิดที่จะวางสายเคเบิลใต้น้ำที่จะต้องกินระยะทางยาวไกลถึง
2,000 ไมล์ และอยู่ในระดับความลึกถึง 2,600 ฟาทอม อย่างสุดตัว และเขาต้องใช้เวลาถึง
12 ปี ล้มแล้วลุกอีก 5 ครั้ง และต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากอีกนานัปการ
จึงสามารถทำงานช้างซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนนี้ได้สำเร็จ Field เป็นคนเดียวในขณะนั้น
ที่มีความสามารถมากพอที่จะรวบรวมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ นักลงทุนและวิศวกรในยุคนั้น
ให้มารวมพลังกันทำความฝันอันยิ่งใหญ่นี้ให้กลายเป็นจริง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สหรัฐฯ
ไม่ต้องถูกตัดขาดจากประเทศอื่นๆ ในโลกเพราะระยะทางอันห่างไกลอีกต่อไป
การอ่านเรื่องราวของครอบครัวและชีวิตในวัยเด็กของ Field ทำให้เราได้พลอยรับรู้ความเป็นไป
ในยุคที่นิวยอร์กกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหรัฐฯ ไปด้วย เมื่อ
Cyrus Field สามารถถีบตัวเองขึ้นมาจากเสมียนหน้าร้านกระจอกๆ สู่นักธุรกิจค้าส่งกระดาษและวัสดุการพิมพ์
ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ ทรัพย์สินเงินทองของเขาก็พอกพูนใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับความฝันของเขา
ในขณะที่ความคิดที่จะวางสายเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทร แอตแลนติกอันกว้างใหญ่ไพศาลเพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างในใจของนักธุรกิจอื่นๆ
Cirus Field ได้ลงมือแล้ว เขามุ่งมาดปรารถนาที่จะแปรความคิดอันยิ่งใหญ่นี้ให้กลายเป็นจริงให้ได้
โครงการขนาดยักษ์ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนนี้ จำเป็นต้องได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
และต้องการความร่วมแรงร่วมใจอย่างสูงสุด และ Field คือผู้ที่สามารถนำนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมาก
ผู้ครอบครองเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ให้มาจับมือกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม
จนสามารถเนรมิตความฝันอันยิ่งใหญ่ของเขา ให้กลายเป็นจริงได้สำเร็จ
รากฐานทางเทคโนโลยีของโลกไร้พรมแดน
หลังจากล้มลุกคลุกคลานกับความสำเร็จ สลับกับความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน
ในที่สุด อภิมหาโครงการยักษ์นี้ก็บรรลุ ความสำเร็จ ในปี 1866 Cyrus Field
สามารถวางเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
โลก ซึ่งเท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่า นับแต่นี้ การวางสายเคเบิลใต้น้ำ เป็นระยะทางไกลๆ
ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป และนับแต่นั้น ยุโรปกับสหรัฐฯ ก็จะไม่มีวันขาดการติดต่อสื่อสารกันอีกตลอดไป
หลังจากบอกเล่าเรื่องราวอันน่าทึ่งของคนที่อยู่เบื้องหลังโครงการประวัติศาสตร์นี้แล้ว
Gordon ก็ได้ตอกย้ำความสำคัญของ เคเบิลข้ามแอตแลนติกสายแรกของโลกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้วยการเปรียบเทียบขีดความสามารถและต้นทุนของเทคโนโลยีการสื่อสาร สมัยใหม่ในยุคนี้กับการส่งโทรเลข
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคแรกเริ่ม ท้ายสุด Gordon ยกย่อง Cyrus Field
ว่าเป็นผู้ "วางรากฐานทางเทคโนโลยีของโลกไร้พรมแดน" ในปัจจุบัน