|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2548
|
|
หลายๆ คนมักจะพูดกันเสมอๆ ว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในการมีลูก เพราะมีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็ก วัยเด็กที่นี่ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สดใส เด็กที่นี่โดยส่วนใหญ่จะได้มีโอกาสวิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน อย่างที่เด็กควรจะได้รับอย่างแท้จริง นอกจากสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว สังคมโดยทั่วไปยังให้ความสำคัญกับเด็กผู้หญิง และครอบครัวเป็นอย่างสูง ความสำคัญของแม่และเด็กก็เป็นรากฐานที่สำคัญของระบบการทำคลอดในนิวซีแลนด์อีกด้วยเช่นกัน
การทำคลอดในนิวซีแลนด์ นอกจากจะเป็นบริการฟรีจากรัฐบาลที่แทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แล้วยังเป็นบริการที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ครอบคลุมไปจนกระทั่ง 4-6 สัปดาห์หลังคลอดเลยทีเดียว ขั้นตอนการทำคลอดนี้ก็เริ่มขึ้นเมื่อคุณแม่รู้ว่า ตัวเองตั้งครรภ์ก็จะต้องติดต่อหาผู้ที่จะมาเป็นคนทำคลอดและรับผิดชอบในกระบวน การทำคลอดทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า Lead Maternity Carer (LMC) LMC นี้ก็อาจจะเป็นแพทย์ทั่วไป (General Practitioner) หรือผดุงครรภ์ (Midwife) ก็ได้ นอกจากนั้นคุณแม่ก็สามารถเลือกสูตินรีแพทย์ (Obstetrician) ได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่างหาก สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข คุณแม่มากกว่า 70% ของทั้งหมด เลือกผดุงครรภ์เป็น LMC แทนที่จะเลือกหมอ สาเหตุที่สำคัญก็คือ คุณแม่ชาวกีวีส่วนใหญ่เชื่อว่าผดุงครรภ์นั้นมีความชำนาญในการทำคลอดแบบธรรมชาติมากกว่าหมอ และผดุงครรภ์ยังให้การดูแลอย่างใกล้ชิดในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดได้ดีกว่าหมออีกต่างหาก
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงไม่ค่อยคุ้นกับระบบผดุงครรภ์มากนัก ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นระบบการทำคลอดที่ใช้ในประเทศตะวันตกหลายประเทศเช่นกัน แม้ผดุงครรภ์จะไม่ใช่หมอ แต่ผดุงครรภ์ก็ต้องจบปริญญาด้านนี้มาโดยเฉพาะ และผดุงครรภ์ที่รับเป็น LMC ส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ในการทำคลอดในโรงพยาบาลมาเป็นเวลาพอสมควร หน้าที่สำคัญของผดุงครรภ์ นอกจากจะเป็นผู้ที่ทำคลอดแบบธรรมชาติให้กับคุณแม่แล้ว ผดุงครรภ์ยังต้องรับผิดชอบให้การดูแล ตรวจเช็กร่างกายของทั้งแม่และเด็กในระหว่างการตั้งครรภ์ รวมไปถึงจัดการนัดอัลตราซาวน์ ตรวจเลือด เช็กน้ำตาลในเลือด และตรวจด้านอื่นๆ ให้กับคุณแม่ นอกเหนือจากนั้นผดุงครรภ์ยังรับผิดชอบในการดูแลและให้คำปรึกษาไปจนกระทั่ง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด อันที่จริงแล้ว บริการหลังการคลอดนี้ก็มีความสำคัญโดยเฉพาะกับพ่อแม่มือใหม่ไม่แพ้การทำคลอดเลยทีเดียว ผดุงครรภ์จะช่วยสอนเทคนิคการให้นมลูก การเปลี่ยนผ้าอ้อม การอาบน้ำเด็ก การนอนของเด็ก และด้านอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งสำคัญของระบบการคลอดของนิวซีแลนด์อีกประการหนึ่งก็คือ การให้การศึกษาอบรมกับพ่อแม่ที่กำลังจะมีบุตร โรงพยาบาลที่นี่จะเปิดโครงการอบรมถึงขั้นตอนการทำคลอดและการปฏิบัติตัวหลังคลอดที่เรียกว่า 'Antenatal Class' ให้กับประชาชนโดยทั่วไป คุณพ่อและแม่มือใหม่โดยส่วนใหญ่ก็มักเลือกเข้าทำการอบรมนี้ ซึ่งเป็นบริการฟรีที่ใช้เวลาการอบรมประมาณ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาประมาณ 8 สัปดาห์ การเข้ารับการอบรมนี้นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ขั้นตอนการคลอดอย่างถูกต้องแล้วยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพ่อแม่ที่กำลังจะมีบุตรอีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่หลายๆ คู่ที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันได้ทำความ รู้จักกันและพบปะสังสรรค์ เพื่อจะได้มีโอกาส ช่วยเหลือกันในอนาคต
ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การสนับสนุนการคลอดแบบธรรมชาติอย่างกว้างขวาง คุณแม่ชาวกีวีโดยส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ในการเบ่งคลอด แม้หลายรายในที่สุดจะต้องจบด้วยการผ่าตัดก็ตาม จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข มีเพียง 22% ของการคลอดทั้งหมดที่เป็นการคลอดด้วยการผ่าตัด และ 14% จาก 22% นี้ ก็เป็นการผ่าตัดหลังจากที่คุณแม่พยายามคลอดโดยธรรมชาติแต่ไม่สามารถคลอดเองได้ ดังนั้นจึงมีเพียงแค่ 8% ของการคลอดทั้งหมดที่เป็นการนัดผ่าตัดมาตั้งแต่แรก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการความผิดปกติของทารกในครรภ์มากกว่าเป็นความตั้งใจที่จะเลือกผ่าตัดของคุณแม่เอง
นอกจากนั้นการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ ก็ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างกว้างขวางเช่นกัน คุณแม่ส่วนใหญ่ที่นี่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานเท่าที่จะทำได้ จากสถิติล่าสุดของหน่วยงาน New Zealand Plunket ที่เห็นได้จากตาราง มีคุณแม่ชาวกีวีมากกว่า 55% เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวมาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนจากแรกเกิด ก่อนที่คุณแม่หลายๆ คนต้องกลับไปทำงานตามปกติ ตัวเลขในตารางนี้ยังไม่นับรวมถึงคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปพร้อมๆ กับนมผงอีกต่างหาก ดังนั้นโดยทั่วไปจำนวนทารกแรกเกิดที่ได้รับการเลี้ยงด้วยนมผงเพียงอย่างเดียวจึงมีค่อนข้างน้อย
มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยให้คุณแม่ชาวกีวีจำนวนมากสามารถเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ได้ อย่างเช่น นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีกฎหมายอนุญาตให้คุณแม่ทุกคนหยุดงานได้ (Parental Leave) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนหลังการคลอด นอกจากนั้นหลายบริษัทและองค์กรยังอนุญาตให้คุณพ่อหยุดงานเพื่อช่วยดูแลลูกในระยะแรกเกิดได้เช่นกัน นอกจากนั้นสำหรับคุณแม่มือใหม่หลายๆ คนที่ประสบปัญหาไม่สามารถให้นมลูกได้ ก็สามารถติดต่อหา Lactation Consultant ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ มาให้คำปรึกษาและวางโปรแกรมการให้นมลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Lactation Consultant เหล่านี้มีความสามารถค่อนข้างสูงและมีส่วนสำคัญที่ทำให้คุณแม่หลายคนเริ่มให้นมลูกได้สมความตั้งใจ
ความสำคัญของแม่และเด็กนั้นไม่ได้แฝงอยู่แค่ในระบบการทำคลอดเพียงเท่านั้น แต่ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมซึ่งพบเห็นได้โดยทั่วไป อย่างเช่น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ทั้งแม่และเด็ก ห้างสรรพสินค้าแทบทุกแห่ง รวมถึงสถานที่สาธารณะหลายๆ แห่งมักจะมีห้องสำหรับให้นมลูกและเปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นอย่างดีให้กับพ่อแม่ นอกจากนั้นห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์ มาร์เก็ตหลายแห่งก็ยังจัดที่จอดรถพิเศษให้กับพ่อแม่ที่มีลูกอ่อนอีกด้วย นอกจากนั้นห้องสมุดประชาชนหลายแห่งจะมีการจัดโปรแกรมเล่านิทาน หรือร้องเพลงให้กับเด็กๆ ในเกือบแทบทุกสัปดาห์สระว่ายน้ำสาธารณะต่างๆ ก็จะจัด class ว่ายน้ำให้กับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไปในราคาย่อมเยา
นอกจากนั้นเพื่อเป็นการเชิญชวนให้พ่อแม่พาลูกตัวน้อยๆ มาว่ายน้ำ สำหรับผู้ใหญ่ที่พาเด็กมาว่ายน้ำ โดยทั่วไปค่าเข้าสระว่ายน้ำของทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะถูกกว่าค่าเข้าของผู้ใหญ่คนเดียวซะอีก นอกจากความเอาใจใส่ของสังคมที่มีต่อแม่และเด็ก ซึ่งได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจที่สุดก็คือ ทารกแรกเกิดแทบทุกคนที่นี่จะได้รับการถ่ายรูปหลังลืมตามามองโลกได้ 2-3 วัน รูปเหล่านี้จะถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเขตต่างๆ เพื่อเป็นการแนะนำสมาชิกใหม่ตัวน้อยๆ ให้กับประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้รู้จัก แม้สิ่งเหล่านี้เหมือนจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่ผมคิดว่ามันมีความหมายกับคุณแม่และทารกตัวน้อยๆ ยิ่งนัก เพราะมันทำให้เขารู้ว่า เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำว่าเขาคือส่วนที่สำคัญของสังคมนั่นเอง
|
|
|
|
|