Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2548
ยุทธศาสตร์รถไฟ TX : Tsukuba Express             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
search resources

Transportation




พัฒนาการของโครงข่ายการคมนาคม ด้วยระบบรางในประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะจำเริญเติบโตจากผลของระดับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ซึ่งผลักดันให้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกิจการรถไฟอยู่ในระดับที่ก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแล้ว กิจการรถไฟในญี่ปุ่นยังเป็นกรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับชาติอย่างยากจะแยกออก

ระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ส่งผลให้กิจการรถไฟในญี่ปุ่น ก้าวข้ามบริบทของการเป็นเพียงบริการสาธารณะที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนสำหรับการเดินทางในประเทศไปอีกขั้น เมื่อนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตจากระบบรถไฟของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง (Bullet Train : Shinkansen) หรือ MagLev (Magnetic levitation) กำลังแปลงสภาพเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามหาศาลอีกชนิดหนึ่ง ที่พร้อมรุกเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนทั่วภูมิภาคของโลกในระยะไม่นานจากนี้

ความเป็นมาของกิจการรถไฟในญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 1872 เมื่อเส้นทางการเดินรถไฟสายแรกระหว่าง Shinbashi (ปัจจุบันคือบริเวณที่เรียกว่า Shiodome) ซึ่งเป็นทั้งย่านธุรกิจและคลังสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงโตเกียวกับเมืองท่า Yokohama (ในบริเวณ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานี รถไฟ Sakuragicho) เปิดให้บริการ โดยมีพิธีเปิดอย่างเอิกเกริกที่สถานีต้นทางทั้งสองแห่ง

การเปิดให้บริการรถไฟในเส้นทางดังกล่าว มิเพียงแต่เป็นการเชื่อมโยงการเดินทางของประชากรพลเมืองให้ดำเนินไปอย่างสะดวก หากแต่ยังเป็นการเชื่อมประสานเส้นทางการเคลื่อนตัวและแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางกระแสธารของการเปิดประเทศในยุคสมัยของจักรพรรดิ Meiji (1868-1912) ที่ส่งผลให้เกิดการปะทะสังสรรค์กับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ตลอดเส้นทางที่รถไฟสาย Shinbashi-Yokohama พาดผ่านได้ก่อให้เกิดการพัฒนาของชุมชนขนาดใหญ่ ไม่ว่า จะเป็น Shinagawa ซึ่งแต่เดิมก็มีสถานะเป็นชุมชนหน้าด่านทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว หรือ Kawasaki ที่พัฒนาไปสู่การเป็นย่านอุตสาหกรรมและยังคงบทบาทสำคัญ กระทั่ง ปัจจุบัน

ปฐมบทและผลพวงจากเส้นทางรถไฟ สาย Shinbashi-Yokohama ได้กลายเป็นมรดกที่ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา เมื่อข้อเท็จจริงของการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางการคมนาคมของญี่ปุ่น มุ่งเน้นที่การพัฒนาและวางระบบเส้นทางการคมนาคมในระบบรางอย่างต่อเนื่อง และทำให้สถานีรถไฟแต่ละแห่งมีสถานะไม่แตกต่างจากการเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยมีเส้นทางสัญจรของ รถยนต์ เป็นระบบเสริมที่เชื่อมต่อการเดินทาง ไปยังพื้นที่แยกย่อยของแต่ละชุมชน

แม้ว่าในระยะต่อมารัฐบาลญี่ปุ่น จะทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาระบบถนนเพื่อเชื่อมการสัญจรระหว่างเมืองต่างๆ เพื่อรองรับกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่การคมนาคมด้วยรถไฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ขณะที่สถานีรถไฟกลายเป็นจุดอ้างอิงที่บ่งบอกพิกัดตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ไปโดยปริยาย

ปรากฏการณ์ในยุคสมัยใหม่ที่กำลังสะท้อนภาพยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนเมือง ตามแบบแผนที่เคยประสบผลลำเร็จในอดีตของญี่ปุ่น อยู่ที่การเปิดเส้นทางรถไฟสาย Tsukuba Express (TX) ซึ่งเชื่อมโยง Akihabara ในกรุงโตเกียว กับเมือง Tsukuba ในจังหวัด Ibaraki ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2005 ที่ผ่านมานี้ โดยมีสถานีรับส่งผู้คนตลอดเส้นทางที่มีความยาว 58.3 กิโลเมตร รวม 20 สถานี ในจำนวนนี้เป็นสถานีที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อรองรับเส้นทาง Tsukuba Express โดยเฉพาะถึง 13 สถานี

การขยายตัวอย่างกว้างขวางของกรุงโตเกียว ที่กำลังจะก้าวพ้นเกินกว่ากำหนดนิยามของการเป็นเมืองมหานคร (Metropolitan) ส่งผลให้กลไกที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนเมืองในเขตพื้นที่โดยรอบ (satellite community) กรุงโตเกียว อย่างต่อเนื่อง และทำให้อาณาบริเวณของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับกรุงโตเกียวมีสภาพไม่ต่างจากการเป็น bedroom area ที่พร้อม รองรับการอยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมากสำหรับการเติบโตในอนาคต

แนวความคิดที่จะขยายความจำเริญไปสู่พื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ติดต่อของจังหวัด Saitama-Chiba และ Ibaraki ได้รับการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลมาตั้งแต่เมื่อปี 1985 ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติโครง การอย่างเป็นทางการในปี 1992 พร้อมๆ กับการจัดตั้ง Metropolitan Intercity Railway Company (MIR) ที่มีสถานะเป็นองค์กรมหาชนขึ้นมาเป็นหน่วยงานในการดูแล และดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1994

ภายใต้การบริหารจัดการของ MIR งบประมาณการลงทุนในโครงการที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 8.4 แสนล้านเยน (ประมาณกว่า 3.2 แสนล้านบาท) ได้สะท้อนภาพการมีส่วนร่วมของกลไกภาครัฐในระดับท้องถิ่น เมื่อปรากฏ ว่าปริมาณเม็ดเงินเหล่านี้นอกจากจะเป็นเงินลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นงบประมาณที่กรุงโตเกียว จังหวัด Chiba จังหวัด Saitama และจังหวัด Ibaraki ซึ่งล้วนอยู่ในแนวพาดผ่านของเส้นทางรถไฟ TX ที่ต่างทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อหวังให้โครงการดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนต่อไป

Miraidaira-Ichisato ซึ่งมีความหมาย ว่า ที่ราบแห่งอนาคต-ถิ่นฐานอันดับหนึ่ง (the plain of the future-number one hometown) ได้รับการนำเสนอเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาพื้นที่ตลอดแนวสายทางที่ Tsukuba Express เคลื่อนผ่าน เพื่อสะท้อนความมุ่งหมายที่จะสร้างชุมชนใหม่ให้เกิดขึ้น พร้อมกับการ integrated เข้าเป็นส่วนหนึ่งในความจำเริญเติบโตของเขต Kanto Plain ซึ่งเป็นประหนึ่งหลักหมายสำคัญของการพัฒนาในอนาคต

ความพยายามเพื่อให้สัมฤทธิผลตามเป้าประสงค์ดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนผ่าน ออกมาในรูปของเอกสารแนะนำเส้นทางที่พยายามนำเสนอสถานที่น่าสนใจและโดดเด่นของแต่ละจังหวัดตลอดแนวเส้นทาง เพื่อ เสริมสร้างให้เกิดการไหลเวียนของเงินจากการท่องเที่ยวในเบื้องต้นแล้ว การลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน ในพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟในแต่ละเขตจังหวัดก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะประกอบส่วนด้วย shopping mall เพื่อให้เกิดเป็น downtown ของเมืองแล้ว การพัฒนากลุ่มอาคารเพื่อการพักอาศัยก็ดำเนินไปภายใต้จุดเน้นของการเป็นจุดเชื่อมโยงใหม่ สำหรับการสัญจรเข้าสู่ศูนย์กลางของกรุงโตเกียวอย่างสะดวกรวดเร็วด้วย

แต่ด้วยเหตุที่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟ TX และโครงข่ายการคมนาคมในระบบ ย่อยถูกทอดยาวให้เนิ่นนานกว่า 10 ปี ประกอบกับการขยายตัวของเมืองที่ดำเนินไปอย่างล่าช้าจากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ประมาณการจำนวนผู้โดยสาร TX ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.8 แสนคนต่อวัน ถูกตัดทอน ลงกว่าครึ่งหนึ่งและกำลัง เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ MIR ต้องเผชิญในช่วงแรกของการให้บริการนี้

แม้ว่าประเด็นการประชาสัมพันธ์ เส้นทางสาย Tsukuba Express จะยึดโยงอยู่กับการย่นย่อ ระยะเวลาการเดินทางระหว่างกรุงโตเกียว (ที่สถานี Akihabara) กับเมือง Tsukuba ให้เหลือเพียง 45 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานกว่า 85 นาทีหากใช้บริการ รถไฟสาย JR Joban Line หรือเกือบสองชั่วโมงเมื่อเดินทางโดยรถยนต์ แต่กรณีที่น่าพิจารณาอยู่ที่ความสำคัญของ Akihabara ที่มีสถานภาพเป็นประหนึ่งศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภทที่ดึงดูดให้ผู้คนทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายสินค้าใน Electric Town แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย

การเปิดให้บริการ Tsukuba Express ยังมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในเขต Akihabara เพื่อการก้าวสู่การเป็น IT Hub ขนาดใหญ่ ที่นอกจากจะมีสถาบันเพื่อการศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการแล้ว ยังประกอบ ด้วยห้องปฏิบัติการ และศูนย์ธุรกิจ ซึ่งเป็น การต่อยอดเพื่อรองรับกับทิศทางการพัฒนาโดยองค์รวม ที่ก้าวหน้าไปมากกว่าการเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นอย่างขาดปัจจัยแวดล้อม หากสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันกับความเป็นไปของ Tsukuba ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดขึ้นอย่างมีกระบวนการวางแผนเพื่อการพัฒนา (planned city) ด้วยการกำหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ (science city) มา ตั้งแต่เมื่อมีการวางแผนพัฒนาเมืองในช่วงทศวรรษ 1980

กระบวนทัศน์ในการสร้างเมือง Tsukuba ดำเนินไปอย่างมีระดับขั้น ด้วยการเปิดตัวในฐานะพื้นที่จัดแสดงงาน EXPO'85 ที่มีแนวความคิดหลักของงานอยู่ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ พร้อมกับการแสดงออกซึ่งความมุ่งหมายในการพัฒนา เทคโนโลยีด้านอวกาศของญี่ปุ่น ควบคู่กับการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่ง Tsukuba ขึ้น เป็นแกนกลางในการสร้างเสริมบุคลากรทางวิชาการเพื่อรองรับกับการพัฒนานี้

ขณะที่ในปัจจุบัน สถาบันวิจัยด้านอวกาศ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) และ High Energy Accelerator Research Organization (Ko Enerugi Kasokuki Kenkyu Kiko : KEK) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านพลังงานฟิสิกส์ระดับสูง รวมถึงสถาบันการศึกษาวิจัยด้านต่างๆ รวมมากกว่าอีก 60 แห่ง กำลังทำหน้าที่เติมเต็มเป้าประสงค์ของการพัฒนาเมือง Tsukuba ไปสู่การเป็นเมืองวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

การเกิดขึ้นของ Tsukuba Express ที่เชื่อมเส้นทางการสัญจรระหว่าง Akihabara และ Tsukuba ในด้านหนึ่งจึงมีนัยสำคัญมากกว่าการเป็นเส้นทางเพื่อการขนส่งสินค้าหรือผู้คน หาก Tsukuba Express กำลังทำหน้าที่ประหนึ่งเส้นทางที่เชื่อมประสานองค์ความรู้ ซึ่งเป็นกรณีที่ไกลกว่าการตั้งคำถามถึงความคุ้มทุนในการก่อสร้างไปมากแล้ว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us