
เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนเป็นชนชาติแรกๆ ของโลกที่สามารถประดิษฐ์ตัวอักษรได้ อีกทั้งยังเป็นชนชาติแรกๆ ที่พัฒนาระบบการปกครองขึ้นมาอย่างรวดเร็วกว่าชาติไหนๆ แน่นอนว่า ในชาติที่ระบบการปกครองก้าวหน้า การติดต่อสื่อสารย่อมก้าวหน้าขึ้นมาเป็นเงาตามตัวไปด้วย โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารของทางราชการ โองการ หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการปกครองต่างๆ
การติดต่อสื่อสารแจ้งข่าวสารอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่น ในประเทศจีนเมื่อ 2,700 ปีก่อน มีการคิดค้นวิธีจุดคบเพลิงบนหอรักษาการณ์ของกำแพงเมืองจีนแบบต่อๆ กัน เพื่อแจ้งข่าวว่ามีข้าศึกบุก ทันใดเมื่อเห็นสัญญาณเพลิงดังกล่าว จะได้ยกทัพมาต่อต้านศัตรูได้ทันท่วงที สำหรับวิธีนี้มีภาพยนตร์ตะวันตกอย่างเช่น The Lord of the Rings เลียนแบบด้วยการนำวิธีการของชาวจีนไปใช้บ้าง
นอกเหนือจากระบบการแจ้งข่าวสารเพื่อป้องกันชายแดนแล้ว จริงๆ ระบบการสื่อสารผ่าน "ม้า" ซึ่งถือเป็นพาหนะที่เร็วที่สุด ในสมัยก่อนก็ยังก้าวหน้ามากมาตั้งแต่ในสมัยโจว (ศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสต์ศักราช-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อ 2,200 กว่าปีก่อน หลังจากจีนรวมประเทศได้เป็นหนึ่งแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้ก็ได้ออกกฎให้มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันทั่วประเทศ และกำหนดมาตรฐานความกว้างของถนน เพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารโดยความก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสารดังกล่าวนั้น มีคุณูปการต่อประเทศจีนและชาวจีนมาอย่างต่อเนื่อง
ที่เห็นได้เด่นชัดก็อย่างเช่น ในสมัยหยวน (ค.ศ.1271-1368) ที่อาณาเขตการปกครองของชาวมองโกลกว้างใหญ่ไพศาล ส่งให้อาณาเขตในการตั้งสถานีส่งต่อข่าวสารครอบคลุมกว้างใหญ่ขึ้นอย่างมหาศาลเป็นเงาตามตัว
วิธีส่งต่อข่าวสารของสถานีเหล่านี้ก็คือสถานีเหล่านี้จะเตรียมม้าที่แข็งแรงไว้ให้ผู้ส่งข่าวสารเปลี่ยนขี่ โดยว่ากันว่าในขณะนั้น ข่าวสารเร่งด่วนนั้น สามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ลี้หรือราว 200 กิโลเมตรต่อวัน โดยสถานีเปลี่ยนม้าก็มีจำนวนมากถึงกว่า 20,000 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองทางการสื่อสารของจีนก็มาถึงจุดตกต่ำด้วยการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับความรุ่งเรืองทางการเมือง-การปกครองของจีนที่เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ต่างก็ต้องสยบให้กับโลกตะวันตก
สิ้นปี 1949 มีสถิติระบุว่าทั่วประเทศ จีนมีจำนวนที่ทำการไปรษณีย์และสาขา 26,328 แห่ง โดยพื้นที่ให้บริการของที่ทำการไปรษณีย์และสาขาแต่ละแห่งนั้นมากถึง 364.6 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีบริการน้อยนิดเพียงการรับส่งจดหมาย ส่งพัสดุ ส่งเงิน เท่านั้น ทำให้ตัวเลขจำนวนการส่งจดหมายผ่านระบบไปรษณีย์ของจีนในขณะนั้นเฉลี่ยเพียง 1.1 ฉบับต่อหัวประชากรเท่านั้น
หลังจากการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันไปรษณีย์จีน china Post นั้นอยู่ภายใต้การบริหารของกรมไปรษณีย์ (State Post Bureau) โดยมีบริการที่หลากหลาย ทั้งการรับ-ส่งจดหมาย พัสดุส่งไปรษณีย์ด่วน EMS รับฝาก-โอนเงิน รับสั่งจอง-ส่งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ขายหนังสือ ขายแสตมป์-เหรียญตราที่ระลึก ขายวัสดุในสำนักงานและเครื่องเขียน ฯลฯ
ตัวเลขเมื่อปี 2546 (ค.ศ.2003) ระบุว่า รายได้ของไปรษณีย์จีนนั้นอยู่ที่ 54,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากปีก่อนหน้า โดยทั้งปีมีการส่งจดหมาย 10,380 ล้านฉบับ ส่งพัสดุ 110 ล้านชิ้น ส่งหนังสือพิมพ์ 16,610 ล้านฉบับ ส่งวารสาร-นิตยสาร 1,130 ล้านฉบับ ขณะที่จำนวนที่ทำการไปรษณีย์และสาขานั้นก็มีมากถึง 64,000 แห่ง
สำหรับตัวผมเอง ในการใช้ชีวิตที่ปักกิ่ง 4 เดือนแรกจะเรียกได้ว่า ผมเดินเข้าไปรษณีย์จีนเป็นว่าเล่นก็คงได้ เพราะต้องส่งข่าวสารกลับเมืองไทยอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการส่งข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต
โดยตอนแรกก่อนที่จะได้ใช้บริการก็ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่า ในประเทศที่มีเนื้อที่มากกว่า 9 ล้าน 5 แสนตารางกิโลเมตร ประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนนี้ ไปรษณีย์ส่งแล้วไม่ค่อยจะถึงหรือส่งแล้วล่าช้า
อย่างไรก็ตาม หลังจากในช่วง 3 ปีกว่า ที่ผ่านมาผมเป็นลูกค้าคนหนึ่งที่ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอกลับพบว่า เสียงร่ำลือดังกล่าวนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เพราะตั้งแต่ใช้บริการมา จดหมายหรือพัสดุที่ผมส่งไม่เคยหาย และก็ถึงตรงเวลามาตลอด ส่วนราคาการส่งนั้นหากเปรียบเทียบกันแล้ว ถือว่าแพงกว่าไปรษณีย์ไทยเล็กน้อย
กลับมาดูเรื่องไปรษณีย์จีนในภาพรวมกันต่อ
ในภาพรวม แม้ว่าไปรษณีย์จีนเดิมจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ คือ อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมไปรษณีย์ แต่ในด้านการปฏิบัติงานแล้ว ไปรษณีย์จีนกลับเป็นหน่วยงาน ที่รวมเอาธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรเอาไว้ภายในด้วย อย่างเช่นที่กล่าวไปก็คือ การขายหนังสือพิมพ์-นิตยสาร-หนังสือ ขายวัสดุในสำนักงาน-เครื่องเขียน และที่สำคัญที่สุดก็คือ การเป็นหน่วยงานที่รับฝากเงิน (Savings Unit)
หากจะมองสถานะของไปรษณีย์จีน ก็คงคล้ายๆ กับสถานะของธนาคารกลางจีน หรือธนาคารประชาชนจีน (The People's Bank of China) ในอดีต
ก่อนหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อทศวรรษ 1980 ธนาคารประชาชนจีนซึ่งมีสถานะเท่ากับธนาคารแห่งประเทศไทยของบ้านเรานั้น กลับควบรวมเอาสถานะของการเป็นธนาคารกลาง (Central Bank) และ ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) เอาไว้ด้วยกัน คือนอกจากจะเป็นหน่วยงานที่จะต้องดูแลสภาวะทางการเงินของประเทศ และกำกับดูแลธุรกรรมทางการเงินของประชาชนแล้ว ในขณะนั้นธนาคารประชาชนจีนยังมีสถานะการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่รับฝาก-ปล่อยกู้ แก่ประชาชนทั่วไปด้วย หรือหากจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือ ในขณะนั้นธนาคารประชาชนจีนเป็นทั้ง 'กรรมการ' และ 'ผู้เล่น' ในเวลาเดียวกัน
สถานะดังกล่าวนี้ทำให้ในเวลาต่อมา หลังประเทศจีนดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเปิดประเทศ จึงมีการแยกเอาส่วนงานธุรกิจ หรือธนาคารพาณิชย์ออกจากส่วนงานกำกับดูแล หรือธนาคารกลางออกจากธนาคารประชาชนจีนเสีย
กรณีที่เกิดขึ้นกับไปรษณีย์จีนก็เช่นเดียวกัน ณ ปัจจุบันรัฐบาลจีนก็กำลังดำเนินการปฏิรูปไปรษณีย์จีน ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกรมไปรษณีย์จีนอยู่เช่นกัน โดยพยายามแยกเอาส่วนธุรกิจย่อย ที่ถูกปนอยู่กับภารกิจและหน้าที่หลัก คือการขนส่งจดหมาย-พัสดุ ออกมาจำแนกให้ตรงกับประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนรับฝากเงิน (Savings Unit)
ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนรับฝากเงินของไปรษณีย์จีนเดิมจะกลายมาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ชื่อ "China Post Saving Bank" ที่จะกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ ร่วมกับ Big-Four หรือสี่ธนาคารยักษ์ใหญ่ในอ้อมกอดของรัฐบาลจีน อันประกอบด้วย Industrial and Commercial Bank of China, China Construction Bank, Bank of China และ Agricultural Bank of China
โดยเป็นที่แน่นอนแล้วว่า China Post Saving Bank จะเป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากติดอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศจีนคือ 1.23 ล้านล้านหยวน หรือ 152 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การปฏิรูปครั้งใหญ่ของไปรษณีย์จีนในปัจจุบันนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ การปรับตัวให้สอดคล้องและแข่งขันได้กับโลกแห่งการสื่อสารยุคใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อฟาดฟันกับธนาคารต่างชาติ ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจรับฝาก-ปล่อยกู้เป็นเงินหยวนกับชาวจีนทั่วๆ ไปได้ในอีกปีกว่าข้างหน้า
ณ พ.ศ.นี้ ดูเหมือนว่าไม่เพียงแต่ไปรษณีย์ไทยที่ต้องปรับตัว ไปรษณีย์จีนเองก็เช่นกันที่จำเป็นต้องปรับตัวตามกระแสการเปิดเสรี และโลกานุวัตรโลกอันเชี่ยวกราก
|