|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2548
|
|
แม้จะเป็นวันอาทิตย์ เข็มนาฬิกาบอกเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาทุ่มกว่าแล้ว แต่แสงไฟในที่ทำการไปรษณีย์หัวหมาก ยังส่องสว่างต้อนรับลูกค้าที่เดินเข้ามาใช้บริการในร้านอย่างไม่ขาดสาย
ชั่วโมงให้บริการที่เพิ่มขึ้น และมีพนักงานคอยให้บริการลูกค้าแบบไม่มีวันหยุด เป็นหนึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างของที่ทำการไปรษณีย์รูปแบบใหม่ที่ไปรษณีย์ไทย เปิดทดลองให้บริการแล้วในสองพื้นที่คือ บริเวณถนนรามคำแหง และถนนราชดำเนิน
อาคารตึกแถว 4 ชั้นติดกับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ 3 บนถนนรามคำแหง อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์หัวหมาก ที่ทำการต้นแบบแห่งแรกที่ไปรษณีย์ไทยเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ออกแบบตกแต่งให้โล่ง โปร่ง สบายตา แลดูทันสมัย และเน้นใช้สีแดง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของบริษัท ขณะพื้นที่ใช้สอยถูกจัดแบ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดจะเป็นไปได้
ชั้นแรกของตึกมีเคาน์เตอร์ให้บริการทุกอย่างตั้งแต่บริการส่งจดหมาย พัสดุ บริการธนาณัติ ซื้อสินค้าในไปรษณีย์และชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านบริการ Pay at post ติดๆ กันมีชั้นวางของขนาดย่อมตั้งอยู่ การ์ดสีสันสวยงาม กระดาษเขียนจดหมาย และกระดาษห่อของขวัญถูกนำมาวางบนชั้น เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อริบบิ้นมากมายหลายแบบแขวนอยู่บนผนังพร้อมกับแสตมป์สะสมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมหน้าจอแอลซีดี พร้อมต่อพ่วงกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเอาไว้ตลอดเวลา ที่เคาน์เตอร์ให้บริการ Pay at post ล้วนแล้วแต่เป็นความตั้งใจของผู้บริหารไปรษณีย์ไทยที่ต้องการสื่อให้เห็นความทันสมัยของที่ทำการไปรษณีย์โฉมใหม่
บันไดข้างๆ นำลูกค้าไปยังชั้นลอยของตัวตึก ซึ่งปัจจุบันออกแบบให้เป็นร้านกาแฟ ที่ดำเนินการโดยเอกชน พร้อมเปิดบริการรับ-ส่งโทรสารและให้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ด้วยในตัว ส่วนชั้นสามมีบริการเช่นเดียวกันกับชั้นหนึ่งไว้คอยให้บริการลูกค้า เพื่อแบ่งเบาภาระในยามที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการกันในช่วงเวลาเร่งด่วน
แทบทุกคนที่เข้าไปใช้บริการของที่ทำการไปรษณีย์หัวหมาก จะต้องกดบัตรคิวเพื่อรอเรียกหมายเลขของตนไปยังเคาน์เตอร์ให้บริการด้วยระบบอัตโนมัติ เช่นเดียวกันกับยูนิฟอร์มของพนักงานไปรษณีย์ ที่ออกจะแปลกตาและชวนมองไม่น้อย เสื้อขาว ผ้าพันคอสีแดงของพนักงานหญิง เสื้อสีขาวกางเกงขายาว ผูกไทที่คาดด้วยโลโกของไปรษณีย์ไทยของพนักงานชาย ให้ความรู้สึกเหมือนกับกำลังยืนรอรับบริการจากธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ปาน และกลายเป็นโฉมใหม่ของไปรษณีย์ของไทย ซึ่งอาจจะไม่เคยเจอในที่ทำการไปรษณีย์สาขาไหนมาก่อน
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงเวลาหลังการทำงานกลายเป็นช่วงเวลาของการสะสางธุระส่วนตัว ไม่ว่าจะส่งจดหมาย พัสดุ หรือแม้แต่ชำระค่าสินค้าและบริการสารพัดอย่าง เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ส่งผลให้ไปรษณีย์ต้องเร่งหาแนวคิดในการสร้างที่ทำการไปรษณีย์รูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Face Lift" เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ทดแทนการเปิดให้บริการแต่เช้า และปิดเร็วในเวลาเดียวกันกับการทำงานของระบบราชการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนทำให้ผู้บริโภคบางส่วนต้องหันไปใช้บริการไปรษณีย์เอกชนที่มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า และแหล่งชุมชน
ไปรษณีย์หัวหมาก และราชดำเนิน จึงกลายเป็นที่ทำการไปรษณีย์ต้นแบบที่เปิดให้บริการตั้งแต่เช้า แต่ปิดบริการในเวลา 3 ทุ่มและ 4 ทุ่มของแต่ละวัน โดยพนักงานในร้านจะหมุนเวียนเปลี่ยนกะกันมาทำงานในแต่รอบ แตกต่างจากพนักงานสาขาอื่นๆ
ไปรษณีย์ไทยตั้งความหวังไว้ว่า นับจากนี้จะต้องเปิดบริการไปรษณีย์รูปแบบใหม่ในย่านชุมชนให้ได้อย่างน้อยปีละ 1 แห่ง แม้จะใช้เงินในการลงทุนตกแต่งสาขาแห่งใหม่กว่า 5 ล้านบาทต่อสาขาก็ตามที
โดยตามแผนแล้วในเร็วๆ วันนี้ไปรษณีย์รูปแบบใหม่จะเปิดที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในแถบนั้น รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ และที่อื่นๆ ที่ไปรษณีย์ไทยมองเห็นว่าเป็นย่านชุมชนและคนต้องการจะใช้บริการไปรษณีย์ในเวลาไม่ปกติด้วยในเวลาเดียวกัน
แม้จะรับปากไม่ได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ที่ทำการไปรษณีย์โฉมใหม่จะมีกี่สาขา และที่ทำการไปรษณีย์ที่มีอยู่แล้วจะได้รับการปรับเปลี่ยนตารางเวลาให้บริการให้เข้ากับยุคสมัยหรือไม่ในอนาคต แต่นี่ก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งของไปรษณีย์ไทย ในยุคที่ต้องดิ้นรนเอาชนะพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่แข่งที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกวันนั่นเอง
|
|
|
|
|