|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2548
|
|
"ไม่มีใครรู้จักเอเชียดีเท่าเรา" เป็นสโลแกนโฆษณาติดหูของ DHL ผู้นำในการให้บริการด้านการขนส่งระดับโลกจากเยอรมนี ซึ่งมีให้เห็นกันตามสื่อต่างๆ แต่อาจจะต่างกับคำพูดที่ว่า "ไม่มีใครรู้จักเมืองไทยดีเท่าเรา" ซึ่งออมสิน ชีวะพฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส (ด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ) ไปรษณีย์ไทยพยายามชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยในวันนี้
หากใครหาบ้านหลังไหนไม่เจอ การโทรศัพท์สอบถามไปยังที่ทำการไปรษณีย์จะช่วยให้ใครหลายคนพบเป้าหมายบ้านเรือนที่ต้องการในที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าการรู้จักเมืองไทยได้ดีที่สุดของไปรษณีย์ไทยกลับกลายเป็นหน้าที่ของบุรุษไปรษณีย์ ที่แม้แต่คนรับใช้ก็ยังไม่กลัวว่าจะมาปล้น หรือสุนัขเฝ้าบ้านก็ยังไม่เห่า เมื่อไปเยือนที่หน้าบ้านหลังใดก็ตามในประเทศ
เมื่อหน้าที่ของการรู้จักเมืองไทยตกไปอยู่ในมือของ "บุรุษไปรษณีย์" ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงระบบการจัดเก็บสินทรัพย์ที่ถือว่ามีค่าที่สุดของไปรษณีย์ไทย ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของ "ข้อมูลบ้านเรือน" ของคนไทย ขึ้นมาในทันที
ทุกวันนี้สินทรัพย์ที่ว่ากลับไม่ได้ถูกจัดเก็บเป็นระบบอย่างที่คิด ข้อมูลของลูกค้าหรือ Customer Database ของไปรษณีย์ไทยที่ถือว่าครบถ้วนแล้วสมบูรณ์ที่สุด กลับกลายเป็นข้อมูลผู้ที่สะสมแสตมป์ หรือข้อมูลผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกเงินฝากเพื่อการสะสมตราไปรษณียากรเท่านั้น ขณะที่ข้อมูลบ้านเรือนของประชาชนว่าอยู่ตรงไหน บ้านเลขนี้ตรงนี้อยู่บริเวณใด กลับถูกจัดเก็บไว้ในหัวสมองของบุรุษไปรษณีย์แต่ละคน
ด้วยความที่เคยชินในการรับ-ส่งจดหมายแทบทุกวันบุรุษไปรษณีย์มือใหม่ มักจะต้องนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์รุ่นพี่ ตระเวนไปตามพื้นที่ที่รับผิดชอบก่อนการทำงานเสมอ และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ บุรุษไปรษณีย์หลายคน จึงสามารถคัดแยกจดหมายลงช่องตามเส้นทางการส่งได้โดยอัตโนมัติ ว่าบ้านหลังใดมาก่อนกัน และพื้นที่ไหนใกล้ไกลกว่ากัน โดยไม่ต้องดูแผนที่แต่อย่างใด
ดังนั้น บุรุษไปรษณีย์จึงกลายเป็นสินทรัพย์ และคลังข้อมูลอันมีค่าของไปรษณีย์ไทย แต่ไปรษณีย์ไทยกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากไปกว่าการทำหน้าที่จัดส่งจดหมาย หรือพัสดุภัณฑ์เท่านั้น ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่ว่าข้อมูลถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจสมัยใหม่ก็ตามที และเพิ่งจะเริ่มต้นทำการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าของตนเอง และไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดข้อมูลเมืองไทยที่ไปรษณีย์รู้จักดีที่สุดจะมีอยู่อย่างครบถ้วน
|
|
|
|
|