ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหน่วยงานที่ถูกปลูกฝังจิตสำนึกมากว่า 120 ปี ว่าเป็นบริการพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องแปรรูปเป็นเอกชนที่ต้องแสวงหากำไรเพื่ออยู่รอด ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ข้อได้เปรียบกลับมีแต่ลดลง
คนที่มีโอกาสได้เข้าไปใช้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์บางแห่ง ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อาจเริ่ม รู้สึกแปลกหูแปลกตากับบรรยากาศภายใน ตลอดจนถึงบริการที่ได้รับทั้งเรื่องการรับ-ส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร ซื้อแสตมป์ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ที่เริ่มมีกลิ่นอายเข้ามาใกล้เคียงกับความเป็นเอกชน มากขึ้น
แต่ความแปลกหูแปลกตาดังกล่าว เมื่อมองลึกลงไปแล้วยังเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงทาง กายภาพ เพราะความรู้สึกของพนักงานไปรษณีย์ ที่ถูกปลูกฝังความรู้สึกมาตลอดว่าเป็นกิจการบริการสังคม การปรับเปลี่ยนสถานะจากพนักงานของรัฐมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชนซึ่งต้องแสวงหากำไรสูงสุดจากบริการ คงยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย
"ธุรกิจไปรษณีย์ไทยคงไม่รวย แต่ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ เพราะไปรษณีย์ของไทยถือเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องให้บริการครอบคลุมและทั่วถึง" ธีระพงศ์ สุทธินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของบริษัทไปรษณีย์ไทย แสดงวิสัยทัศน์ภายในงานแถลงข่าวครบ 2 ปีของการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ธีระพงศ์เป็นอดีตผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ที่ได้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะย้ายมาอยู่ไปรษณีย์ไทย หลังการแปรรูป โดยให้เหตุผลว่าเติบโตมาจากกิจการไปรษณีย์ จึงมีความรัก และผูกพันกับองค์กรแห่งนี้
บริษัทไปรษณีย์ไทยกำลังเผชิญกับแรงท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 120 ปีของการก่อตั้งกิจการ โดยเฉพาะหลังจากถูกแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเป็น ขั้นตอนแรกก่อนการแปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัวในอนาคต
แม้ว่าในทางหนึ่งนั้น การแปรรูปได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกิจการไปรษณีย์ทั่วโลก แต่สำหรับไปรษณีย์ไทยแล้ว การแยกตัวออกเป็นบริษัทต่างหาก ดูจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของการแปรรูปกิจการหลัก คือ กสท.ที่ได้แปรรูปไปเป็นบริษัท กสท.โทรคมนาคมมากกว่า โดยการผลักภาระทางบัญชีเดิมของ กสท.ที่ขาดทุนอยู่ คือกิจการไปรษณีย์ แยกออกไปตั้งเป็น อีกบริษัทหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน
ขณะที่ความหวังที่ว่าจะทำให้บริษัทไปรษณีย์ไทยที่แยกตัวออกมากลายเป็นบริษัทเอกชน ที่มีความยิ่งใหญ่ อย่าง DHL ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากกิจการไปรษณีย์ของเยอรมนี หรือเป้าหมาย ในการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของญี่ปุ่นที่ถึงขั้นนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ต้องตัดสินใจ ยุบสภา เมื่อถูกคัดค้านนั้นกลับมีน้อยกว่ามาก
เนื้อหาในหนังสือ "จากรุ่งริ่ง สู่รุ่งโรจน์ ไปรษณีย์ไทย ยุคไอซีที" ซึ่งเขียนออกมาตามดำริของสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการ สื่อสาร (ไอซีที) และเป็นผู้ผลักดันให้แปรรูปกิจการไปรษณีย์เป็นบริษัทจำกัด ยังยอมรับเลยว่า ในความรู้สึกของคนในกระทรวงไอซีที และพนักงานของ กสท.เอง มองว่าบริษัทไปรษณีย์ไทย ที่ถูกแยกตัวออกมานั้น เป็น "กิจการที่มองไม่เห็นอนาคต"
แรงท้าทายประการแรก สำหรับไปรษณีย์ไทย คือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ทำให้ความจำเป็นใน การสื่อสารของคนด้วยรูปแบบจดหมาย ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกิจการไปรษณีย์มีน้อยลง แรงท้าทายประการที่ 2 คือการเปิดเสรีธุรกิจบริการ ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ในองค์การการค้าโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนส่งทั้งเอกสาร และพัสดุภัณฑ์จากต่างประเทศ สามารถเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่มีข้อจำกัด แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัท courier เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น DHL UPS FedEx TGN ฯลฯ ได้รุกเข้ามาในธุรกิจนี้ในประเทศไทยระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้บริษัทเหล่านี้ ไม่สามารถทำธุรกิจบางอย่างได้ เช่นการส่งจดหมายส่วนบุคคล ไปรษณียบัตร หรือการขายแสตมป์ ฯลฯ
"แม้ไปรษณีย์ไทยจะเป็นบริษัทที่สามารถทำธุรกิจส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร และสิ่งตีพิมพ์ เพียงรายเดียวก็ตาม แต่การเปิดเสรีทางการค้าด้านบริการที่จะเกิดขึ้นภาย ในอีกไม่ช้านี้ ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องดิ้นรนหา โมเดลในการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสู้กับบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาให้บริการส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร และสิ่งตีพิมพ์ หรือแม้แต่ธุรกิจ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เพียงแต่บริษัทเหล่านี้จะมีกำลังความสามารถในการลงทุนทรัพยากร บุคคล หรือ know-how ที่ดีกว่าเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการทำการตลาดที่คล่อง ตัวกว่าไปรษณีย์ไทย" ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส (ด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ) บริษัท ไปรษณีย์ไทย บอกกับ "ผู้จัดการ"
แรงท้าทายประการที่ 3 คือเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะนำบริษัทไปรษณีย์ไทย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปี 2549 ทำให้ไปรษณีย์ไทยจำเป็นต้องเร่งหารูปแบบธุรกิจ (business model) ใหม่ ให้เหมาะสมกับองค์กรและสามารถสร้างรายได้ และกำไร จนจูงใจให้นักลงทุนกล้าเข้ามาซื้อหุ้น
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ไทย มิได้แตกต่างไปจากกิจการไปรษณีย์ในประเทศ อื่นๆ คือเป็นบริการของรัฐที่ให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่พัฒนาการของไปรษณีย์ไทยกลับแตกต่างไปจากกิจการไปรษณีย์ของหลายๆ ประเทศ
ในหลายประเทศ กิจการไปรษณีย์นอกจากจะรวมกิจกรรมการสื่อสาร ทั้งจดหมายและ พัสดุไปรษณีย์แล้วยังรวมถึงการขนส่งสินค้า พัสดุขนาดใหญ่ ที่สำคัญที่สุดยังเป็นแหล่งระดม เงินออมขนาดใหญ่ให้กับประเทศนั้นๆ ด้วย อย่างเช่นในญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ หรือแม้แต่สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ธุรกรรมทางการเงินของไปรษณีย์ในประเทศเหล่านี้ถือเป็นธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ใหญ่ที่สุดของประเทศ
(รายละเอียดอ่านรูปแบบกิจการไปรษณีย์ทั่วโลกจากเครือข่าย global link)
แต่ในประเทศไทย พัฒนาการของกิจการไปรษณีย์ให้น้ำหนักไปที่ธุรกิจสื่อสารมากที่สุด ขณะที่กิจกรรมด้านการขนส่ง แม้มีอยู่บ้างแต่ไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก คนส่วนใหญ่จะรู้จักองค์การรับส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มากกว่า
ส่วนธุรกรรมทางการเงินนั้น ด้วยข้อจำกัดที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร พาณิชย์ ทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถทำได้เพียงการรับ-ส่งธนาณัติ และเพิ่งจะขยายมาเป็นบริการรับชำระค่าสินค้า ค่าบริการ และค่าสาธารณูปโภคเมื่อไม่กี่ปีมานี้
เคยมีคนกล่าวติดตลกว่า หากจะให้ไปรษณีย์ไทยมีความยิ่งใหญ่เหมือนไปรษณีย์ใน ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี อาจต้องมีการควบรวมกิจการรัฐวิสาหกิจ ถึง 3 แห่งเข้าด้วยกันคือไปรษณีย์ไทย ธนาคารออมสิน และ ร.ส.พ. แต่แนวคิดดังกล่าวมีความเป็นไปได้ไม่ถึง 0%
ด้วยแรงท้าทายหลายประการนี้ทำให้ความจำเป็นในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทย จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำเป็นและเร่งด่วน
หลังแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด โครงสร้าง ธุรกิจของไปรษณีย์ไทย ยังคงประกอบด้วยธุรกิจหลัก 3 ด้านคือธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจการเงิน
ธุรกิจสื่อสาร ถือเป็นแหล่งรายได้หลัก แต่ดั้งเดิมของกิจการไปรษณีย์ โดยกว่า 80% ของรายได้ มาจากการรับส่งจากจดหมาย ไปรษณียบัตร และสิ่งตีพิมพ์ แต่เนื่องจากที่ผ่านมากิจการไปรษณีย์ถือเป็นบริการของรัฐ ดังนั้นผลประกอบการของกิจการไปรษณีย์จึงประสบกับภาวะขาดทุนมาโดยตลอด
จนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 ไปรษณีย์ไทยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ปรับค่าธรรมเนียมการให้บริการจากเดิม 2 บาทเป็น 3 บาท ซึ่งถือเป็นการปรับค่าธรรมเนียม ขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทำให้ผลการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยในปีดังกล่าว มีกำไรขึ้นมาในทันที 200 ล้านบาท
"ที่ผ่านมาต้นทุนของไปรษณีย์ไทยต่อจดหมาย 1 ฉบับ มีมูลค่าเฉลี่ยเกือบ 4 บาท เป็นเหตุผลของการแบกรับต้นทุน และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กิจการไปรษณีย์ต้อง ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มให้บริการในประเทศไทย" ออมสินบอก
การขึ้นค่าบริการ จึงเป็นทางออกหนึ่ง สำหรับการสร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ความสามารถ ในการแข่งขันของไปรษณีย์ไทยมีมากขึ้น โดย เฉพาะเมื่อเทียบกับ courier จากต่างประเทศ เพราะแม้ว่าไปรษณีย์ของไทยจะแปรรูปมาเป็นบริษัทจำกัดแล้ว แต่มีกระทรวงไอซีทีเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ที่กำหนดให้ไปรษณีย์ไทยไม่สามารถลดค่าธรรมเนียมลงมาได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม
ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ไปรษณีย์ไทย ขาดความคล่องตัวในการทำตลาด โดยเฉพาะ กับลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีปริมาณ การส่งจดหมายในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก มีการต่อรองเพื่อขอลดค่าธรรมเนียมในการส่งเอกสาร แม้แต่การวางแผนส่งเสริมการขาย อาทิ การลด แลก แจก แถม เพื่อสร้างอำนาจ ในการแข่งขัน ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก
"หากลดค่าธรรมเนียม ถือว่าเราทำผิดกฎหมายในทันที" ออมสินย้ำ
แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับแรงท้าทายที่เพิ่มขึ้น แต่ไปรษณีย์ไทยก็ยังมีสินทรัพย์ซึ่งถือเป็นจุดเด่น สำคัญที่ทุกคนยอมรับ นั่นคือการวางเครือข่าย ที่ทำการไปรษณีย์และบุรุษไปรษณีย์ครอบ คลุมพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ
เป็นสินทรัพย์ที่ได้มีการลงทุนไว้นานแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด
ที่ทำการไปรษณีย์หลายแห่งตั้งอยู่ในชุมชนห่างไกลที่การสื่อสารหรือคมนาคมยังเข้าถึงได้ไม่สะดวก ขณะที่บุรุษไปรษณีย์ของไปรษณีย์ไทย ก็ถือเป็นบุคลากรที่รู้จักบ้านทุกหลัง รวมทั้งคนแทบทุกคนที่อาศัยอยู่ในบ้านแต่ละหลังในในทุกซอกทุกซอยของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งเชื่อม โยงเข้าด้วยกัน ด้วยรถขนส่งไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งก็เป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยไม่ต้องอาศัยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้มีการวางโปรแกรมเอาไว้อย่างเป็นระบบ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
ขณะที่การนำระบบเทคโน โลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลของที่ทำการทุกแห่งเข้าด้วยกันด้วยระบบออนไลน์ ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยอยู่ในระหว่าง การเจรจาเพื่อหาผู้ประกอบการเข้ามาติดตั้งระบบไอทีดังกล่าว
ปัจจุบันทั่วประเทศมีที่ทำการไปรษณีย์รวม 4,499 แห่ง แบ่งเป็นที่ทำการของไปรษณีย์ไทยเอง 1,178 แห่ง และที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต 3,321 แห่ง และมีบุรุษไปรษณีย์ 7,033 คน
หากวัดเชิงสถิติจำนวนเครือข่ายที่ทำการของไปรษณีย์ไทย 1,178 แห่ง มีเป็นรองก็เพียง เครือข่ายสาขาของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีอยู่ 3,095 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่าน มา) และสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ที่มีอยู่ 1,335 แห่ง
แต่หากเทียบกับเครือข่ายที่สามารถใช้เป็นช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจอื่นๆ อาทิ สาขาธนาคารพาณิชย์ หรือสถานีบริการน้ำมันยี่ห้ออื่น ที่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ เช่นกันแล้ว ในเชิงองค์กรถือว่าที่ทำการไปรษณีย์มีมากกว่าช่องทางจำหน่ายสินค้าของธุรกิจเหล่านี้ทั้งสิ้น
(จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา สาขาธนาคาร พาณิชย์ทั่วประเทศมีจำนวนรวม 4,078 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของธนาคารกรุงเทพมากที่สุด 656 แห่ง รองลงมาเป็นธนาคารกรุงไทย 632 แห่ง และธนาคารกสิกรไทยเป็นอันดับ 3 มีทั้งสิ้น 496 แห่ง ส่วนข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศมี 19,300 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของ ปตท.มากที่สุด 1,335 แห่ง รองลงมาเป็นเชลล์ 608 แห่ง และเอสโซ่เป็นอันดับ 3 จำนวน 606 แห่ง)
หากมองภาพรวม ด้วยจำนวนเครือข่ายที่ทำการทั้งของไปรษณีย์ไทย ไปรษณีย์รับ อนุญาต และจำนวนบุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ หากผู้บริหารของไปรษณีย์ไทยสามารถนำมาพัฒนาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิ ภาพแล้ว จะกลายเป็นช่องทางการกระจายสินค้า และทีมงานขายตรงที่สามารถนำเสนอ สินค้าและบริการ ให้เข้าไปถึงยังทุกแหล่งชุมชนต่างๆ ที่ธุรกิจอื่นยังไม่สามารถเข้าไปได้ถึง
อาจกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายการขายสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้เลยทีเดียว
3 ปีก่อน เมื่อครั้งวิโรจน์ นวลแข ยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เขาเคยมีแนวคิดที่จะให้ธนาคารกรุงไทยเข้าซื้อกิจการของบริษัทไปรษณีย์ไทย ที่กำลังจะแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจ มาเป็นบริษัทจำกัด เนื่องจากมองเห็นถึงศักยภาพของเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์เหล่านี้ว่าจะสามารถเสริม concept การเป็น convenient bank ของธนาคารกรุงไทยได้อย่างลงตัว และสามารถใช้เครือข่ายเหล่านี้ เป็นจุดขายบริการทาง การเงินของธนาคารได้อย่างเข้าถึงตัวผู้บริโภค มากที่สุด
แต่แนวคิดนี้ก็ถูกคัดค้านโดยคนไปรษณีย์ไทยด้วยกันเอง
หรือแม้แต่ประเสริฐ มนูพิบูลย์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ผู้ครอง ตลาดอันดับ 1 ในธุรกิจรับชำระค่าสินค้า บริการ และสาธารณูปโภค ยังยอมรับว่าเครือข่ายที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ คือที่ทำการสาขาของไปรษณีย์ไทย เพียงแต่จุดขายของทั้ง 2 เครือ ข่ายนี้แตกต่างกันตรงที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสเน้นเปิดสาขาในย่านชุมชน หรือแหล่งที่มีคนสัญจรไป-มา แต่สาขาของไปรษณีย์ไทยจะอยู่ในย่านชุมชนห่างไกล เช่น ในหมู่บ้านหรือตามชนบท
(รายละเอียดของเคาน์เตอร์เซอร์วิส อ่านเรื่อง "7-Eleven's Growth Business" ประกอบ)
2 ปีที่ผ่านมา หลังการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด ผู้บริหารของไปรษณีย์ไทยทุกคนมองเห็น ถึงศักยภาพของเครือข่ายที่ตนเองมีอยู่ดังกล่าว และพยายามใช้ศักยภาพของพื้นที่ภายในที่ทำการ ไปรษณีย์ให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด
เป้าหมายของไปรษณีย์ไทยคือเปลี่ยนการรับรู้ หรือความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อ brand ไปรษณีย์ไทย จากการเป็นเพียงผู้ให้บริการรับ-ส่งจดหมาย หรือพัสดุภัณฑ์ให้เหมือนกับเป็น "Service Supermarket" หรือแหล่งรวมสินค้าด้านบริการสารพัดอย่าง
มีการเพิ่มบริการหลายอย่างเข้ามาโดย เฉพาะในธุรกิจการเงิน ซึ่งกำลังเป็นธุรกิจดาวเด่นของไปรษณีย์ไทยในขณะนี้ เพราะมีอัตราการเจริญเติบโตของรายได้ถึงปีละ 100% หลังจากแปรรูปเป็นบริษัทจำกัดเป็น ต้นมา
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "Easy pay with CA Post" ประกอบ)
หรือการเปิดให้ประชาชนสามารถสั่งจองพระเครื่อง รวมถึงซื้อกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงสินค้าและบริการอื่นๆ ได้จากที่ทำการ ไปรษณีย์ทุกแห่ง
ในส่วนของบุรุษไปรษณีย์ ก็เคยเป็นพนักงานขายเครื่องสำอางของยูสตาร์ ที่เพิ่ง บอกเลิกสัญญากันไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย แต่ก็ยังให้เป็นคนขายตรง ครีมหน้าเด้งขององค์กรเภสัชกรรม
ที่ทำการไปรษณีย์บางแห่งสามารถนำพื้นที่มาหาประโยชน์ได้ หากไม่ขัดแย้งกับธุรกิจหลักของไปรษณีย์ไทย อาทิ ที่ทำการไปรษณีย์แม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถเก็บค่าจอดรถจากคนที่นำรถไปจอดเพื่อเข้า ไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดวโรรสได้ถึงเดือนละนับแสนบาท หรือที่ทำการไปรษณีย์อีกหลายแห่ง ที่เริ่มแบ่งพื้นที่ให้ธุรกิจอื่นๆ เข้าไปใช้เช่าใช้พื้นที่ได้ อาทิ บริษัทขายโทรศัพท์มือถือ เข้าไปเช่าเปิดบูธขายโทรศัพท์ หรือเปิดเป็นร้านกาแฟ Post cafe
แต่อาจจะด้วยบุคลิกภาพของหน่วยงานที่เคยเป็นกิจการบริการของรัฐ ทำให้แนวทางการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจดังกล่าว ทำได้ค่อนข้างช้า และยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร
การเพิ่มสินค้า หรือบริการ ณ จุดขาย ในที่ทำการไปรษณีย์ ยังเป็นในลักษณะตั้งรับ คือใครคิดว่าอยากจะอาศัยเครือข่ายไปรษณีย์ เป็นช่องทางขายสินค้าของตนเองก็ติดต่อเข้ามา แต่การพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในเชิงรุก ประเภทที่มีการวางแผนเพิ่มสินค้าและบริการตามพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ที่ดำเนินการโดยไปรษณีย์ไทยเอง ยังมองเห็นได้ไม่เด่นชัดนัก
ที่น่าเสียดายคือ หากหลังจากการเชื่อมโยงข้อมูลของที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งเข้าด้วยกันด้วยระบบออนไลน์ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถใช้เครือข่ายที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพมากที่สุดแล้ว แนวทางดังกล่าวยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่ากับการปรับเปลี่ยนทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทจำกัด แทบจะเท่ากับเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า
แรงท้าทายทั้งหลายที่เข้ามากดดันให้ไปรษณีย์ไทยต้องดิ้นรนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นนั้น ดูไปแล้วอาจไม่ใช่เรื่องยาก หากไปรษณีย์ ไทยสามารถใช้เครือข่ายซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ยากกว่า คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิสัยทัศน์ วิธีคิด และขั้นตอนการทำงานของ พนักงานทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารลงมาถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่าง
การเป็นเอกชน ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ
|