ประธาน FIABCI WORLD ชี้ธุรกิจอสังหาฯของไทยและเอเชียน่าลงทุน เหตุช่องว่างทางทัศนคติและรสนิยม มีน้อย ระบุปี 2547 มีการลงทุนภาคอสังหาฯในเอเชียจำนวน 48.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอสังหาฯ "มานพ พงศทัต" ระบุพื้นที่ 7 โซนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นพื้นในอนาคตจะกลายเป็นพื้นที่ลงทุนด้านอสังหาฯที่น่าจับตามอง ขณะที่คอนโดฯใจกลางเมืองรุ่ง แห่ลงทุนแล้วปล่อยเช่าเพื่อหาผลตอบแทนกว่า 7% ต่อปี
นายดาโต๊ะ อลันธง ประธาน FIABCI WORLD ซึ่งเป็นองค์กรด้าน อสังหาริมทรัพย์ ที่มีสมาชิก 50 ประเทศ ทั่วโลก เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และเอเชียแปซิฟิก เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมาก เนื่องจากเหตุผลสองประการ คือ ปัจจุบันช่องว่างทางทัศนคติและรสนิยมในการเลือกที่อยู่อาศัย ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศแถบตะวันตกลดน้อยลง ประการที่สองคือ กระแสแห่งโลกาภิวัตน์ทำให้การติดต่อ สื่อสารง่ายขึ้น ทำให้การลงทุนในต่างชาติเป็นเรื่องไม่ยากนักในโลกปัจจุบัน
จากรายงานประจำปี 2547 สรุป ว่ามีเงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกสูงถึง 457 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็น การลงทุนในเอเชียแปซิฟิก สัดส่วน 11% คิดเป็นจำนวนเงิน 48.3 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2546 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดงาน Thailand International Property Investment Expo 2005 (TIPIE05) เมื่อวันที่ 23-25 กันยายนที่ผ่านมานั้น ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศมารวมกัน มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อแสดงศักยภาพของอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และงานครั้งนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กร FIABCI ซึ่งมีเครือข่ายจาก 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังเป็นโอกาสที่แสดงให้นักลงทุนต่างชาติเห็นถึงการลงทุนที่คุ้มค่า ผลตอบแทนที่ดี
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและประเทศไทย มีความเหมาะสมในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ 4 ประการ ประกอบด้วย
1.ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตอบรับเรื่องการเปลี่ยน แปลงด้านโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี มีความเป็นเมืองสูง
2. ประเทศไทยกำลังจะเปิดเรื่องการค้าเสรี ทำให้ การลงทุนระหว่างประเทศมีมากขึ้น
3. ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด เห็นได้จากปัจจุบันรัฐบาลเปิดให้ต่างชาติจับจองอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น การถือครองคอนโดมิเนียม 40-49%
4. มีพื้นที่การลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้น เช่นพื้นที่บริเวณสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยเฉพาะภูเก็ตในอนาคตจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภาษี (Tax Free Zone)
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีเขตจังหวัดที่ติดกับประเทศอื่นๆถึง 7 โซน ยกตัวอย่าง พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย ติดกับประเทศ พม่า และต่อไปยังประเทศจีนได้โดยง่าย, สระแก้ว ตราด ติดกับกัมพูชา เพราะฉะนั้นพื้นที่ในเขต 7 โซน ในอนาคตจะกลายเป็นพื้นที่ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจับตามอง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของชาว ต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา หากเป็นตลาด อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแล้วจะเป็นระดับไฮเอนด์มากกว่าระดับอื่น เนื่องจากสามารถทำตลาดได้ ง่ายกว่า ตรงกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ ไม่ต้องให้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน
คนไทยไม่ควรกลัวที่คนต่างชาติ จะเข้ามาลงทุนในบ้านเรา หรือซื้อที่อยู่อาศัย เพราะเขาเอาเงินเข้ามา หนีหนาวมาอยู่เมืองไทยเป็นเวลานานๆ เอาเงินมาใช้จ่ายทั้งนั้น แต่เราควรมีวิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้เขามาเอาเปรียบเราได้ นอกจากนี้ต่างชาติยังชอบไทยตรงที่เข้ามาอยู่แล้วไม่มีความรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าหรือเป็นคนต่างชาติ ไม่เมืองไทย ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ หลายประเทศ อ.มานพกล่าว
แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯ วิเคราะห์ว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ในไทย ส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักกับพื้นที่ ในเขตเศรษฐกิจ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ จะมีอัตราการเติบโตและมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ ซึ่งหากเป็นตลาดใน กรุงเทพฯแล้ว คอนโดมิเนียมเกรดเอจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนชาวต่างชาติที่ซื้อและปล่อยให้เช่าต่อ ซึ่ง ส่วนนี้จะสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้เฉลี่ยแล้วบางทำเลให้สูงกว่า 7% ต่อปี ขณะที่ความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยของทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10-12% ต่อปี คิดเป็น 50,000 คน จำนวน 5,000 ยูนิต โดยขณะนี้ชาวต่างชาติที่เป็นนักลงทุน และเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมระดับเอ ในกรุงเทพฯ อยู่มากกว่า 32-35% และผู้บริโภคซื้ออยู่อาศัยจริง 68-65% คาด ว่าภายในสิ้นปีตัวเลขกลุ่มนักลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% เทียบเท่ากับสัดส่วนของนักลงทุนคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันราคาคอนโดฯ ระดับเอ ในแถบซีดีบี มีระดับราคาต่ำที่ 35,000-120,000 บาทต่อตร.ม. เมื่อเทียบกับราคาคอนโดฯระดับเดียวกันในฮ่องกง อยู่ที่ 840,000 บาทต่อตร.ม. มีอัตราผลตอบแทนที่ 1.5%, ในสิงคโปร์ อยู่ที่ 300,000 บาทต่อตร.ม. มีอัตราผลตอบแทนที่ 3% และในเซี่ยงไฮ้ อยู่ที่ 100,000 บาทต่อตร.ม. มีอัตราผลตอบเทนที่ 4-6% เท่ากับในประเทศ ไทย แต่เชื่อว่าประสิทธิภาพด้านการก่อสร้างและการออกแบบในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้ชาวต่างชาติ หันมาเลือกลงทุนในไทยมากขึ้น
"เรื่องของแหล่งเงินไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะเข้ามา เพราะว่ามีสถาบันการเงินเริ่มปล่อยเงินกู้สำหรับลูกค้าของสาขา ที่อาศัยในต่างชาติ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นคือ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสิงคโปร์ ที่พร้อมปล่อยกู้ลูกค้าเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาฯในกรุงเทพฯ โดยให้เลือกระหว่างเงินกู้ในรูปแบบเงินบาทหรือเป็นเงินสกุลดอลลาร์ แต่เท่าที่พบเห็นลูกค้าจะป้องกันความเสี่ยง โดยเลือกกู้เงินในรูปสกุลเงินดอลลาร์" แหล่งข่าวกล่าว
อนึ่ง สำหรับภาวะตลาดคอนโดฯ ค่อนข้างสวนกระแส จากการชะลอตัว ของธุรกิจอสังหาฯโดยรวม เนื่องจากตลาดให้เช่าที่พักอาศัยมีการเติบโตดี โดยมีอัตราเฉลี่ยห้องว่างของคอนโด-มิเนียมใจกลางกรุงเทพฯ ที่ 50% ในปี 2541 มาอยู่ที่ 10.5% ในไตรมาสแรกของปี 2547 ซึ่งในช่วงดังกล่าวมี คอนโดฯ ทั้งสิ้น 39,515 ยูนิต ส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในทำเลสุขุมวิท, ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและสาทร ซึ่งในส่วนของโครงการคอนโดฯ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในช่วงปี 2548- 2551 กว่า 83 โครงการ คิดเป็น 14,093 ยูนิต โดยกว่า 63% เป็น โครงการในย่านซีบีดี สาทร สุขุมวิท ซึ่ง สามารถทำยอดขายไปแล้วกว่า 70%
|