แม้ว่าสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ จะไม่ติดอยู่ในโผรายชื่อ ผู้สมัครเข้าชิงเก้าอี้กรรมการผู้จัดใหญ่
บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น มาตั้งแต่แรก แต่หลังจากนั้นชื่อของเขาก็ถูกเสนอแทน
อรัญ เพิ่มพิบูลย์ รองผู้อำนวยการ ตัวเก็งที่ขอถอนตัวออกไปช่วงโค้งสุดท้าย
1 ตุลาคม 2545 คือ ดีเดย์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก่อนบ่าย 3 โมงเล็กน้อย
สิทธิชัยเดินขึ้นมาบนชั้น 7 ทักทายสื่อมวลชนด้วยใบหน้าแจ่มใสในชุดสูทที่ตัดอย่างประณีต
แม้ว่าจะต้องใช้เวลาตลอดช่วง เช้าฉายวิสัยทัศน์ให้กับพนักงาน 22,000 คน ซึ่งเป็นภาระที่หนักเอาการของผู้นำองค์กรในยุคที่ต้องแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจ
ไปสู่องค์กรเอกชน
สิทธิชัยเป็นลูกหม้อของ ทศท. เริ่มงานมาตั้งแต่ปี 2511 ใช้ชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย
แต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร ตำแหน่งล่าสุดคือ รองผู้อำนวยการ ทศท. เคยผ่านการเป็นเลขาบอร์ดทศท.
มาแล้วเกือบทุกสมัย และนี่เองทำให้เขารับรู้เรื่องราว ความเป็นมาของโครงการสำคัญๆ
ของ ทศท. มาโดยตลอด
"ผมเป็นคนที่ประสานงานร่วมได้กับทุกฝ่าย ความอาวุโสของผม คนในองค์กรก็ให้ความเคารพ
รวมทั้งในแง่ขององค์กรข้างนอก การนั่งเป็นบอร์ดของบริษัทร่วมการงาน ทำให้รู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่
รู้จักบริษัทเอกชน" สิทธิชัยบอก
กรรมการผู้จัดการ วัย 58 ปีผู้นี้ ไม่เพียงแต่จะนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชน
ที่มีสัญญาร่วมการงานกับ ทศท. ทำให้การทำความเข้าใจในการบริหารแบบเอกชนดูจะง่ายขึ้น
การเรียนจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. รุ่น 399 ทำให้เขาเชื่อว่าเครือข่ายความสัมพันธ์เหล่านี้
จะถูกใช้ประโยชน์ในเชิงการตลาดในยุคที่บริษัท ทศท ต้องเปลี่ยนจากการใช้เทคโนโลยีนำหน้ามาเป็นการตลาดนำ
"ผมจะไปพบกับลูกค้ารายใหญ่ อย่างธนาคารกรุงเทพ กระทรวงมหาดไทย ปลัดมหาดไทย
ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ กองทัพเรือ ก็เรียน วปอ.รุ่นเดียวกัน ผมจะไปหาเขา
พา Account Manager ไปเยี่ยม เอาบริการใหม่ๆ ไปนำเสนอ" สิทธิชัยเล่าถึงการปรับตัวจากนี้
การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากระบบราชการมา บริหารงานในแบบเอกชน คือ เงื่อนไขสำคัญสำหรับอดีตรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดเป้าหมาย เป็น 1 ใน 3 ของบริษัทโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชีย
หมายความว่า ทศท.จะต้องมีมูลค่าองค์กร (Enterprise Value) 5 แสนล้านบาท
แต่มูลค่าธุรกิจปัจจุบันของบริษัท ทศท อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
สำหรับอดีตรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
เขารู้ดีว่า ผลจากการแปรสภาพจากผู้คุมกฎกติกามาเป็นผู้ให้บริการ มีผลต่อโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วน แบ่งรายได้จากค่าสัมปทานที่ลดลงไปเรื่อยๆ ต้องถูกแทนที่ด้วยรายได้จากบริการหลักๆ
ในมือ เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์สาธารณะ และนั่นหมายถึงการลงสนามแข่งขันสู้กับเอกชน
ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ ทศท. ไม่คุ้นเคยมาก่อน
การจัดตั้ง Super Team คือ คำตอบของการสร้างระบบบริหารจัดการรูปแบบใหม่
จะมี CEO (Chief Exclusive Officer) ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจบริการ ทั้ง 9 กลุ่มธุรกิจ
ให้ความสามารถในการสร้างรายได้จากบริการเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง
ขณะที่พนักงานจะถูกสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการให้สิทธิถือหุ้นในบริษัท
ทศท
"เราให้เขาฝันเป็น เมื่อเขาฝัน เขาก็ต้องสานฝันว่า หุ้นที่เขาได้มา จะต้องเติบโตไปอีกกี่เท่า
และนั่นคือ สิ่งที่เขาต้องทำให้กับองค์กร"
นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอดีตรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ที่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่อง
ทั้งการจดทะเบียนในตลาดหุ้น และการแสวงหาพันธมิตร และหุ้นส่วนที่จะมีผลต่ออนาคตของบริษัท
ทศท คอร์ปอ เรชั่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้