หากเป็นไปตามกำหนดการ ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ การพิจารณาข้อมูลของบริษัทลลิล
พร็อพเพอร์ตี้ ในชั้นของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) น่าจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริษัทกระจายหุ้นขายต่อประชาชนทั่วไป
ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ได้ยื่นข้อมูลให้ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา
และถือเป็นบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แห่งแรก ในรอบ 5 ปี ที่แสดงความจำนงอย่างชัดเจนว่าจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นเมื่อ ปี 2540
"ตอนนี้เป็นจังหวะดีที่เราจะต้องระดมทุน เพราะเชื่อว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นธงนำของรัฐบาลในการกระตุ้น
เศรษฐกิจโดยรวมต่อไปอีก" ไชยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการ บริหาร ลลิล พร็อพเพอร์ตี้
บอก "ผู้จัดการ"
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ต้องการระดมเงินทุนจำนวน
1,000 ล้านบาท เพื่อในไปใช้ในการขยายโครงการใหม่ในปีหน้า ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีก
3 แห่ง
ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ที่เน้นสร้างเฉพาะโครงการบ้านเดี่ยว
และทาวน์เฮาส์ สำหรับคนระดับกลางถึงระดับสูง ในพื้นที่เมืองชั้นนอกของกรุงเทพฯ
ราคาบ้านโดยเฉลี่ย ของลลิลอยู่ในระดับ 1-3 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2545 ลลิลมีจำนวนโครงการที่ยังเปิดขายอยู่ทั้งสิ้น
12 โครงการ มูลค่า รวม 7,039 ล้านบาท
ลลิลมิใช่ดีเวลลอปเปอร์รายใหม่ ที่อาศัยจังหวะการเฟื่องฟูของตลาดหุ้นเสริมสร้างธุรกิจของตนเองให้ขยายตัว
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2536-2538 ในทางตรงข้ามบริษัทแห่งนี้ มีประวัติ
ศาสตร์ที่นานพอสมควร จุดกำเนิด และกลยุทธ์ที่ใช้ในการขยายโครงการ ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ผู้ก่อตั้งลลิล พร็อพเพอร์ตี้ คือ ทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์ พี่ชายคนโตของไชยันต์
ชาครกุล
อาชีพดั้งเดิมของทวีศักดิ์ ซึ่งสืบทอดต่อมาจากรุ่นพ่อคือรับเหมาก่อสร้าง
เขาคือผู้รับเหมารายใหญ่ให้กับบริษัทบ้านและที่ดินไทย ในเครือตึกดำ ของสุธี
นพคุณ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม PSA ร่วมกับพร สิทธิอำนวย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มาก
เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน
การเข้ามาทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของทวีศักดิ์เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ
เพราะเมื่อกลุ่มตึกดำล่มสลายลงในกลางทศวรรษ 2520 บริษัทบ้านและที่ดินไทยได้ค้างค่ารับเหมาก่อสร้างกับทวีศักดิ์เป็นเงินประมาณ
10 ล้านบาท จึงได้นำที่ดินใน โครงการหมู่บ้านจัดสรรในซอยสุขุมวิท 101 มาชำระแทนเงินสด
ทวีศักดิ์นำโครงการนี้มาทำต่อ โดยมีไชยันต์คอยให้ความ ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
และประสบความสำเร็จ
"ตอนนั้นเราคิดว่าถ้าจะทำแต่รับเหมาก่อสร้างอย่างเดียวมันเสี่ยง เพราะเงินเราต้องลงไปก่อน
แล้วคนที่ว่าจ้างจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ก็เลยตัดสินใจทำโครงการเอง" ไชยันต์เล่า
ผลสำเร็จจากการเข้า ไปรับช่วงโครงการในซอยสุขุมวิท 101 ของบริษัทบ้านและที่ดินไทย
ทำให้ทวีศักดิ์และไชยันต์เริ่มต้นสะสมที่ดิน เพื่อนำมาทำโครงการบ้านจัดสรร
โดยช่วง 2-3 ปีแรก ยังเป็นเพียงโครงการขนาดที่ไม่ใหญ่มากนักเพื่อสร้างสมประสบการณ์
ทั้งคู่เริ่มจริงจังกับธุรกิจ นี้ โดยจดทะเบียนตั้งบริษัท ลลิล แลนด์ แอนด์
เฮ้าส์ ขึ้น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 โครงการ แรกที่ทำในนามลลิล คือ "ลัลลี่
วิลล์" โครงการทาวน์เฮาส์ จำนวน 800 ยูนิต ใน 2 ทำเล คือ ถนนศรีนครินทร์
และธูปเตมีย์ พื้นที่รวม 88 ไร่ มูลค่ารวม 1,100 ล้านบาท
"เรามองว่าความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงคือ บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์
และทำเลที่มีศักยภาพจริงๆ คือในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่รอบนอก 4 มุมเมือง
เราจึงมุ่งเข็มมาทางนี้"
ระหว่างปี 2535-2538 เส้นทางเดินของตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางเดียวกัน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทั้งตลาด หุ้น และอสังหาริมทรัพย์อยู่ในขั้นบูมสุดขีด
ขณะนั้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เข้าไปจดทะเบียนอยู่แล้วถึง
33 บริษัท และยังมีบริษัทที่เข้าคิวรอเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่อีก 36 บริษัท
แต่ในจำนวนนี้ ไม่มีชื่อ ของลลิล แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รวมอยู่ด้วย
ไชยันต์บอกถึงสถานการณ์ในช่วงนั้นว่า มีการเก็งกำไรกัน มากเกินไป ที่ดินสวยๆ
หลายแปลงในกรุงเทพฯ ถูกจับจองเอา ไว้หมด การซื้อจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
ซึ่งเป็นเหตุผล ที่หลายบริษัทต้องเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้น และสุดท้ายก็มีความเสี่ยงสูง
เพราะราคาบ้านและที่ดินที่มีการซื้อขายกัน ไม่ได้ตอบสนองต่ออุปสงค์ที่แท้จริง
ประกอบกับฐานเงินทุนของลลิลในขณะนั้น ก็มีเพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปอาศัยกลไกของตลาดหุ้น
"ตอนนั้นเราตั้งเป้าไว้ว่า ขนาดของเราจะต้องติดอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัทนอกตลาด"
การไม่เข้าตลาดหุ้นของ ลลิลในช่วงนั้น ทำให้บริษัทจำเป็นต้องมีการขยายตัวแบบ
ค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ฐานเงินทุนของตัวเองเป็นหลัก "ตั้งแต่ตั้งบริษัท อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนของเรา
ไม่เคยถึง 1 เท่า"
ยุทธศาสตร์นี้ได้แสดงผลดีในภายหลัง เพราะเมื่อฟองสบู่แตก บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากกว่าครึ่ง
ต้องปิดตัวเองลง ส่วนที่เหลือกว่า 90% ก็กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(NPL) ของธนาคาร แต่ลลิล แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงฐานะของลูกค้าปกติกับทุกสถาบันการเงิน
ปลายปี 2541 หลังจากช่วงที่รุนแรงที่สุดของวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายลง
ลลิลมองเห็นทิศทางความต้องการซื้อ ที่อยู่อาศัยของประชาชน มีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
สถานการณ์ในช่วงนั้น มีโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จเหลือค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
และหลายโครงการที่มีศักยภาพ แต่ต้องหยุดการก่อสร้าง เพราะเจ้าของโครงการประสบปัญหาทาง
การเงิน
ลลิลเคยมีประสบการณ์ในการนำโครงการที่มีปัญหาไปทำต่อจนเสร็จมาแล้วในช่วงเริ่มก่อตั้ง
จึงมองสถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาส และเริ่มมองหาโครงการประเภทที่มีศักยภาพเพื่อนำไปทำต่อ
"การเทกโอเวอร์ครั้งแรกเราทำเพื่อให้อยู่รอด แต่คราวนี้เราทำเพราะเรามองเห็นวิกฤติเป็นโอกาส"
ต้นปี 2542 ลลิลเข้าไปซื้อโครงการบ้านเดี่ยว จำนวน 200 ยูนิต ในพื้นที่
40 ไร่ บนถนนสุขุมวิท 77 - อ่อนนุช เพื่อมาทำเป็นโครงการลลิล กรีนวิลล์ มีมูลค่ารวมประมาณ
650 ล้านบาท โครงการนี้เดิมเป็นของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) แต่ติดไฟแนนซ์
อยู่กับบริษัทเงินทุนสินเอเซีย ในช่วงที่เกิดวิกฤติ
การเข้าไปเทกโอเวอร์โครงการนี้ ลลิลได้เริ่มต้นสร้างปรากฏการณ์ใหม่ 2 อย่างขึ้นในวงการพัฒนา
อสังหาริมทรัพย์ หนึ่ง-คือการสร้างบ้านก่อนขาย และสอง-การนำระบบค้ำประกันเงินดาวน์
(Escrow Account) เข้ามาใช้
"เราทำเพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ตอนนั้นความต้องการที่อยู่อาศัยมีมาก
แต่ทุกคนกลัวว่าเมื่อจ่ายเงินดาวน์ไปแล้วจะไม่ได้บ้าน"
ทั้ง 2 กลยุทธ์ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
จากโครงการที่อ่อนนุชในปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ลลิลได้ซื้อโครงการที่ได้มีการสร้างค้างไว้มาทำต่อเพิ่มขึ้น
อีก 3 โครงการ คือ โครงการบ้านบุรีรมย์ ถนนรามอินทรา-คู้บอน บ้านบุรีรมย์
โครงการ 2 และ 3 รวมถึงโครงการ ลลิล กรีนวิลล์ บนถนนวัชรพล มูลค่ารวม 1,809
ล้านบาท และยังเตรียมเปิดโครงการบ้านบุรีรมย์ และลลิล กรีนวิลล์ รังสิต คลอง
4 ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 2,800 ล้านบาท
นับแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน ผลประกอบการของ ลลิล มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จาก 35.22 ล้านบาท ในปี 2542 เพิ่มเป็น 36.79 ล้านบาท ในปี 2543 และ 72.91
ล้านบาท ในปี 2544 ส่วนงวดครึ่งปี ณ วันที่ 31 มิถุนายนที่ผ่านมา ลลิลมีกำไรแล้ว
106.9 ล้านบาท
ไชยันต์มองสถานการณ์ของธุรกิจพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ปัจจุบันว่า มีความแตกต่างจากเมื่อปี
2536-2538 อย่างสิ้นเชิง ภาวะการเก็งกำไรได้ลดน้อยลง ความต้อง การซื้อ และราคาของบ้าน
ได้ปรับตัวเข้าสู่สมดุล และ ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย ก็มีความเป็นมืออาชีพ
เมื่อไม่นานมานี้ เขาจึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก ลลิล แลนด์ แอนด์ เฮาส์
เป็น ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ โดยใช้ อักษรย่อ LP และยื่นเรื่องขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เขาเชื่อว่าด้วยผลงาน และผลประกอบการของ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LP) น่าจะเป็นหุ้นบลูชิป
ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักลงทุนได้อีกตัวหนึ่ง