นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนภารกิจที่ขรรค์ ประจวบเหมาะ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
คือการเก็บกวาดขยะที่คั่งค้างอยู่ในธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
ขยะที่พูดถึง ได้แก่ บรรดาสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหลาย ทั้งสินเชื่อ
(Non-Performing Loans : NPL) และสินทรัพย์ (Non-Performing Assets : NPA)
ด้าน NPL เมื่อเริ่มงานได้เพียงเดือนเดียว เขาได้ประกาศ โครงการ ธอส.เพื่อคุณ
(NPL GHB 4 U) เพื่อช่วยลูกหนี้ที่เป็น NPL จำนวน 89,000 ราย ที่มีรายชื่ออยู่ในวันที่
31 สิงหาคม โดยการลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นรายได้ให้กับผู้ที่มาเจรจาประนอมหนี้ในช่วงนี้
โดยหาก NPL รายใดต้องการชำระหนี้ปิดบัญชี ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยย้อนหลัง
ตั้งแต่วันที่เริ่มกู้ จนถึงวันยื่นคำร้อง ในอัตราต่ำเป็นพิเศษ ระหว่าง 4-6.5%
ตามวงเงิน
ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ปิดบัญชี แต่ต้องการชำระบางส่วน และผ่อนส่วนที่เหลือ
ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นแบบคงที่แบบขั้นบันได ระหว่าง 3.75-4.75% ในระยะเวลา
6 ปี
จากงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2544 ธอส. มีสินทรัพย์รวม 3.07 แสนล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อ และดอกเบี้ยค้างรับเมื่อหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว
เป็นจำนวน 2.7 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วน NPL 17.81%
เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 49 ปี ในการดำเนินงานของ
ธอส. ขรรค์ได้ประกาศแผนจัดการกับสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) ซึ่งมีอยู่ประมาณ
14,000 ล้านบาท โดยให้ประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร
สามารถติดต่อซื้อเข้ามาได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบ การประมูล และยังให้แรงจูงใจกับพนักงานที่สามารถขายทรัพย์สิน
ดังกล่าวได้ โดยให้ค่านายหน้า 2%
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ ที่ต้องการซื้อทรัพย์สินรอการขายที่เป็นล็อตใหญ่
เพื่อ นำไปพัฒนาต่อ สามารถเข้ามาเจรจาเพื่อนำทรัพย์สินที่ว่าไปพัฒนาก่อน
และเมื่อสามารถขายได้ ก็ค่อยมาแบ่งกำไรกับธนาคาร ภายหลัง
"ขณะนี้มีผู้ที่แสดงความสนใจติดต่อเข้ามาแล้ว 3-4 ราย" ขรรค์บอก
ตามเป้าหมาย ธอส.มีแผนจะขาย NPA ในปีนี้จำนวน 1,500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่งขายไปได้เพียง
1,000 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าได้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,500 ล้านบาท และ 2,000 กับ
2,500 ล้านบาท ในปี 2547-2548
ขรรค์เป็นอดีตนายแบงก์จากภาคเอกชนอีกผู้หนึ่ง ที่มีโอกาสได้เข้ามาบริหารธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
เขาเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ ธอส. ต่อจากพิชา ดำรงค์พิวัฒน์ ที่ได้ลาออก
ไปเป็น CFO ของกลุ่มทีพีไอ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์
ขรรค์เคยเป็นผู้บริหารธนาคารไทยทนุ แต่ได้ลาออก เนื่อง จากไม่พอใจนโยบายของธนาคารดีบีเอสจากสิงคโปร์
ที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ หลังจากธนาคารไทยทนุประสบปัญหาเงินทุนในช่วงที่เกิดวิกฤติปี
2540
ธอส.เป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากธนาคารกรุงไทย ที่ได้รับความคาดหวังจากรัฐบาลนี้ไว้ว่า
จะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเข้ามาในระบบ
กระบวนความคิดของขรรค์ ไม่แตกต่างจากสิ่งที่วิโรจน์ นวลแข ทำในธนาคารกรุงไทย
เพราะสิ่งแรกที่ต้องสะสางหลังเข้ารับตำแหน่งคือการเก็บกวาดบ้านให้สะอาดก่อน
เพื่อพร้อมรับภารกิจ ที่ภาครัฐได้มอบหมายให้
ส่วนเรื่องเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด เป็นเรื่องที่ค่อยมากำหนดขึ้นภายหลัง