การโบกมืออำลาเก้าอี้ CEO ในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ของอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดูจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก
หลายคนเชื่อว่าเกิดจากความขัดแย้งทางความคิดในการบริหารงานระหว่างไพบูลย์
ดำรงชัยธรรม และอภิรักษ์ โกษะโยธิน
แต่เมื่อมองถึงข้อเสนอใหม่ โอกาส และผลตอบแทนที่ดีกว่าของทีเอ ออเร้นจ์
เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เสียทีเดียว
จะว่าไปแล้ว อภิรักษ์เองย่อมรู้ดีว่าการเลือกมาอยู่ร่วมในองค์กรธุรกิจ
Entertainment ย่อมไม่เหมือนกับการอยู่ในธุรกิจ Consumer Product ที่เขาทำสำเร็จมาแล้วกับการทำตลาดให้กับ
เป๊ปซี่ จนมาถึงฟริโตเลย์
สินค้า Entertainment เป็นเรื่องของคนและวัฒนธรรมการทำงาน ที่มีความละเอียดอ่อน
ซับซ้อน และที่สำคัญจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ต่อเนื่องมาแล้ว
20 ปี
ผู้บริหารที่ติดตามไพบูลย์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นลูกจ้างอยู่กับฟาร์อีสต์
แอดเวอร์ไทซิ่ง มาร่วมบุกเบิกในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ยังอยู่กันเกือบครบถ้วน
ยังคงทำหน้าที่ปั้นศิลปิน สร้างกลไกของ ธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่า อภิรักษ์จะสามารถสร้างระบบจัดการ ดูแลเรื่องช่องทางจำหน่าย สร้างมุมมองใหม่ๆ
ของการทำธุรกิจ รวมถึงการ สร้างภาพลักษณ์จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในสายตาคนภายนอกได้ดีขึ้น
แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงระบบหลังบ้าน แต่เมื่อถึงการที่ต้องดูแลบริหารศิลปิน
เขาจึงเข้าไม่ถึง
"บางเรื่องก็ทำได้ แต่บางเรื่องก็ทำได้ไม่ดี" อภิรักษ์ยอมรับ ว่าเขาไม่ถนัดกับการดูแลศิลปิน
ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาทำได้ไม่ดีนัก
แต่สำหรับศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์
แล้ว อภิรักษ์เป็นมืออาชีพที่มีความครบเครื่องในทุกๆ ด้าน
นอกเหนือจากประสบการณ์ในเรื่องการจัดการ และการตลาดของอภิรักษ์ ที่ประยุกต์ใช้กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือได้เป็นอย่างดี
ทั้งในการตลาด และการสร้างแบรนด์ ประสบการณ์ในธุรกิจ Entertainment ของเขาในจีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ ก็ทำให้ความเข้าใจในเรื่องของการสร้างเนื้อหาทางด้าน Entertainment
ซึ่งจะเป็นชิ้นส่วนสำคัญของโทรศัพท์มือถือ ที่กำลังมุ่งไปสู่บริการ ข้อมูล
ในลักษณะของ Non Voice Application ได้ไม่ยาก
ประสบการณ์จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์คาราโอเกะก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ศุภชัยเชื่อว่า
อภิรักษ์จะสามารถเข้าใจมิติในเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาของระบบราชการ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมได้เป็นอย่างดี
ความครบเครื่องเหล่านี้เองที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่าคนอื่น นอกจากอภิรักษ์แล้ว
ทีเอ ออเร้นจ์ มีมืออาชีพทั้งชาวไทย และต่างประเทศ อีก 4-5 รายอยู่ในโผ
ความไม่รู้ในเทคโนโลยี จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือในยุคนี้
ที่ต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีนำหน้า มาใช้เรื่องของตลาดนำหน้า
6 เดือนแรกของการทำงานในทีเอ ออเร้นจ์ จะเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ รูปแบบและสไตล์การทำงานของออเร้นจ์จะ
แบ่งออกเป็น 2 ช่วง
ความพร้อมของเครือข่ายที่จะเสร็จสมบูรณ์ครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากรในสิ้นปีนี้ของทีเอ
ออเร้นจ์ จะเป็นช่วงเวลา ของการสู้รบในสนามอย่างแท้จริง กลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบสร้างฐานลูกค้า
"ปีหน้าการแข่งขันของทีเอ ออเร้นจ์จะดุเดือดอย่างแน่นอน" คำยืนยันของศุภชัย
การแข่งขันของโทรศัพท์มือถือจะไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่โปรโมชั่น หรือตัดราคาเท่านั้น
การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น
การมาของอภิรักษ์ในทีเอ ออเร้นจ์ เป็นบทสะท้อนหนึ่งของการเตรียมพร้อมในเรื่องเหล่านี้
และโอกาสของมืออาชีพก็มาถึงอีกครั้ง