ตลท.เผยดัชนี FTSE /ASEAN เพื่ออ้างอิงการลงทุน บริษัทมาเลย์กวาดมากสุด 58 บริษัท ตามด้วยสิงคโปร์ 51 บริษัท บริษัทไทยติด 44 บริษัท ชินวัตรติดยกกลุ่ม 5 บริษัท ทีพีไอ เอ็นพาร์ค ไม่น้อยหน้าติดด้วย ส่วนดัชนีอาเซียน 40 (FTSE /ASEAN 40) ใช้ซื้อขายและสำหรับอ้างอิงออกอนุพันธ์ได้ มี 6 บริษัทยักษ์ใหญ่ตลาดหุ้นไทยติด ปตท. ปตท.สผ. แอดวานซ์ฯ "เศรษฐพุฒิ" แจงคัดเลือกบริษัทไทยเข้าคำนวณน้อยไม่เสียเปรียบ เหตุเป็นแค่เริ่มต้น เชื่อดัชนีดังกล่าวช่วยดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้าลงทุนในอาเซียน
วานนี้(21 ก.ย. ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ร่วมเปิดตัวดัชนี FTSE /ASEAN ในงานFinance Minister Investors Seminar ครั้งที่ 2 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ร่วมกับ FTSE Group จัดทำขึ้นครั้งแรก โดยโครงการการจัดทำดัชนี FTSE /ASEAN นั้น เป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์ เบอร์ซ่ามาเลเซีย จาการ์ต้า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และตลดาหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเนื้อหาการนำเสนอครั้งนี้ FTSE จะเป็นผู้นำเสนอและจะมีผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 5 แห่งมานำเสนอข้อมูล
สำหรับการจัดทำดัชนี FTSE /ASEAN แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) ดัชนี FTSE /ASEAN ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark Index) โดยจะมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนชั้นนำ 180 บริษัทจาก 5 ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศใช้อ้างอิงการลงทุนได้ ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือก โดยจะต้องมีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป)มากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะต้องมีปริมาณหลักทรัพย์หมุนเวียน(เทิร์นโอเวอร์) 0.5% ของจำนวนหุ้นของแต่ละบริษัท 10 - 12 เดือนที่ผ่านมา และมีสภาพคล่องหมุนเวียนที่ดี (ฟรีโฟลท)
FTSE/ASEAN ประกอบด้วยบริษัทจากสิงคโปร์ทั้งสิ้น 51 บริษัท, มาเลเซีย 58 บริษัท, อินโดนีเซีย 15 บริษัท, ฟิลิปปินส์ 12 บริษัท และไทย 44 บริษัท
ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนไทยที่ติดอยู่ใน FTSE/ASEAN จำนวน 44 บริษัท อาทิ กลุ่มธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วย PTT,PTTEP, RATCH, BANPU, NPC, TOC, กลุ่มชินวัตรประกอบด้วย ADVANC, SHIN, SATTEL, ITV, TMB กลุ่มสถาบันการเงิน เช่น BBL, KBANK, TMB, SCIB, SCB, AYS ส่วนบริษัทในกลุ่มอื่น ๆ เช่น TPI, TPIPL, N-PARK, LH, SCC, SCCC, AOT เป็นต้น
2) ดัชนี FTSE /ASEAN 40 เป็นดัชนีที่สามารถซื้อขายได้ (Tradable Index) ให้กองทุนต่างๆ มีการออกสินค้ามาจำหน่าย เช่น กองทุน ประเภท อีทีเอฟ (Exchange Trade Funds) รวมถึงเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงสำหรับสัญญาอนุพันธ์ (Derivatives Contracts) ต่างๆ ซึ่ง เกณฑ์คัดเลือกจะเลือกจากบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ FTSE /ASEAN Benchmark Index ซึ่งจะต้อง มีปริมาณหลักทรัพย์หมุนเวียน 20% ของจำนวนหุ้นที่มีใน 12 เดือนก่อนการคัดเลือก โดยดัชนีดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนทุกปี ในเดือน มีนาคม
เหตุที่มีการคัดเลือกจำนวน 40 บริษัท เนื่องเพราะเป็นจำนวนที่ไม่มากเกินไป เหมาะสำหรับการลงทุนที่จะออกสินค้า โดยบริษัท ของประเทศไทยเข้าไปอยู่ใน FTSE /ASEAN 40 จำนวน 6 บริษัท, มาเลเซีย จำนวน 14 บริษัท สิงคโปร์ 12 บริษัท อินโดนีเซีย 7 บริษัท และฟิลิปปินส์ 1 บริษัท
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานวิจัยและสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่บริษัทของประเทศไทย ถูกคัดเลือกเข้าไปอยู่ใน ดัชนี FTSE /ASEAN 40 มีเพียง 6 บริษัทนั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียเปรียบ เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นจากที่ทุกประเทศไม่มีสินค้าดังกล่าว และฟิลปปินส์ มีเพียง 1 บริษัทเท่านั้น
จากที่มีการพูดคุยกับนักลงทุนต่างประเทศก็ให้ความสนใจกับดัชนี FTSE /ASEAN ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะมีการนำไปใช้เป็นสิ่งที่อ้างอิงการลงทุน และกองทุนต่างประเทศก็จะมีการออกสินค้าเข้ามาลงทุนในดัชนี FTSE /ASEAN 40
ส่วนกรณีที่ตลาดหุ้นของอีก 4 ประเทศมีการปรับตัวลดลงแล้วจะส่งผลให้ดัชนี FTSE/ASEAN 40 ปรับตัวลดลง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แต่ละประเทศก็จะมีการทำประชาสัมพันธ์ของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยก็มีจะมีการประชาสัมพันธ์ เช่นกัน ซึ่งไทยก็จะมี SET50 SET100 ให้นักลงทุนรู้จัก
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ดัชนี FTSE /ASEAN เกิดจากการผลักดันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศในกลุ่มอาเซียนในการสร้างแบรนด์ “อาเซียน” ให้โดดเด่นในแง่การเป็นทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจ และเป็นดัชนีที่ใช้วัดความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นอาเซียนโดยรวม ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉลียงใต้มีดัชนีอ้างอิงสำหรับตราสารทางการเงินและเอื้อให้มีสินค้าใหม่ๆ ในตลาดด้วย
ดัชนี FTSE /ASEANเป็นดัชนีระดับสากลชุดแรกที่ออกแบบมาเพื่อใช้อ้างอิงตลาดหุ้นอาเซียนโดยเฉพาะมีการจัดทำด้วยเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีการปรับค่าการกระจายหุ้นแก่ ผู้ลงทุนรายย่อย(Free Float) และใช้เกณฑ์การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมแบบICB (Industry Classification Benchmark)
นายมาร์ก เมคพีซ ประธานกรรมการบริหารของ FTSE Group กล่าวเพิ่มเติมว่า “FTSE รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกให้จัดทำดัชนีใหม่สำหรับตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน อันจะเอื้อให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงทุนในภูมิภาคได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้ เป็นอีกผลงานหนึ่งที่เราภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำในระดับนานาชาติ”
ทั้งนี้โครงการร่วมกันจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนสะท้อนให้เห็นถึงการผนึกกำลังในระดับภูมิภาคในการร่วมกันพัฒนาตลาดการเงินของอาเซียน การมีดัชนีของภูมิภาคที่จัดทำตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่ได้การยอมรับในระดับสากลของโดย FTSE GROUP จะทำให้ชื่อของ”อาเซียน” เป็นที่ยอมรับน่าสนใจ และรู้จัดแพร่หลายในกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
|