ยุครุ่งเรืองของเอสจีวี-ณ ถลาง คือ ช่วงที่ศาสตราจารย์ ยุกต์ ณ ถลาง ยังมีชีวิตอยู่
ภาพของเอสจีวี-ณ ถลาง ยุคนั้น เป็นกิจการเก่าแก่ของคนไทย ตั้งขึ้นโดยผู้บุกเบิกวิชาชีพสอบบัญชีในประเทศไทย
แม้เป็นเพียงสำนักงานท้องถิ่น แต่มีสายสัมพันธ์กับสำนักงานระดับภูมิภาค
เอสจีวี-ณ ถลาง ช่วง 5 ปีหลังการจากไปของศาสตรา จารย์ยุกต์ สายใยเก่าแก่ที่เหลืออยู่
สามารถเชื่อมโยงให้เห็น เงาภาพของท่านทาบอยู่เบื้องหลัง ทำให้กิจการสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
แต่ 5 ปีนี้ สายใยดังกล่าวค่อยๆ ถูกตัดออกไป พร้อมกับอุปสรรคที่เริ่มประดังเข้ามา
วิกฤติที่เกิดกับวงการผู้สอบบัญชีในอเมริกาครั้งล่าสุด เป็นการตัดสายใยเส้นสุดท้ายให้ขาดสะบั้นลงโดยสิ้นเชิง
อนาคตของเอสจีวี-ณ ถลาง ภายใต้เสื้อคลุมผืนใหม่ที่ชื่อ เคพีเอ็มจี จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม
หากจะสรุปว่าความจำเป็นที่กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง ต้องเข้าไปควบรวมกิจการ
กับเคพีเอ็มจี เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาความฉ้อฉลในการสอบบัญชีบริษัท Enron
ที่ Arthur Andersen LLP ก่อไว้ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อ 1 ปีก่อน อาจถูกต้องเพียงบางส่วน
แท้จริงแล้ว ปมของเอสจีวี-ณ ถลาง เป็นเรื่องที่สั่งสมมายาวนาน บทสรุปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของธุรกิจผู้สอบบัญชี ในประเทศไทย
วิวัฒนาการที่ชี้ว่าความมั่นคงของธุรกิจดังกล่าวในยุคนี้ ต้องอิงอยู่กับ
brand มากกว่าตัวบุคคล
"ธุรกิจของเรา เรื่อง brand เป็นสิ่งสำคัญ" ไขศรี นิธิการพิศิษฐ์ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา บอกกับ "ผู้จัดการ"
เอสจีวี-ณ ถลาง เป็นสำนักสอบบัญชีที่ก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ยุกต์ ณ
ถลาง ตั้งแต่ปี 2483
ในช่วงตั้งสำนักงานใหม่ๆ ยังใช้แค่ชื่อสำนักสอบบัญชียุกต์ ณ ถลาง แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเอสจีวี-ณ
ถลาง เมื่อศาสตราจารย์ยุกต์ ดึง SGV & CO จากฟิลิปปินส์ เข้ามาร่วมมือด้วย
ศาสตราจารย์ยุกต์ เป็นผู้สอบบัญชี สมัยใหม่ยุคต้นๆ ของประเทศไทย เขาเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากทางการในลำดับที่
1
ศาสตราจารย์ยุกต์จบการศึกษา CPA จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และ MBA จากมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น
ฟิลิปปินส์และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เป็นอดีตข้าราชการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
และ ผู้ร่วมก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การตั้งสำนักสอบบัญชี มาจากการ ที่รัฐบาลยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ได้ประกาศใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลรัษฎากร กฎหมาย ทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้บริษัทใหญ่ๆ
ต้องมีผู้สอบบัญชี และรัฐจะเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิที่คำนวณทางบัญชี
เมื่อศาสตราจารย์ยุกต์ยังมีชีวิตอยู่ เอสจีวี-ณ ถลาง ถือเป็นสำนักสอบบัญชีที่รุ่งเรืองที่สุด
เพราะนอกจากเป็นกิจการเก่าแก่ของคนไทย ที่มีสายสัมพันธ์กับสำนักงานที่ได้รับการยอมรับระดับภูมิภาคแล้ว
ตัวของศาสตราจารย์ยุกต์ ยังได้รับความเชื่อถือจากคนในสังคมธุรกิจในฐานะกรรมการหอการค้าไทย
ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานและทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งความเป็นอาจารย์ผู้บุกเบิกวิชาชีพสอบบัญชีสมัยใหม่ในประเทศไทย
ซึ่งมีลูกศิษย์มากมาย กลาย เป็นบุคคลสำคัญในวงการธุรกิจ และราชการไทย โดยเฉพาะกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ
กิจการขนาดใหญ่ และเก่าแก่หลายแห่ง อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย ลีเวอร์บราเธอร์
ฯลฯ ล้วนให้ความมั่นใจเข้าใช้บริการสอบบัญชี และรับรองบัญชี จากสำนักงานเอสจีวี-ณ
ถลาง ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะ ปูนซิเมนต์ไทย ยังคงให้ความเชื่อถือ และเป็นลูกค้าของศาสตราจารย์ยุกต์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
"เมื่อก่อนเอสจีวี-ณ ถลาง คือ สำนักสอบบัญชีที่อยู่ในใจนักศึกษาพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ธรรมศาสตร์ ที่อยากเข้าไปทำงานด้วยเมื่อเรียนจบ" ศิษย์เก่าคนหนึ่งบอก
พนักงานของเอสจีวี-ณ ถลางในยุคเริ่มแรก ส่วนใหญ่จึงเป็นศิษย์เก่าพาณิชยศาสตร์
และการบัญชี ธรรมศาสตร์ และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งบริหาร หรือเป็น partner ส่วนมากเป็นลูกศิษย์โดยตรงของศาสตราจารย์ยุกต์
ธุรกิจผู้สอบบัญชี เป็นธุรกิจเฉพาะที่มีความแตกต่างจากธุรกิจการค้า หรืออุตสาหกรรมโดยทั่วไป
จุดที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นได้ อยู่ที่ความเชื่อถือ และไว้วางใจในตัวนักสอบ
บัญชี ผู้ให้บริการเป็นสำคัญ และชื่อนักสอบบัญชีที่ได้รับความเชื่อมั่น จะถูกพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นเสมือนตราสินค้า
(brand) ที่ลูกค้าสามารถไปเลือกใช้บริการ
ช่วงที่ศาสตราจารย์ยุกต์ก่อตั้งสำนักสอบบัญชีของตัวเองขึ้นมาใหม่ๆ สำนักสอบบัญชีแห่งนี้
เป็นเพียงสำนักงานท้องถิ่น ที่แม้จะได้รับความเชื่อถืออย่างยิ่งในประเทศไทย
แต่การจะดึงลูกค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติเข้ามาใช้บริการ จำเป็นต้องมีสายสัมพันธ์กับสำนักสอบบัญชีที่เป็นเจ้าของ
brand ที่ได้รับการยอมรับกันระหว่างประเทศ
ศาสตราจารย์ยุกต์เลือกที่จะมีสายสัมพันธ์กับ SGV & CO เพราะเห็นว่าเป็นคนเอเชียด้วยกัน
ประกอบกับสังคมธุรกิจไทย ยังเป็นสังคมแคบ ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวบุคคล
มีความสำคัญมากกว่า
SGV & CO ก่อตั้งโดย Washington SyCip ผู้สอบบัญชีสัญชาติฟิลิปปินส์
สำนักสอบบัญชีแห่งนี้ มีบทบาทโดดเด่นขึ้นอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
2 จนได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ไม่แพ้สำนักสอบบัญชีระดับโลก (อ่านรายละเอียดในประวัติ
Auditor Firm It's just the matter of Trust)
ยุกต์ ณ ถลาง ได้พบกับ Washington SyCip ในงาน The 1st Far East Con-ference
of Accountants in Asia ซึ่งจัดขึ้นในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2500
เขาทั้ง 2 มีทัศนะตรงกันที่ต้องการยกระดับวิชาชีพผู้สอบบัญชีท้องถิ่นให้ขึ้นไปสู่มาตรฐานสากล
ทัศนะที่ตรงกัน ก่อเป็นสายสัมพันธ์ทำให้ทั้งสองสำนักงานมีความร่วมมือกันใน
อีก 10 ปีต่อมา โดยได้มีการจัดตั้งสำนักงานตรวจสอบบัญชีซีซิป กอเรส เวลาโย-ณ
ถลาง ขึ้นในปี 2510 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย
ถนนสีลม
"อาจารย์ยุกต์ท่านมองเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า วันหนึ่งทุนข้ามชาติต้องเข้ามามีบทบาท
ถ้าเราไม่มีสายสัมพันธ์กับสำนักสอบบัญชีระดับโลก เราก็ไม่สามารถขยายตัวได้"
ธวัช ภูษิตโภยไคย ลูกศิษย์ที่ร่วมงานกับศาสตราจารย์ยุกต์ ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก
เล่ากับ "ผู้จัดการ"
สำนักสอบบัญชีเจ้าของ brand ระดับโลกที่ธวัชพูดถึง หากย้อนกลับไป เมื่อ
40 ปีก่อน มีอยู่ประมาณ 8 แห่ง และค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการรวมสำนักงานระหว่างกัน
ในปัจจุบัน หลังจากเกิดปัญหาขึ้นกับ Arthur Andersen ในกรณีของ Enron แล้ว
brand ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ลดเหลือเพียง 4 แห่งเท่านั้น คือ Price
Waterhouse and Coopers & Lybrand, Ernst & Young, Deloitte Touche
Tohmatsu และ KPMG
ปี 2516 เมื่อมีการประกาศกฎหมายกำหนดให้วิชาชีพสอบบัญชีต้องเป็นของคนไทย
ศาสตราจารย์ยุกต์ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน
3.8 แสนบาท และย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4
องค์กรของผู้สอบบัญชี มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจทั่วไป เพราะมีลักษณะเป็นสำนักงาน
(firm) มากกว่า แม้จะมีการจดทะเบียนในรูปบริษัท (company)
firm เปรียบเสมือนคณะบุคคลที่อยู่ในวิชาชีพเดียวกัน มีปรัชญาและอุดมการณ์ตรงกัน
มารวมกลุ่มกันเพื่อทำงานตามความสามารถในวิชาชีพ โดยมิได้ให้น้ำหนักในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้น
เส้นทางการเติบโตในสายวิชาชีพผู้สอบบัญชี เริ่มต้นจากการเป็นพนักงาน และค่อยๆ
ไต่เต้าพัฒนาความรู้ความสามารถ จนได้รับเลือกให้ร่วมถือหุ้น (partner) และขึ้นไปถึงจุดสูงสุดด้วยการเป็นผู้บริหาร
เมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณอายุเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามารับช่วงต่อ ก็ต้องขายหุ้นที่ถืออยู่กลับคืนไปให้
firm ในราคาเดิมที่ซื้อมา
กิจการของบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ภายใต้การบริหารงานของศาสตราจารย์
ยุกต์ เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะภายหลังมีการตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ
ไทยขึ้น ในวันที่ 30 เมษายน 2518 ที่ได้เพิ่มบทบาทให้กับสำนักงานสอบบัญชีทุกแห่ง
ไม่ว่าจะเป็น firm ระดับโลก หรือ firm ท้องถิ่น
วันที่ 24 ตุลาคม 2518 หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดการซื้อขายครั้งแรกได้
6 เดือน ธวัช พร้อมด้วยมาริษ สมารัมภ์ และสุวรรณ วลัยเสถียร ได้เข้ามาเป็น
partner ของสำนักงาน แต่สุวรรณได้ลาออกหลังจากเป็น partner ได้เพียง 1 ปี
มาริษ สมารัมภ์ หรือที่คนในเอสจีวี-ณ ถลาง เรียกว่า "คุณมาร์" เป็นสามีของเอมวลี
สมารัมภ์ ลูกสาวคนโตของศาสตราจารย์ยุกต์
เขาเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์ เดิมชื่อ มาเรียนิโต ซิกโก ซามาเนียโก แต่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย
ให้โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2521
การเข้ามาเป็น partner ของมาริษ ผู้เป็นลูกเขย ทำให้ศาสตราจารย์ยุกต์ค่อยๆลดบทบาทตนเองออกจากงานบริหารประจำวัน
วันที่ 1 สิงหาคม 2521 เมื่อศาสตราจารย์ยุกต์มีอายุครบ 65 ปี ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
เหลือเพียงตำแหน่งประธาน และแต่งตั้งมาริษขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน
มาริษเข้ามาบริหาร สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ในยุคที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นบูมเป็นครั้งแรก
การบูมของตลาดหุ้น ส่งผลให้ธุรกิจสอบบัญชี มีการขยายรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายขึ้น
โดยเฉพาะธุรกิจที่ปรึกษา
สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ก็มีการขยายงานออกไปในแนวทางเดียวกัน โดยปีนั้นได้เริ่มขยายออกไปตั้งบริษัทลูก
ชื่อบริษัทสถาบันพัฒนาคอมพิวเตอร์ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 หมื่นบาท และเพิ่มเป็น
3 แสนบาทในอีก 2 ปีถัดมา บริษัทนี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการนำระบบคอมพิวเตอร์มาในองค์กร
อีก 1 ปีต่อมา สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ได้ร่วมทุนกับมานะ พิทยาภรณ์ ทนายความที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น
จัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาภาษีอากรเอสจีวีเอ็น และดอกเตอร์มานะขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน
3 แสนบาท แต่มานะร่วมทุนอยู่ด้วยไม่ถึง 2 ปี ก็ถอนตัวไปตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง
บริษัท นี้จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทที่ปรึกษาภาษีอากร และธุรกิจเอสจีวีเอ็นในเดือนเมษายน
2524
ปี 2529 เอสจีวี-ณ ถลาง ได้เปิดบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ชื่อเอ็กเซ็คคิวทีฟ
รีครู้ทเม้นท์ เซอร์วิสขึ้น มีทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท บริษัทนี้ทำหน้าที่จัดหาผู้บริหาร
ให้กับบริษัทที่เป็นลูกค้า เป็นการเพิ่มไลน์บริการให้ครบวงจรขึ้น
การขยายไลน์จากสอบบัญชีมาทำธุรกิจที่ปรึกษายุคนั้น เป็นแนวโน้มเดียวกับ
ที่เกิดขึ้นมาแล้วใน firm ของผู้สอบบัญชีทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่ผู้สอบบัญชี
เป็นคนที่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลทุกอย่างในบริษัทที่เป็นลูกค้า โดยเฉพาะข้อมูลทางการเงิน
ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้สอบบัญชีจึงมีหน้าที่ ในการให้คำปรึกษาเพิ่มเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ปรึกษาเป็นธุรกิจ ที่ใช้คนน้อยกว่า แต่กลับมีรายได้ดีกว่าธุรกิจสอบบัญชี
Arthur Andersen ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ยักษ์ใหญ่ผู้สอบบัญชีระดับ
โลกขณะนั้น ก็เริ่มพัฒนาธุรกิจให้คำที่ปรึกษามาตั้งแต่ปี 2510
นอกจากการขยายไลน์เข้าไปทำธุรกิจที่ปรึกษาแล้ว เอสจีวี-ณ ถลาง ในยุค ของมาริษยังมีการขยายสาขาออกไปยัง
ต่างจังหวัด โดยเริ่มตั้งสาขาแห่งแรกที่เชียงใหม่ในปี 2525 ตามด้วยสาขาหาดใหญ่
สาขาชลบุรี และนครราชสีมา รวมถึงสาขา ในกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง
ถือเป็นสำนักสอบบัญชีแห่งเดียวที่มี สาขาครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ในเอสจีวี-ณ ถลาง เกิดขึ้นครั้งแรกในปี
2528 เมื่อ SGV & CO ฟิลิปปินส์ ได้เข้าไป เป็นสมาชิกของ Arthur Andersen
สำนักสอบบัญชีระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ซึ่ง กำลังมีแผนจะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศย่านเอเชีย
เอสจีวี-ณ ถลาง ได้กลายเป็นเครือข่ายของ Arthur Andersen ในประเทศไทยไปโดยปริยาย
การเข้าเป็นสมาชิกของ Arthur Andersen ถือเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเอสจีวี-ณ
ถลาง เพราะจะทำให้เอสจีวี-ณ ถลาง ได้รับความช่วยเหลือทางด้านวิทยาการสมัยใหม่
โดยเฉพาะ ในธุรกิจที่ปรึกษาที่เพิ่งเริ่มเข้าไปจับอย่างจริงจังได้ไม่กี่ปี
แต่เอสจีวี-ณ ถลาง ก็เข้าเป็นสมาชิกของ Arthur Andersen ในช่วงเดียวกับที่
Arthur Andersen ในสหรัฐอเมริกา กำลังมีความขัดแย้งกันภายในระหว่างคนในส่วนที่ทำ
ธุรกิจสอบบัญชีกับธุรกิจที่ปรึกษา เนื่องจากผลตอบแทนที่แต่ละฝ่ายได้รับนั้นแตกต่างกัน
ปี 2529 กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง ซึ่งประกอบด้วยบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง
บริษัทสถาบันพัฒนาคอมพิวเตอร์ บริษัทที่ปรึกษาภาษีอากร และธุรกิจเอสจีวีเอ็น
และบริษัทเอ็กเซ็คคิวทีฟ รีครู้ทเม้นท์ เซอร์วิส ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ มาด้วยกันที่อาคารถลาง
เลขที่ 514/1 ถนนหลานหลวง ติดกับบ้านมนังคศิลา
อาคารแห่งนี้ เป็นของบริษัทธนายุกต์กิจการส่วนตัวของศาสตราจารย์ยุกต์ ที่ได้มอบหมายให้ลูกๆ
เป็นผู้ดูแล
มีคนวิเคราะห์ว่า การย้ายสำนักงานใหญ่ของกลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง เข้าไปอยู่ในที่ดินส่วนตัวของศาสตราจารย์ยุกต์ในครั้งนั้น
เปรียบเสมือนการสร้างฐานที่มั่นเพื่อรองรับการเติบใหญ่ หลังจากเอสจีวี-ณ
ถลาง ได้เข้าไปอยู่ในเครือข่าย Arthur Andersen
เดือนเมษายน 2530 บริษัทสถาบันพัฒนาคอมพิวเตอร์ ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเอสจี
วีเอ็น อาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น คอนซัลแต้นส์
บริษัทนี้ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็นเอสจีวีเอ็น-แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง
ในปี 2532 ซึ่งเป็นผลมาจาก Arthur Andersen ในสหรัฐอเมริกา มีการปรับโครงสร้างใหม่
หลัง ความขัดแย้งระหว่างคนในฝ่ายสอบบัญชี และที่ปรึกษาปะทุรุนแรงขึ้น
โครงสร้างใหม่ของ Arthur Andersen ในสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศใช้ในปีนั้น
มีการจัดตั้งบริษัท Andersen Worldwide ขึ้นเป็นบริษัทแม่ และแยกธุรกิจที่ปรึกษากับธุรกิจสอบบัญชีออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่
อีก 2 บริษัท ประกอบด้วย Andersen Consulting ทำธุรกิจที่ปรึกษา และ Arthur
Andersen ให้บริการสอบบัญชี โดยที่ธุรกิจ จากทั้ง 2 ฝั่งจะต้องนำส่งรายได้ในแต่ละปี
ให้กับ Andersen Worldwide
ในเมืองไทย ปี 2533 เป็นปีที่กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง แสดงความพร้อมที่จะเปิด
เกมรุกครั้งใหญ่
ในเดือนตุลาคม 3 บริษัทหลักในกลุ่ม ได้เพิ่มทุนจดทะเบียน ประกอบด้วยบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ
ถลาง เพิ่มทุนจาก 3.8 แสนบาท เป็น 4 ล้านบาท และถือเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ
17 ปี
บริษัทที่ปรึกษาภาษีอากร และธุรกิจ เอสจีวีเอ็น เพิ่มทุนจาก 1 ล้านบาท
เป็น 4 ล้านบาท และบริษัทเอสจีวีเอ็น-แอนเดอร์ เซ่น คอนซัลติ้ง เพิ่มทุนจาก
3 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท
หลังจากนั้น 2 เดือน ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยตั้งคณะกรรมการ
ชุดใหญ่ที่มีศาสตราจารย์ยุกต์เป็นประธาน มีกรรมการ 14 คน ทำหน้าที่ดูแลนโยบาย
ของกลุ่มในภาพกว้าง พร้อมทั้งแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ ให้เข้าไปดูแลการบริหาร
งานของ 4 บริษัทในเครือ
- บริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ซึ่งทำธุรกิจสอบบัญชี มีธวัช ภูษิตโภยไคย
เป็นกรรมการผู้จัดการ
- บริษัทที่ปรึกษาภาษีอากร และธุรกิจเอสจีวีเอ็น ทำธุรกิจที่ปรึกษากฎหมาย
มีนิกร์กานต์ สุจริตเวสส์ เป็นกรรมการ ผู้จัดการ
- บริษัทเอสจีวีเอ็น-แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง ซึ่งทำธุรกิจที่ปรึกษา วางแผนจัดระบบการบริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
มีเกียรติศักดิ์โอสถศิลป์ เป็นกรรมการผู้จัดการ
- บริษัทเอ็กเซ็คคิวทีฟ รีครู้ทเม้นท์ เซอร์วิส ทำ หน้าที่จัดหาผู้บริหารให้กับองค์กรธุรกิจทั้งในและต่าง
ประเทศ มีเฮซุส เอส.บัลเล็สเตร็อส เป็นกรรมการ ผู้จัดการ
กรรมการผู้จัดการของทั้ง 4 บริษัท จะรวมกันเป็นคณะกรรมการบริหาร โดยมีมาริษ
สมารัมภ์ เป็นประธานกรรมการบริหาร
ทั้ง 4 คน เป็นลูกศิษย์ และลูกน้องที่มาร่วมงานมากับศาสตราจารย์ยุกต์ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น
นิกร์กานต์ ซึ่งคนในเอสจีวี-ณ ถลาง เรียก "คุณนิกส์" เดิมเป็นชาวฟิลิปปินส์
ชื่อนิคานอร์ อิริคต้า ฟลอเรส แต่ได้โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย เริ่มเข้าเป็น
partner ของสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ตั้งแต่ปี 2523
เฮซุส เอส.บัลเล็สเตร็อส หรือ "คุณเจส" ชาวฟิลิปปินส์อีกคนหนึ่ง ที่เข้าเป็น
partner ของสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ในปี 2529
เกียรติศักดิ์ เป็นลูกหม้อเก่าที่ทำงานให้ศาสตราจารย์ยุกต์มาตั้งแต่ยังเป็นสำนัก
งานสอบบัญชีซีซิป กอเรส เวลาโย-ณ ถลาง แม้จะไม่เคยมีชื่อเข้าไปเป็น partner
ของ สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง แต่ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทในการขยายกิจการ โดยมีชื่อเป็นผู้ก่อตั้ง
และกรรมการของบริษัทที่ปรึกษาภาษีอากร และธุรกิจเอสจีวีเอ็น และบริษัทเอสจีวีเอ็น-แอนเดอร์เซ่น
คอนซัลติ้ง มาตั้งแต่ต้น
"การแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ในครั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสำนักงานอาเธอร์
แอนเดอร์เซ่น ซึ่งเป็นสำนักงานให้บริการด้านวิชาชีพสอบบัญชีและ ที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก
ซึ่งจะทำให้สำนักงานสามารถขยายบริการใหม่ได้เหมาะสม" ศาสตราจารย์ยุกต์กล่าวในการแถลงข่าวครั้งนั้น
(รายละเอียดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือน มกราคม 2534)
แต่หลังจากวันแถลงข่าวเพียง 2 ปี ศาสตราจารย์ยุกต์ก็เสียชีวิต
ต้นปี 2536 เอสจีวี-ณ ถลาง ปรับโครงสร้างการบริหารใหม่อีกครั้ง มาริษ สมารัมภ์
ขึ้นไปรับตำแหน่งประธาน มีกรรมการเพิ่มขึ้นเป็น 18 คน
ธวัช ภูษิตโภยไคย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มเอสจีวี-ณ
ถลาง
บริษัทเอสจีวีเอ็น-แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง ได้ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเหลือเพียง
แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง
มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทจัดหางาน ฮิวแมน รีซอร์สเซส คอนซัลแทนซ์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อทำธุรกิจลักษณะเดียว กับบริษัทเอ็กเซ็คคิวทีฟ รีครู้ทเม้นท์ เซอร์วิส
กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง ภายหลังการจากไปของศาสตราจารย์ยุกต์ เริ่มเพิ่มน้ำหนักความสำคัญลงไปยังธุรกิจที่ปรึกษา
(non-audit) เพราะแม้รายได้หลักของกลุ่มจะมาจากธุรกิจสอบบัญชี แต่ผลกำไรจากธุรกิจที่ปรึกษา
กลับมีแนวโน้มที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ในปี 2535 สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง มีรายได้รวม 199.76 ล้านบาท เป็นกำไร
13.09 ล้านบาท ขณะที่แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง มีรายได้ 151.91 ล้านบาท เป็นกำไร
12.96 ล้านบาท
ปี 2536 สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง มีรายได้ 231.27 ล้านบาท เป็นกำไร 11.60
ล้านบาท ส่วนแอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง มีรายได้ 117.85 ล้านบาท แต่มีกำไรถึง
19.88 ล้านบาท
และปี 2537 สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง มีรายได้ 270.04 ล้านบาท กำไร เพียง
12.07 ล้านบาท ขณะที่แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง มีรายได้ 122.95 ล้านบาท แต่กำไรเพิ่มขึ้นเป็น
24.25 ล้านบาท
"ผมคิดว่าเวลานี้งานในฝ่ายบริการสอบบัญชียังคงนำอยู่ แต่ต่อไปแนวโน้มมันจะก้ำกึ่งกัน
แต่ในระดับโลก non-audit จะสูงกว่าด้วยซ้ำ เพราะมันรวมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์
ที่ปรึกษาระบบงานธุรกิจ เรื่องภาษีอากรและกฎหมาย" ธวัชบอกกับ "ผู้จัดการ"
ไว้เมื่อปี 2536 (รายละเอียดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤษภาคม 2536)
แนวโน้มนี้ถูกตอกย้ำจากตัวเลข ในอีก 2 ปีต่อมา โดยปี 2538 สำนักงานเอสจีวี-ณ
ถลาง มีรายได้รวม 330.81 ล้านบาท แต่เป็นกำไรเพียง 20.58 ล้านบาท ส่วน ปี
2539 จากรายได้รวม 379.34 ล้านบาท เป็นกำไรแค่ 11.50 ล้านบาท
ขณะที่แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง ปี 2538 มีรายได้ 165.79 ล้านบาท เป็นกำไรถึง
33.28 ล้านบาท และในปี 2539 มีรายได้ 252.01 ล้านบาท เป็นกำไรถึง 76.75 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง กำลังเพิ่มความสำคัญลงไปยังธุรกิจที่ปรึกษา
ปรากฏ ว่าในสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งกันระหว่างคนในธุรกิจสอบบัญชีกับธุรกิจที่ปรึกษาของ
Arthur Andersen ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น แม้จะมีการแยกบริษัทออกจากกันไปแล้วตั้งแต่ปี
2532 แต่คนในส่วนของ Andersen Consulting ยังไม่พอใจที่คนจากธุรกิจสอบบัญชี
ได้ขึ้นไปมีอำนาจในการบริหารของ Andersen Worldwide ที่ Andersen Consulting
ต้องนำส่งรายได้ให้ทุกปี
ปี 2540 Andersen Consulting ได้ฟ้องร้องต่อ International Chamber of
Commerce ของสหรัฐอเมริกา เพื่อขอแยกตัวออกเป็นอิสระจาก Andersen Worldwide
โดยอ้างว่า และ Arthur Andersen ละเมิดสัญญา จัดตั้งแผนกบริการให้คำปรึกษาแย่งชิงลูกค้ากับ
Andersen Consulting
ตัวแทนของ Arthur Andersen ที่เข้ามาร่วมงานในบริษัทแอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง
ในประเทศไทย คือคนจากฝั่ง Andersen Consulting ชื่อวิคเตอร์ ปีเตอร์ คาวัลส์
ชาวออสเตรเลีย
การแยกตัวออกเป็น 2 กลุ่ม ของ Arthur Andersen ในสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น
ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเอสจีวี-ณ ถลางโดยตรง
กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง จะต้องเลือกว่าจะอยู่ฝั่งใคร ถ้าต้องการอยู่กับ Arthur
Andersen กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง ก็ไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อแอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง
ในการทำธุรกิจ
กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง เลือกอยู่ฝ่าย Arthur Andersen
เดือนมิถุนายน 2540 แอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง ได้แยกออกไปตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่อาคารอับดุลราฮิม
ถนนพระราม 4 และในเดือนสิงหาคมก็เพิ่มทุนจดทะเบียน ขึ้นเป็น 182 ล้านบาท
โดยเป็นเงินที่เพิ่มเข้ามาจาก Andersen Consulting สหรัฐอเมริกา
วันที่ 7 สิงหาคม 2543 คณะอนุญาโตตุลาการของ International Chamber of
Commerce มีคำวินิจฉัยออกมาว่าเห็นชอบให้ Andersen Consulting แยกตัวออกเป็นอิสระ
แต่ไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่า Andersen เป็น brand
วันที่ 1 มกราคม 2544 Andersen Consulting ทั่วโลกได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น
Accenture รวมถึงแอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง ในประเทศไทย ที่แยกตัวออกจากกลุ่ม
เอสจีวี-ณ ถลางเมื่อ 3 ปีก่อน ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้เช่นกัน
ส่วน Arthur Andersen ที่สหรัฐ อเมริกา หลังมีคำตัดสินออกมาให้ Ander-sen
Consulting สามารถแยกตัวออกไปเป็นอิสระ ก็ได้มีการจัดโครงสร้างใหม่ โดย ให้บริษัท
Arthur Andersen LLP ขึ้นมาทำหน้าที่สอบบัญชี ส่วน Andersen Worldwide SC
ทำธุรกิจที่ปรึกษา
ในประเทศไทย การที่กลุ่มเอสจีวี- ณ ถลาง ไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อแอนเดอร์เซ่น
คอน ซัลติ้ง ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับภาพลักษณ์ใหม่
กลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง มีความเชื่อมั่น ว่าชื่อ Andersen เป็นชื่อที่ขายได้
เพราะเป็น brand เก่าแก่ที่มีการใช้ทั่วโลกมาแล้วเกือบ 1 ศตวรรษ
กระบวนการสร้างชื่อใหม่ ได้เริ่มต้นขึ้น
ปี 2541 ชื่อกลุ่มเอสจีวี-ณ ถลาง ถูกเปลี่ยนเป็นกลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น
ประเทศไทย
ในเดือนกรกฎาคม ได้ย้ายสำนักงาน ใหญ่ออกจากอาคารถลาง เพื่อมาอยู่ที่อาคารสยามทาวเวอร์
บริษัทฮิวแมน รีซอร์สเซส คอนซัล แทนท์ ซึ่งจดทะเบียนไว้ที่เชียงใหม่ แต่ยังไม่ได้ประกอบธุรกิจ
ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ที่ปรึกษาธุรกิจอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น และย้ายทะเบียนลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ
บริษัทนี้ถูกกำหนดบทบาทให้ทำธุรกิจที่ปรึกษา ทดแทนบทบาทของแอน เดอร์เซ่น
คอนซัลติ้ง
บริษัทที่ปรึกษาภาษีอากรและธุรกิจเอสจีวีเอ็น ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสำนักกฎหมายและภาษีแอนเดอร์เซ่น
ส่วนบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ยังคงชื่อเดิมไว้
"เพราะในประเทศไทยแล้ว ชื่อเอสจีวี-ณ ถลาง ยังเป็นชื่อที่คนให้ความเชื่อถืออยู่"
ไขศรียอมรับ
ไขศรี เป็นบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เอสจีวี-ณ
ถลาง เริ่มเทน้ำหนักของธุรกิจลงมายังธุรกิจที่ปรึกษา แม้เธอจะเรียนจบมาทางบัญชี
แต่ก็เป็นคนที่ธวัช ภูษิตโภยไคย วางตัวไว้ให้เข้ามาทำงานด้านที่ปรึกษามาตั้งแต่ต้น
(รายละเอียด อ่านล้อมกรอบ "ไขศรี นิธิการพิศิษฐ์")
ปี 2542 บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก
1 แสนบาท เป็น 10 ล้านบาท และเริ่มมีรายรับจากการทำธุรกิจที่ปรึกษา โดยมีรายได้
รวม 143.18 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการจัดโครงการการถือหุ้นบริษัทในกลุ่ม โดย 3 บริษัทหลักคือ
สำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง, ที่ปรึกษาธุรกิจอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น และสำนักกฎหมาย
และภาษีแอนเดอร์เซ่น ถือหุ้นไขว้กัน
บริษัทจัดหางานเอ็กเซ็คคิวทีฟ รีครู้ทเม้นท์ ถูกลดบทบาทลง
การทำธุรกิจช่วงแรกหลังจัดโครงสร้าง และปรับภาพลักษณ์ใหม่ดำเนินไปอย่างราบรื่น
brand ของกลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น ประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากตลาดพอสมควร
บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น ได้เข้าไปเสนอตัวรับเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจหลายแห่ง
รวมถึงภาครัฐ โดยเฉพาะการเป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
รายได้รวมของบริษัทนี้เพิ่มขึ้นจาก 143.18 ล้านบาท ในปี 2542 เป็น 369.50
ล้าน บาท ในปี 2543 และ 561.22 ล้านบาท ในปี 2544
ปี 2543 ไขศรีได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท แอนเดอร์เซ่น
ประเทศไทย โดยธวัชได้วางมือ เลื่อนขึ้นไปรับตำแหน่งประธานกลุ่ม
ส่วนมาริษ สมารัมภ์ ลูกเขยของศาสตราจารย์ยุกต์ ลดบทบาททางการบริหารลง เหลือเพียงตำแหน่งกรรมการในบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ
ถลาง และได้ลาออกจากกรรมการ เหลือเพียงตำแหน่งที่ปรึกษาในเดือนสิงหาคม 2544
ตุลาคม 2544 กลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น ประเทศไทย ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันระลอกใหญ่อีกครั้ง
ปัญหาความฉ้อฉลในการสอบบัญชีบริษัท Enron ของ Arthur Andersen LLP ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
ก่อให้เกิด วิกฤติศรัทธาขึ้นกับ brand ของ Arthur Andersen ทั่วโลก
กลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น ประเทศไทย ที่เพิ่งใช้ชื่อนี้ได้เพียง 3 ปี ได้รับผลกระทบอย่างจัง
กระบวนการหา brand ใหม่ ต้องเริ่มต้นอีกครั้ง
ในสหรัฐอเมริกา ปัญหาของ Enron มีผลทำให้ Arthur Andersen LLP จำเป็น ต้องยุติธุรกรรมการตรวจสอบบัญชีไปโดยสิ้นเชิง
การโยกย้ายเปลี่ยนงานของบุคลากร ทางด้านตรวจสอบบัญชี ที่เคยทำงานอยู่กับ
Arthur Andersen LLP จึงเกิดขึ้น
แม้กรณีของ Enron จะมีผลต่อภาพพจน์ของ Arthur Andersen แต่ในวงการผู้สอบบัญชีทั่วโลก
ต่างก็ยอมรับในความสามารถของบุคลากรของ Arthur Andersen ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีคุณภาพ
และอยากได้คนเหล่านี้ไปร่วมงานด้วย
ในวันที่ 18 มีนาคม 2545 Arthur Andersen LLP ได้บรรลุข้อตกลงกับ KPMG
ที่จะโอนย้ายบุคลากรด้านการสอบบัญชีของ Arthur Andersen LLP ที่อยู่นอกสหรัฐ
อเมริกา ไปอยู่กับ KPMG
แต่ข้อตกลงนี้ ไม่ได้เป็นการผูกมัด สำนักสอบบัญชีแต่ละแห่ง ที่เคยเป็นสมาชิก
ของ Arthur Andersen LLP ยังมีอิสระในการที่จะโยกย้ายไปรวมกับสำนักงานอื่นได้
ปรากฏว่า สำนักงานที่ได้คนของ Arthur Andersen LLP ไปอยู่ด้วยมากที่สุดคือ
Ernst & Young โดยเริ่มจาก สำนักงานในรัสเซียเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่
21 มีนาคม
หลังจากนั้นก็มีการทยอยรวมตัวกันระหว่างอดีตสมาชิก Arthur Andersen LLP
กับ Ernst & Young อีกเป็นระยะๆทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางอเมริกาใต้
แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง
สำนักงานล่าสุดที่เพิ่งมาร่วมกับ Ernst & Young คือ สำนักงานในเยอรมนี
โดยมีผลเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
"เป็นลักษณะคล้ายกับว่าทางหน้าบ้าน แม้ Arthur Andersen จะประกาศว่าจะรวมกับ
KPMG แต่ Ernst & Young เข้าทางหลังบ้าน และสามารถดึงบุคลากรของ Arthur
Andersen ออกมาได้ก่อน" คนในวงการสอบบัญชีอธิบาย
ในเอเชีย Ernst & Young ยังได้อดีตสมาชิกของ Arthur Andersen LLP ไปรวมอยู่ด้วยหลายแห่ง
ทั้งในอินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์
ในเมืองไทย สำนักงานของ Ernst & Young ประเทศไทย ก็เคยติดต่อชักชวนให้
กลุ่มแอนเดอร์เซ่นมารวมกับ Ernst & Young ด้วย แต่ถูกปฏิเสธ
"เราเห็นว่าทั้ง 2 สำนักงานมีปรัชญาในการทำงานที่คล้ายคลึงกัน แต่ทางนั้นเขาบอกว่าเขาได้ผูกมัดกับทางเคพีเอ็มจีไปแล้ว"
ทรงเดช ประดิษฐสมานนท์ หัวหน้าสำนักงาน Ernst & Young ในประเทศไทย บอกกับ
"ผู้จัดการ"
อดีตสมาชิกของ Arthur Andersen LLP ในเอเชีย มีเพียงในประเทศไทย และเวียดนาม
2 แห่ง ที่ตัดสินใจไปรวมกับ KPMG
วันที่ 3 เมษายน 2545 ไขศรี ซึ่งขณะนั้นยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
กลุ่ม บริษัทแอนเดอร์เซ่น ประเทศไทย ได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกับสุพจน์ สิงห์เสน่ห์
ประธานบริษัทเคพีเอ็มจี ประเทศไทย ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการซึ่งกันและกัน
ระหว่างกระบวนการควบรวมกิจการ กลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท
ที่มีคำว่า อาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น ทั้งหมด เป็นอินทนนท์
การรวมตัวในครั้งนั้นเพิ่งเสร็จสิ้น และมีการแถลงข่าวอีกครั้ง เมื่อวันที่
30 กันยายน ที่ผ่านมา
รายละเอียดในการแถลง ระบุว่ากลุ่มบริษัทแอนเดอร์เซ่น ประเทศไทย ได้เปลี่ยนไปเข้าเป็นสมาชิกของ
KPMG โดยมีการแต่งตั้งไขศรี ให้เป็นกรรมการผู้จัดการ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
สุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เป็นประธาน และธวัช ภูษิตโภยไคย เป็นประธานกิตติมศักดิ์
จำนวนบุคลากร เมื่อรวมกันแล้วจะมีประมาณ 1,100 คน ซึ่งจะทำให้เคพีเอ็มจี
ประเทศไทย กลายเป็นกลุ่มบริษัทผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ในกระบวนการควบรวม จะมีการตั้งบริษัทที่ชื่อว่า เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ขึ้นเป็นบริษัทกลาง
ทำหน้าที่ถ่ายงานที่เคยซ้ำซ้อนกันของทั้ง 2 กลุ่ม โดยจะทยอยนำ เข้ามาไว้ในบริษัทนี้
โดยเฉพาะงานด้านสอบบัญชี ซึ่งมีทั้งบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง และเคพีเอ็มจี
ออดิท
"กระบวนการคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี" ไขศรีบอก
ซึ่งใน 2 ปีนี้ ไขศรีคงยังคงต้องเหนื่อยอีกมาก เพราะเคพีเอ็มจีตามโครงสร้างใหม่
เป็นการรวมเอาคนที่เคยอยู่ในองค์กรเก่าแก่ถึง 2 แห่ง เข้ามาอยู่ด้วยกัน การผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิม
ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กรใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องกระทำโดยละเอียดอ่อน
และประนีประนอมมากที่สุด
คนในวงการผู้สอบบัญชี มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอสจีวี-ณ ถลาง ที่ต้องกลายมาเป็นเคพีเอ็มจี
ประเทศไทย ในวันนี้ เป็น ผลสะท้อนที่เกิดจากการเชื่อมโยงของเงินทุนระหว่างชาติที่ชัดเจนที่สุด
ปัญหาที่ปะทุขึ้นในซีกโลกหนึ่ง แต่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อกิจการเก่าแก่ของอีกซีกโลกหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ในโครง สร้างใหม่ ไม่มีภาพ หรือสายใยที่เชื่อมโยงให้คนรุ่นใหม่มองเห็นถึงความสำคัญของกิจการเก่าแก่
ที่ก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ยุกต์ ณ ถลาง เมื่อ 60 ปีก่อน
แม้กระทั่งชื่อบริษัทสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง ซึ่งเป็นเหมือนสายใยสุดท้าย
ก็กำลังจะถูกตัดทิ้งไป ด้วยสาเหตุที่ SGV & CO ในฟิลิปปินส์ ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ
Ernst & Young เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
เป็นผลให้หลังจากนี้ไป เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อเอสจีวีในการทำธุรกิจ
สิ่งเดียวที่จะโยงให้คนรุ่นนี้เห็นถึงบทบาทของศาสตราจารย์ยุกต์ ณ ถลาง
ที่มีต่อองค์กรเก่าแก่แห่งนี้ ก็คือภาพวาดครึ่งตัวของศาสตราจารย์ยุกต์ที่ติดอยู่บนชั้นที่
21 อาคารสยามทาวเวอร์ ที่ถูกใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
แต่ภาพนี้ก็ถูกซ่อนอยู่ในหลืบมากเกินไป จนคนมองเห็นไม่ชัด
"ช่วงที่มีปัญหา เราก็กราบท่าน เพื่อบอกกล่าวท่านมาตลอด"
ไขศรีเป็นคนที่เชื่อมั่นอย่างยิ่ง ในศักยภาพของ brand ที่จะเสริมสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ
เธอคงจะต้องยิ่งทำงานหนัก เพื่อพิสูจน์ความเชื่อใน brand KPMG ภายใต้ การดำเนินงานของเคพีเอ็มจี
ภูมิไชย ว่าจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสำนักสอบบัญชี สัญชาติไทยแห่งนี้ในอนาคต