"ผู้จัดการโรงเรียน" อาจเป็นเพียงตำแหน่งของผู้ทำหน้าที่ประสานงาน
ในโรงเรียนนานาชาติแห่งอื่นๆ แต่สำหรับ Dulwich International College Phuket
การมาดำรงตำแหน่งนี้ของ ประพันธ์ โชตินฤมล หมายถึงการปรับทัพครั้งใหญ่
ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะกาวไปสู่การเป็น "the best international
boarding school in the region" ให้ได้ในอนาคต
ชื่อเสียงของประพันธ์ โชตินฤมล อาจฟังดูแปลกหูสำหรับผู้คนในแวดวงธุรกิจการศึกษา
เพราะตลอดเวลากว่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ชื่อของเขามักปรากฏในฐานะนักธุรกิจอุตสาหกรรม
ที่ผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นการบ่มเพาะความรู้ความสามารถกับ
Esso Standard บรรษัทปิโตรเคมีข้ามชาติรายใหญ่มานานกว่า 14 ปี ทั้งในตำแหน่งผู้จัดการด้านการขาย,
ผู้จัดการด้านการวางแผนการตลาด และผู้จัดการด้านการวางแผนจัดหา หรือการเข้าไปมีส่วนผลักดันกิจการของ
Sharp-เทพนคร ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ นานกว่า 10 ปี ก่อนจะผันตัวไปสู่โอสถสภา
และบริษัท ฝาจีบ ในห้วงเวลาถัดมา
เป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร เพราะโดยพื้นฐาน ประพันธ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการศึกษาโดยตรง
เป็นปริญญาตรีเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ซึ่งเขาได้รับทุนจากรัฐบาล
แต่ดูเหมือนเส้นทางชีวิตจะไม่ได้ถูกกำหนดให้เขามีอาชีพเป็นครูอาจารย์ตั้งแต่ต้น
"โดยปกตินักเรียนทุนจะต้องใช้ทุนรัฐบาลเป็นเวลาหลายปี ยิ่งได้เกียรตินิยมด้วยแล้ว
การรับราชการในตำแหน่งครูหรืออาจารย์ มีอัตราชัดเจนอยู่แล้ว เผอิญในช่วงปีที่จบมีนักศึกษาที่จบครูจำนวนมาก
อัตราไม่พอ รัฐบาลก็เลยต้องจัดให้มีการสอบแข่งขัน และยกเลิกการใช้ทุน" นั่นเป็นปฐมเหตุของเส้นทางชีวิตที่ผาดโผนในเวลาต่อมา
ก่อนที่เขาจะต่อยอดทางการศึกษาด้วยการเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นี่เป็นระยะสั้นๆ และผันตัวไปทำงานในบริษัทเอกชนต่อมา
การเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน Dulwich International College (DIC)
ของประพันธ์ ในเดือนกรกฎาคม 2001 หรือเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา มิได้ตั้งอยู่บนฐานของสมการความรับผิดชอบดังเช่นที่ผู้จัดการโรงเรียนรายอื่นๆ
ของสถานศึกษาแห่งนี้ ดำเนิน บทบาทและปฏิบัติมาในอดีต หากมีความแตกต่างอย่างมาก
ด้วยภารกิจที่ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียน มอบหมายให้เขาไปจัดการและสะสาง
แน่นอนว่าไม่ใช่การจัดการในส่วนของความเข้มแข็งทางวิชาการ แต่เป็นการรื้อและวางโครงสร้างของระบบการบริหารจัดการภายในโรงเรียนแห่งนี้ใหม่
หลังจากระบบเดิมที่ดำเนินมา 7-8 ปี สร้างความบอบช้ำให้กับเจ้าของเงินที่ทำหน้าที่
เป็นผู้ลงทุนมาอย่างหนักหน่วง
ผลย่อมเกิดขึ้นจากเหตุ และความบอบช้ำที่เกิดขึ้นก็มีฐานจากข้อเท็จจริงที่ว่า
การลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติ ที่มีลักษณะจำลองสภาพแวดล้อมของโรงเรียนต้นแบบจากประเทศอังกฤษ
ย่อมต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ทั้งในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียน
อาคารหอพัก ค่าใช้จ่ายสำหรับ licence fees ตลอดจนเงินเดือนของเจ้าหน้าที่และครูอาจารย์ชาวต่างประเทศ
อาจเป็นเพราะคนไทยและคนเอเชียส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับ brand ในขณะที่ผู้ประกอบการเอง
ก็ต้องการที่จะดำเนินกิจการให้เติบโตอย่างรวดเร็ว รูปแบบการ ซื้อสิทธิในชื่อและใบอนุญาตประกอบการโรงเรียนจึงเกิดขึ้น
ประพันธ์ โชตินฤมล ซึ่งเป็นทั้งผู้จัดการโรงเรียน และผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารและการเงิน
Dulwich International College หรือ DIC ตั้งข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ"
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในช่วงปี
1997 ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ DIC มียอดขาดทุนสะสมตั้งแต่ในช่วงแรกเริ่มต้นดำเนินการอย่างหนัก
และส่งผลกระทบต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่า DIC จะมียอดจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นกว่า
10% ในแต่ละปีมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีนักเรียนรวมกว่า 700 คนแล้วก็ตาม
การประกาศนโยบายด้านการศึกษาและยุทธศาสตร์ประเทศ ว่าด้วยการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการศึกษาระดับนานาชาติ
ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็น ข้อต่อทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในแวดวงธุรกิจการศึกษาไทย
เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดพัฒนาการในเรื่องของหลักสูตร ตลอด จนกระบวนการว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น
หากนโยบายดังกล่าว ยังหนุนเสริมให้เกิดการลงทุนประกอบการธุรกิจโรงเรียนนานาชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
และกลายเป็นมรดกของยุคสมัยที่มีสีสันยิ่งในปัจจุบัน
ภาพของอาคารที่ประกอบขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแปลกตาแบบตะวันตก ได้รับการก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์
ของความเป็นสากล ควบคู่กับการตั้งชื่อสถานศึกษาที่ประดับด้วยสร้อยคำ International
เพื่อบ่งบอกนัยแห่งความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป กลายเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้อย่างเจนตา
เจนหู ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่กรณีเหล่านี้ยังครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางไปสู่หัวเมืองสำคัญในภูมิภาคต่างๆ
ด้วย
การเกิดขึ้นของ Dulwich International College Phuket เมื่อปี 1996 ก็อยู่ภายใต้บริบทที่ไม่แตกต่างจากกรอบและวิธีคิดข้างต้นมากนัก
เพียงแต่เพิ่มเติมความพิเศษให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการร่วมกับ Dulwich
College (Est.1619) สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติแห่งการก่อตั้งมานานกว่า
380 ปี จากประเทศอังกฤษ เป็นประหนึ่งตัวเชื่อมไปสู่ความสำเร็จและความเป็นสากลให้เกิดขึ้น
ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
ภายใต้การบริหารงานของ "กลุ่มประสิทธิ์พัฒนา" ที่มี อาทิตย์ อุไรรัตน์
เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ภาพฝันของโครงการ Dulwich International College
Phuket ก็คือการผสมผสานวัฒนธรรมและความรู้จากทั้งตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน
เพื่อสร้างเยาวชนไทยและนานาชาติให้เติบโตขึ้นเป็น ผู้นำแห่งยุคสมัยสหัสวรรษใหม่
ด้วยความเป็นเลิศในเชิงวิชาการและพัฒนาการด้านจิตใจ
แต่เส้นทางแห่งความสำเร็จ บ่อยครั้งไม่สามารถดำเนินไปโดยใช้ทางลัด หากเป็นผลมาจากการบ่มเพาะ
สั่งสมและสะท้อนออกมาจากภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายใน
รูปแบบการเกิดขึ้นของ Dulwich International College Phuket ที่ดำเนินไปในลักษณะไม่แตกต่างจากการซื้อ
franchise สินค้าระดับโลกมาจำหน่ายในประเทศไทย พร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายสำหรับเป็นค่า
licence fees มิได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยว หากแต่วิธีการเช่นนี้ ได้รับความสนใจไม่น้อยและก่อให้เกิดกระบวนการผลิตซ้ำบ้างแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Harrow International School กรุงเทพฯ (ก่อตั้งในปี
1998) ที่ยึดโยงกลับไปหา Harrow School (Est.1572) จากอังกฤษและดูเหมือนว่ากรณีเช่นนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
"break even factor ต้องคำนวณตั้งแต่จำนวนนักเรียนต่อห้อง ซึ่งควรอยู่ในระดับ
14 คนขึ้นไป เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอัตรากำลังของอาจารย์ที่เราจะจัดจ้าง
ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณาในส่วนของ staff work load ซึ่งโดยปกติควรจะมีชั่วโมงการสอนอยู่ที่ประมาณ
40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ที่ผ่านมาอาจารย์บางท่านมีชั่วโมงสอนเพียง 14 คาบต่อสัปดาห์
เพราะมีการจัดจ้างอาจารย์มากเกินความจำเป็น"
แผนงานเพื่อการปรับปรุงการบริหารภายใน DIC ที่ประพันธ์เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงเรียน
หลังเข้ารับตำแหน่งจึงอยู่ที่การปรับและจำกัดบทบาทของ Headmaster ให้เหลือเพียงความรับผิดชอบในเชิงวิชาการ
ส่วนกิจกรรมและการบริหารงานด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโรงเรียน
(School Manager : SM) รวมทั้งงานด้านการเงินด้วย โดยทั้ง Headmaster และ
School Manager ต่างเป็นผู้มีอำนาจที่ต้องทำงานร่วมกัน พร้อมกับการรายงานตรงต่อประธานคณะกรรมการโรงเรียนที่มีสถานะเป็น
CEO อย่างแท้จริง
การสรรหา Headmaster ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปรียบเสมือน icon สะท้อนภาพลักษณ์ของโรงเรียน
เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่าง DIC กับ Dulwich
College ในลอนดอน โดยในอดีตที่ผ่านมา Dulwich College จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกและส่ง
shortlist มาให้ผู้บริหารของ DIC ในเมืองไทยเป็นผู้ตัดสินใจเลือกในขั้นตอนสุดท้าย
แต่จากบทเรียนในอดีต ทำให้การสรรหารอบใหม่ดำเนินไปในลักษณะคู่ขนานโดย DIC
ก็เปิดรับคัดเลือกผู้สมัครในตำแหน่งดังกล่าวด้วย
กระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็น Headmaster คนใหม่ของ DIC เสร็จสิ้นไปแล้ว
โดย David Cook อาจารย์ใหญ่จาก Lewes Old Grammar School (LOGS) โรงเรียนขนาดกลางในเขต
East Sussex ของอังกฤษ ที่มีประวัติการก่อตั้งนับย้อนกลับไปได้ตั้งแต่เมื่อปี
1512 โดย David Cook จะเดินทางมารับตำแหน่ง Headmaster ที่ว่างอยู่ของ DIC
ในเดือนเมษายนปีหน้า
David Cook ครูหนุ่มในวัย 48 ปีผู้นี้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยม
สาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (Modern History) และปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ยุคกลาง
(Medieval History) จาก King's College London และได้เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นครูประวัติศาสตร์และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ใน
Westminster School โรงเรียนที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษ โดย
David Cook เป็นครูอยู่ในสถานศึกษาแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อปี 1979 ถึง 1997 พร้อมกับผลิตผลงานหนังสือและบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอังกฤษและยุโรปจำนวนมาก
รวมถึงการเป็นบรรณาธิการหนังสือ "The Way Forward" ของ Dr.Mahathir Mohamed
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1998 และอยู่ระหว่างการเตรียมงานเขียนชีวประวัติของ
Dr.Mahathir Mohamed ซึ่งคาดว่าจะตีพิมพ์ในอนาคตด้วย
ประสบการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งของ David Cook ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับตำแหน่งใหม่ที่
DIC ก็คือการที่เขาเคยเป็น Headmaster ของ Qatar Academy ระหว่างปี 1997-2000
ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดย Qatar Foundation
of Education, Science & Community Development ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่อยู่ในการอุปถัมภ์ของ
เจ้าชายแห่ง Qatar และพระชายา
บทบาทของ David Cook ในฐานะ Headmaster ใน Qatar Academy และ LOGS แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะในขณะที่ Qatar Academy เป็นสถานศึกษาเปิดใหม่ งานของ David Cook จึงเน้นหนักไปที่การจัดวางนโยบาย
หลักสูตรและกระบวนการที่จำเป็นสำหรับโรงเรียนแห่งใหม่นี้
แต่สำหรับ LOGS ซึ่งอยู่ในสภาพถดถอยในจำนวนนักเรียน และขาดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนนั้น
เขาได้เข้าไปมีส่วนรื้อสร้าง การบริหารและปรับเปลี่ยนนโยบาย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรทางวิชาการให้
LOGS กลับมาเป็นสถานศึกษาเอกชนที่สามารถแข่งขันกับโรงเรียนแห่งอื่นๆ ได้อีกครั้ง
สิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความคาดหมายและคาดหวังจากผู้บริหารของ DIC ต่อการมาดำรงตำแหน่ง
Headmaster ของ David Cook ไม่น้อย และเป็นหนึ่งใน jigsaw สำคัญที่มีส่วนสร้าง
ให้ภาพฝันของ DIC ปรากฏเป็นผลจริงจังต่อไป
การปรับเปลี่ยนภายในของ DIC นับเป็นการเตรียมการรุกครั้งใหม่ และรองรับกระแสความนิยมในโรงเรียนนานาชาติที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง
ไม่เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น หากกลุ่มนักเรียนจากฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน
ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ทางเศรษฐกิจก็เป็นตลาดนักเรียนที่น่าสนใจยิ่ง
"จุดแตกต่างอย่างสำคัญและเป็นเป้าหมายของ DIC ไม่ได้ อยู่ที่การเป็นเพียงโรงเรียนนานาชาติอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น
แต่ DIC มุ่งที่จะเป็น "best boarding school in the region" ซึ่งโดยพื้นฐานและโครงสร้างของ
DIC มีความพร้อมที่จะเป็นได้ และการ ลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติที่มีมาตรฐานแบบ
DIC ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ผู้ประกอบการในอนาคตไม่สามารถทำแบบเล็กๆ ได้ เพราะต้องใช้ทุนจำนวนมากและต้องทำให้ใหญ่"
ประพันธ์เชื่อเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระแสความนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ
ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดตัวของสถานศึกษาแห่งใหม่ๆ และเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เผชิญกับภาวะการแข่งขันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจอื่นๆ
นั้น ปัจจัยว่าด้วยปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนแต่ละแห่งอาจจะเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ
ที่ผู้ประกอบการและผู้ปกครองใส่ใจพิจารณา โดยมีความน่าเชื่อถือที่เกิดขึ้นจากทุน
เป็นประเด็นสำคัญทดแทน
ผลพวงของปรากฏการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่กำลังส่งแรงสะท้อนย้อนกลับมาพิสูจน์
ทราบความเป็นไปได้ของผู้ประกอบการแต่ละรายเท่านั้น หากเป็นคำถาม ว่าด้วย
"มาตรฐานการศึกษาในระดับสากล" ที่หลายคนลืมไปแล้ว
และเป็นข้อท้าทาย ต่อคำกล่าวที่ว่า "when schools compete students win"
ไม่น้อย ทีเดียว