ธนาคารกสิกรไทย สนองนโยบายบายการเร่งส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของภาครัฐ ออกวงเงินสินเชื่อพิเศษเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ หนุนเพิ่มศักยภาพการค้าให้ลูกค้ามีเงินทุนเพียงพอขยายการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้หลักประกันต่ำ ปล่อยกู้สูงสุดถึงรายละ 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปีหน้าปล่อยกู้ 10,000 ล้านบาท
นายชาติชาย สุนทรเกียรติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้เปิดบริการวงเงินสินเชื่อพิเศษเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Solution Program) เพื่อสนับสนุนด้านสินเชื่อให้ผู้ส่งออกและนำเข้าทั้งรายเก่าและรายใหม่มีเงินทุนอย่างเพียงพอ ในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และสามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักประกันในการขอสินเชื่อต่ำหรือไม่ต้องใช้เลย
โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริการวงเงินสินเชื่อพิเศษเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกมียอดขายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี มีผลการดำเนินกิจการที่ดีมาอย่างน้อย 3 ปี ทั้งนี้ ลูกค้าที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกันในการขอวงเงินสินเชื่อ
ขณะที่ลูกค้าที่มียอดขายตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 40% ของยอดขาย โดยสามารถใช้บุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันได้ ส่วนลูกค้าที่มียอดขาย ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 40% ของยอดขาย โดยสามารถใช้หลักประกันเพียง 20% ของวงเงินและมีบุคคลหรือนิติบุคคลรร่วมค้ำประกัน หรือหากเป็นการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออกโดยมี L/C กำกับก็สามารถใช้บุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันได้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยจะพิจารณาจาก ความมั่นคงของลูกค้าแต่ละราย
สำหรับสินเชื่อประเภทดังกล่าว ธนาคารต้องการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการขยายตลาดการค้าและเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและนำเข้าติดขัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและประสบปัญหาวงเงินสินเชื่อไม่เพียงพอ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการจัดหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ ทั้งที่เป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดี และมีการเติบโตทางธุรกิจสูง
นายชาติชาย กล่าวว่า ธนาคารมั่นใจว่า บริการวงเงินสินเชื่อพิเศษเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จะได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ เนื่องจากปริมาณการส่งออกและนำเข้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ในขณะที่การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายใต้โปรแกรมนี้จะไม่เน้นที่หลักประกัน แต่จะพิจารณาจากความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ประสบการณ์ และปริมาณการนำเข้า-ส่งออกของลูกค้าเป็นสำคัญ
"สิทธิพิเศษที่ลูกค้าจะได้รับจากโครงการนี้คือ การให้วงเงินสินเชื่อแบบหลักประกันต่ำไปจนถึงวงเงินสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ซึ่งธนาคารคาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินสินเชื่อภายใต้ Trade Solution Program ในปีนี้ได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 2549"
|