|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
กฟผ.ยืนยันแผนการเกลี่ยรายได้จากการขายส่งไฟฟ้าให้ กฟน.และกฟภ.ต้องได้รับผลตอบแทน 8.7% เหตุต่ำกว่านี้ถือว่าไม่สามารถเป็นหุ้นบลูชิพ ดังนั้นก็ไม่สมควรเข้าตลาดฯ แจงเฉือนเนื้อให้เพิ่มแล้ว 2,000 ล้านบาท ขณะที่"คลัง"เล็งศึกษาปรับแผนเพื่อหาข้อยุติ 2 ไฟฟ้าต้านเกลี่ยรายได้ให้ต่ำด้วยการไม่นำ กฟน.- กฟภ.เข้าตลาดฯ แต่จะจัดเป็นรูปบริษัท จำกัด แล้วดึงธุรกิจบริการบางส่วนแปรรูปเข้าตลาดฯแทน สหภาพฯกฟน.- กฟภ.ชี้ท้ายสุดผลักค่าไฟให้คนไทยรับ ด้านเครือข่ายไฟฟ้า-ประปาเปิดโต๊ะให้คนกทม.ลงชื่อต้านนำกฟผ.เข้าระดมทุนฯที่หน้าตลาดฯและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 7-14 ต.ค.นี้
แหล่งข่าวจากบริษัทกฟผ.จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า การเจรจาเกลี่ยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าขายส่งของ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ บมจ.กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ซึ่งทางกฟผ.ยืนยันที่จะได้รับผลตอบแทนจากการเกลี่ยค่าไฟ 8.7 % ส่วน กฟภ.- กฟน.ได้ผลตอบแทน 4.5% โดยจากการพิจารณาแล้วคงไม่สามารถลดผลตอบแทนของกฟผ.ได้อีก เนื่องจากจะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาซื้อหุ้นกฟผ.ได้ และท้ายสุดหากเข้าไปแล้วหุ้นไม่เป็นที่สนใจ หรือไม่เป็นหุ้นที่มีศักยภาพ(บลูชิพ) ก็ไม่ควรจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
"ในระดับที่ 8.7% ถือว่า กฟผ.ได้ยอมที่จะลดลงให้แล้ว จากระดับที่ควรจะเป็นคือเกินกว่า 9 % ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง 2 การไฟฟ้าจะยอมหรือไม่อย่างไรก็คงเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงพลังงาน และคลังที่จะสรุป แต่ กฟผ.เห็นว่าหากต่ำกว่านี้ก็จะไม่เป็นหุ้นบลูชิพและถ้าเป็นเช่นนั้นในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าก็ไม่ควรเข้าตลาดฯ"แหล่งข่าว กฟผ.กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขเดิมกฟผ.จะใช้หลักการจำหน่ายขายส่งไฟฟ้าให้ 2 การไฟฟ้า โดยมีการคิดค่าส่วนลบและส่วนเกินให้ เช่น การขายลดให้กับ กฟภ.แล้วจะบวกเพิ่มในส่วนของกฟน. โดยวงเงินรวมจะอยู่ประมาณ 4,000 กว่าล้านบาทบวกลบส่วนเพิ่มประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นบริษัทแล้วจะต้องไม่มีกลไกที่ซับซ้อน รัฐจึงหารือที่จะกำหนดให้กฟผ.ขายส่งไฟฟ้าด้วยการใช้ราคาเดียว ณ ระดับแรงดันเดียวกันคิดเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านบาท โดยกฟน.และกฟภ.ต้องไปบริหารเงินก้อนนี้เอง
**ศึกษาปรับแผนดัน 2 ไฟฟ้าเข้าตลาดฯ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้คลังกำลังพิจารณาในแง่ของการเกลี่ยรายได้ให้ 3 การไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยยอมรับว่า เมื่อกฟผ.เข้าระดมทุนฯรายได้ควรจะอยู่ในอัตราที่จูงใจนักลงทุน แต่หากให้ 2 การไฟฟ้าจำหน่ายได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ทั้ง 2 องค์กรไม่เห็นด้วย เพราะจะมีผลต่อฐานะการเงินในเมื่อรัฐระบุว่าจะนำเข้าตลาดฯต่อไป ดังนั้นเรื่องดังกล่าวกำลังหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานและมหาดไทยที่จะทบทวนการนำ 2 การไฟฟ้าเข้าตลาดฯ ด้วยการจดทะเบียนเป็นเพียงบริษัท จำกัด แล้วดึงธุรกิจด้านบริการมาแปรสภาพแทนได้หรือไม่
"คงจะต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากรายได้ 2 การไฟฟ้าต่ำก็จะอยู่ลำบากเหมือนกัน ซึ่งก็มีผู้เสนอว่าการลงทุนที่เป็นด้านสาธารณะเช่น ไฟสาธารณะ การลงทุนสายไฟลงดินก็ให้รัฐบาลลงทุนแทนจะได้ไหม เรื่องนี้คงจะต้องสรุปให้เร็วแต่คิดว่าคงจบ" แหล่งข่าว กล่าว
นายเพียร ยงหนู ประธานเครือข่ายปกป้องไฟฟ้าและประปาเพื่อประชาชนและ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟน. กล่าวว่า ปัจจุบันกฟน.รับซื้อไฟจากกฟผ.ในระดับกว่า 2 บาทและกำหนดขาย 1-5 หน่วยแรกให้ใช้ฟรี 100-150 หน่วยคิดที่ระดับ 2.23 บาทต่อหน่วย และ 150-400 หน่วย คิด 2.97 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเห็นว่าจะได้กำไรจริงมาจากระดับ 400 หน่วยขึ้นไป แต่กฟน.ต้องลงทุนสายส่งใต้ดินจำนวนมากหากเกลี่ยรายได้ให้ต่ำกฟน.ก็จะไม่สามารถลงทุนบริการที่ดีได้ ท้ายสุดรัฐก็อาจจะจบด้วยการผลักภาระค่าไฟกับประชาชนในอนาคต
**เปิดโต๊ะลงชื่อต้าน กฟผ.เข้าตลาดฯ
นายเพียร กล่าวว่า หากการแปรรูปไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขัน และนำมาซึ่งค่าไฟถูกได้ก็ไม่ควรจะแปรรูปกิจการไฟฟ้าและประปา ดังนั้นเครือข่ายจะทำการคัดค้านนำกฟผ.เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ด้วยการจัดพิมพ์เอกสารเปิดผนึก 1 แสนฉบับ แจกประชาชนชี้แจงเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า และระหว่างวันที่ 7-14 ต.ค.นี้ จะเปิดโต๊ะให้ประชาชนในกทม. ลงชื่อคัดค้านการแปรรูปกฟผ.ที่บริเวณหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจุดที่ 2 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกันนี้จะเดินสายไปยังต่างจังหวัดพร้อมๆกันด้วย
นายสุดเจริญ สมซม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟภ. กล่าวว่า การเกลี่ยรายได้ให้กฟผ.มีผลตอบแทนที่ดีเพราะต้องการแต่งตัวเข้าตลาดฯ แต่การที่จะทำให้ 2 การไฟฟ้ามีฐานะการเงินที่ย่ำแย่ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันจุดคุ้มทุนของกฟภ.ในการขายไฟฟ้าจะอยู่ในระดับ 2.70 บาทต่อหน่วยแต่ 5-50 หน่วยแรกให้ฟรี ไม่เกิน 100 หน่วยขาย 1 บาทกว่าต่อหน่วย ซึ่งในส่วนนี้มีประชาชนที่เราต้องดแล 11 ล้านคน ขณะที่จุดคุ้มทุนจะไปอยู่ที่การใช้ไฟ 300-400 หน่วย และกำไรอยู่ที่ 400 หน่วยขึ้นไปซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีไม่มาก
"หลักการอาจจะอธิบายได้ดีแต่ทางปฏิบัตินั่นก็คือ การผลักภาระให้ประชาชนในระยะยาว เพราะท้ายสุดก็คือการไปขึ้นค่าไฟฟ้าเพื่อที่จะให้ฐานะการเงินทุกฝ่ายดีขึ้นโดยเฉพาะเมื่อรัฐจะนำกฟน.และกฟภ.เข้าตลาดต่อไป ดังนั้นจึงขอคัดค้านที่จะนำกิจการไฟฟ้าเข้าตลาดฯ" นายสุดเจริญ กล่าว
|
|
 |
|
|