ภาพของฝุ่นทรายสีแดงชาดบนผืนแผ่นดินแล้งแห้ง
สลับกับพุ่มหญ้าต้นเตี้ย กว้างไกลสุดปลายสายตา
อาจมีค่าเป็นเพียงบรรยากาศแห่งความรกร้าง แต่สำหรับออสเตรเลีย
ซึ่งประกาศให้ปี 2002 เป็น Year of the Outback
นี่คือจุดขายใหม่สำหรับการท่องเที่ยว
เป็นการท่องเที่ยวที่ข้ามพ้นนิยามแบบเดิมไปไกล
แม้ว่าศัพท์แสงในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกขาน ชนบท หรือดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากความทันสมัยของเมืองใหญ่
อาจได้รับการบันทึกนิยามไว้มากมาย หลายคำ แต่สำหรับผู้คนบนผืนทวีปที่เรียกว่า
Down Under อย่างออสเตรเลียพวกเขาพึงใจที่จะใช้คำว่า Outback เพื่อสื่อความหมายเช่นว่านี้
และเป็นตัวอย่างแรกๆ ของความพยายามในการสร้างเรื่องราวและเอกลักษณ์เฉพาะให้เกิดขึ้น
ด้วยขนาดของพื้นที่กว่า 7.69 ล้านตารางกิโลเมตร ที่นับเป็นประเทศที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่เป็นอันดับที่
6 ของโลก แต่มีจำนวนประชากรเพียง 20 ล้านคน โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ตามชายฝั่งทะเล
ทำให้พื้นที่กว้างใหญ่ในเขตที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินของทวีป กลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและตำนานเล่าขานของชนชาวพื้นเมือง
อีกทั้งยังมีนัยในเชิงสังคมวิทยาของชนชาว Aussies ไม่น้อย
ขณะที่ Alice Springs ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางของประเทศ
ก็อยู่ในฐานะที่ไม่ต่างไปจากการเป็นประหนึ่งเมืองหลวงของ Outback แห่งออสเตรเลีย
เพราะเมืองเล็กๆ แห่งนี้นับเป็นจุดแวะพัก ก่อนการเดินทางไกลของนักเดินทางบุกเบิกทั้งหลายมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่
แผ่นดินแห่งนี้ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานของ "คนขาว" มากเท่าทุกวันนี้ และแม้กระทั่งในปัจจุบัน
Alice Springs ก็ยังคงเสน่ห์ของการเป็นศูนย์กลางสำหรับนักเดินทาง ที่ชื่นชอบการผจญภัยในเขต
Outback อย่างไม่เสื่อมคลาย
สำหรับผู้คนที่มีรากเหง้าเติบโตมาจากประเทศ โลกที่สามในภูมิภาคเอเชีย ที่ล้วนมีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม
และพยายามสร้างความจำเริญตามแผนแม่บทของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพสังคมโดยรวมก็ยังอยู่ในสภาพด้อยพัฒนา
ขณะที่ความทันสมัยกระจุกตัวอยู่ในเขตหัวเมืองใหญ่ การได้เห็นภาพของทุ่งหญ้ารกร้างและถนนสีฝุ่นในเขต
Outback ของประเทศออสเตรเลีย ย่อมไม่แตกต่าง จากการเดินทางไปทัศนศึกษาในเขตชนบทสักเท่าใด
อีกทั้งพื้นที่ชนบทในบางเขตยังให้ภาพของความเขียวขจีและความชุ่มชื้น ที่สร้างความเบิกบานในจิตใจได้มากกว่าด้วยซ้ำ
แต่นั่นอาจเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดจากการสังเกตที่หยาบและคับแคบ เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมประกอบไปด้วยเรื่องราวและผู้คนที่มีประวัติความเป็นมาและเป็นไป
ภายใต้เอกลักษณ์และวิถีการดำเนินไปให้นักเดินทางแต่ละคนได้เรียนรู้อย่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้
ความแตกต่างระหว่างทุ่งหญ้ารกร้างในเขต Outback ของออสเตรเลียกับชนบทของประเทศโลกที่สาม
มิได้เกิดขึ้นจากภูมิประเทศที่เป็นผลผลิตจากวิถีธรรมชาติที่ปั้นแต่งให้เกิดขึ้น
หากแต่เป็นกรณีที่บ่งชี้ให้เห็นถึง ขีดความสามารถในการบริหารจัดการต่อทรัพยากรอย่างมีจินตภาพ
ก่อนที่จะรังสรรค์เรื่องราวให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินแห่งนี้
กลุ่มเป้าหมายของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในออสเตรเลีย มิได้ยึดโยงอยู่กับกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระในลักษณะของ
Leisure Tourist แบบเดิมๆ แต่เพียงลำพัง หากแต่ออสเตรเลีย มุ่งหมายจะขยาย
การท่องเที่ยวในลักษณะของ Incentive Travel หรือ การท่องเที่ยวแบบเหมาคณะที่มีกิจกรรมรื่นเริงและรื่นรมย์รองรับอย่างเป็นระบบ
เป็นการปรับตัวและเปิดแนวรุกในธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าจับตามองอย่างมาก
เพราะธุรกิจ Incentive Travel นับเป็นของใหม่ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ
ในระบบธุรกิจท่องเที่ยวที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบธุรกิจท่องเที่ยว
ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกิดแก่ผู้ประกอบการแต่ละภาคส่วนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ภายใต้การบริหารจัดการคราวเดียว
ตัวอย่างที่เด่นชัดในกรณีเช่นว่านี้ เห็นได้ชัดจากการจัดงาน Dreamtime
ซึ่งถือเป็นกิจกรรมในลักษณะของ Trade Show เพื่อส่งเสริมและเร่งเร้าการเกิดขึ้นของธุรกิจ
Incentive Travel อย่างมีระบบ ภายใต้การบริหารจัดการของ Australian Tourist
Commission (ATC) หน่วยงานรัฐในสังกัด Department of Industry, Tourism and
Resources ซึ่งดำเนินกิจกรรมเช่นว่านี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว
ATC ได้บุกเบิกจัดกิจกรรมภายใต้ชื่องาน Dreamtime ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี
1992 และได้ดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะของงานประจำ 2 ปีต่อครั้ง (biennial
event) จนเมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นปีที่ออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา
โอลิมปิก "Sydney 2000" การจัดงาน Dreamtime จึงถูกผนวกให้เป็นเพียงกิจกรรมร่วมในงาน
Australian Tourism Exchange (ATE) ซึ่งถือเป็นมหกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวออสเตรเลียขนาดใหญ่
ก่อนที่ Dreamtime จะแยกออกมาเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกกรณีหนึ่งอย่างเป็นเอกเทศอีกครั้ง
สำหรับ Dreamtime 2002 นับเป็นปรากฏ การณ์ที่มีความพิเศษมากกว่าครั้งก่อนๆ
เพราะในขณะที่ปี 2002 ได้รับการประกาศให้เป็น Year of the Outback การเลือกให้
Alice Springs เป็นสถานที่จัดงาน Dreamtime จึงเป็นประหนึ่งการส่งเสริมการขายและขยายตลาดสินค้า
Incentive Travel และ Outback ควบคู่กันไปทั้ง 2 ส่วนในโอกาสเดียว
ภายใต้ความพยายามที่จะขายและสร้างธุรกิจท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นบนผืนดินรกร้างแห่งนี้
หน่วยงานจากทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของออสเตรเลียได้ร่วมกันปั้นแต่งกิจกรรมหลากหลาย
เพื่อนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงศักยภาพของศูนย์การประชุมแห่งใหม่
Alice Springs Convention Centre ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน หรือการจัดสถานที่สำหรับอาหารกลางวัน
และอาหารค่ำ ในลักษณะที่ผู้เข้าร่วมงานไม่สามารถคาดหมายเหตุการณ์เบื้องหน้าได้เลย
จากสภาพของภูมิประเทศที่แล้งแห้ง จน ทำให้ Todd River เป็นเพียงร่องรอยของทางน้ำที่ประดับด้วยฝุ่นทรายแห้งผาก
ขณะที่ Simpsons Gap ซึ่งเป็นเพียงช่องเขาที่มีตาน้ำเล็กๆ แต่ผู้จัดงาน Dreamtime
2002 สามารถสร้างกิจกรรมการแข่งเรือ และการแสดงฉากสงครามทางน้ำให้เกิดขึ้นบนผืนทรายนี้ได้อย่างสนุกสนาน
ซึ่งเป็นเพียงปฐมบทของการบอกกล่าวให้เห็นถึงศักยภาพว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน
Alice Springs สามารถรังสรรค์กิจกรรมสันทนาการกลุ่ม ภายใต้ theme ชนิดใดให้กับ
Incentive Traveler ได้บ้าง
ยังไม่นับรวมธุรกิจ catering ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับปากท้องของนักท่องเที่ยว
และดูเหมือนจะเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวแบบ Incentive นี้ด้วย เช่นกัน
อาหาร หรือ Tucker ในภาษาแสลงแบบ Aussies ได้รับการเลือกสรรมาประกวดประชันรสชาติอย่างหลากหลาย
และด้วยเอกลักษณ์ของ Outback ทำให้ Tucker แต่ละมื้ออุดมไปด้วยอาหาร ที่ประกอบขึ้นจากเนื้ออูฐ,
เนื้อจระเข้ หรือแม้กระทั่ง เนื้อจิงโจ้ ซึ่งได้พัฒนาหน้าตาไปไกลมากแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น Camel Burger, Camel Steak, Camel Pie, Kangaroo Sausage, Crocodile
Barbecued และอีกมากตามแต่พ่อครัวจะคิดปรุงแต่ง
กระนั้นก็ดี ความคิดสร้างสรรค์ในการหยิบเอาวัตถุดิบในพื้นถิ่นมาปรุงเป็นอาหาร
ดูจะสร้างความรู้สึกลำบากใจต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อย เพราะกิจกรรมก่อนหน้าที่จะลงมือรับประทานอาหารเลิศรสนี้
ก็คือ การขี่อูฐเดินลัดเลาะภูมิประเทศ ทะเลทราย ควบคู่กับความพยายามที่จะไปดูจิงโจ้
ซึ่งถือเป็นสัตว์พื้นถิ่นที่มีให้เห็นได้เฉพาะในออสเตรเลียเท่านั้น การบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับใครหลายคน
ความเป็นจริงที่น่าทึ่งเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้ก็คือ จากอดีตที่ออสเตรเลียต้องนำเข้าอูฐจากตะวันออก
กลางเพื่อมาใช้เป็นพาหนะในท้องทุ่งทะเลทรายในช่วงทศวรรษที่ 1840 นั้น ปัจจุบันธุรกิจการเลี้ยงอูฐได้กลายเป็นสินค้าส่งออกของออสเตรเลีย
ไปยังประเทศตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศ ทั้งในฐานะของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
และเนื้ออูฐแช่แข็ง ด้วยเหตุผลที่รสชาติของเนื้ออูฐไม่แตกต่างจากเนื้อวัวมากนัก
และยังมีไขมันในเนื้อต่ำกว่าอีกด้วย
ขณะที่สำหรับจิงโจ้นั้น สังคมชาว Aussies กำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรจิงโจ้
และการจัดการว่าด้วยถิ่นที่อยู่ของสัตว์ประจำชาตินี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาวกรุงเทพฯ
ที่ต้องประสบกับปัญหาในการจัดการกับสุนัขสักเท่าใด เพียงแต่สังคม Aussies
เลือกที่จะนำจิงโจ้มาประกอบเป็นอาหารหลากหลายได้อย่างไม่ต้องแสร้งกระดากอาย
เรื่องของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบเป็นอาหารนั้นเป็นเรื่องของรสนิยม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับมิติทางวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก
และเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ที่สร้างเรื่องราวของ catering ใน งาน Dreamtime
2002 นี้เท่านั้น จุดใหญ่ใจความที่แสดงให้เห็นความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการธุรกิจ
catering ของออสเตรเลีย น่าจะอยู่ที่วิธีคิดและเหลี่ยมมุมในการเลือกเอาสถานที่แต่ละแห่ง
มาสร้างเป็นฉากหลังสำหรับเรื่องราวในแต่ละโอกาสมากกว่า
กำหนดการที่ระบุว่าจะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำนอกสถานที่ ก่อให้เกิดความสงสัยไม่น้อยว่า
ภายใต้ข้อเท็จจริงของทุ่งหญ้ารกร้างและฝุ่นทรายสีแดงชาดที่กว้างไกลสุดตานั้น
จะมีสถานที่ใดเหมาะสมสำหรับการจัดงานเลี้ยงสำหรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 300
คนนี้ได้
เมื่อรถ coach ขนาดใหญ่ 4-5 คันที่ลำเลียง คณะผู้ร่วมงานกว่า 300 ชีวิต
วิ่งทะยานไปตามถนนราดยาง asphalt ห่างไกลออกไปจากโรงแรมที่พักมากขึ้นเท่าใด
วาบความคิดและการคาดหมายนานามี ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเป็นทวีคูณกับระยะทางที่ปรากฏเป็นเลขไมล์บนมาตรวัดเบื้องหน้าพลขับ
ก่อนที่การเดินทางบนถนนราดยางตามมาตรฐานสากลจะสิ้นสุดลงอย่างกะทันหัน เมื่อพลขับหมุนเลี้ยวพวงมาลัยนำรถ
coach ตะลุยฝ่าเส้นทางที่มีเพียงผืนทรายสีแดงรองรับน้ำหนักของรถเท่านั้น
การเดินทางบนเส้นทางผืนทรายสีแดงดำเนิน ต่อไปอีกกว่า 15 นาที หากคำนวณเป็นระยะทางก็น่าที่จะเป็นระยะที่ห่างจากถนนราดยางมาไม่น้อยกว่า
10 กิโลเมตร ภาพของคบไฟที่ได้รับการจัดวาง และจุดเพื่อส่องสว่างบอกตำแหน่งทางเดินไว้เป็นระยะ
เป็นเครื่องหมายสำคัญที่บ่งบอกว่า อาหารค่ำได้รับการตระเตรียมให้เกิดขึ้นที่นี่
แต่จะเป็นไปในลักษณะใดเล่า
การต้อนรับด้วยเครื่องดื่มหลากหลายชนิดทันทีที่ผู้เข้าร่วมงานก้าวลงจากรถ
บ่งชี้ให้เห็นถึงการเตรียมงานที่ต้องวางแผนมาอย่างดี ขณะที่ทางเดินตามแนวคบไฟเล็กๆ
นำคณะผู้ร่วมงานขึ้นสู่เนินดินเตี้ยๆ เพื่อชื่นชมกับแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ยามพลบค่ำ
และทัศนียภาพของเขาหินที่ดูเหมือนจะแข่งขันกันยืดตัวประชันความโดดเด่นจาก
แสงเรืองที่มากระทบ
นี่เป็นเพียงการเรียกน้ำย่อยก่อนการซึบซับบรรยากาศแห่งค่ำคืนใน Outback
ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า
จากเนินดินเตี้ยๆ ที่ไม่ได้มีความน่าสนใจอะไรมากนัก พวกเขาสามารถสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้น
ก่อนที่คบไฟอีกด้านหนึ่งของเนินจะถูกจุดขึ้น เป็นประหนึ่งแรงกระตุ้นให้ผู้คนละสายตาจากทิวทัศน์เบื้องสูง
มุ่งสายตาอยากรู้อยากเห็นให้ได้สัมผัสกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเบื้องล่าง
และเป็นการชี้ชวนให้ผู้คนทยอยเคลื่อนตัวลงจากเนิน เพื่อค้นหาว่าเส้นทางที่ประดับด้วยคบไฟนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ใด
ผืนดินราบเรียบขนาดประมาณด้วยสายตายามไร้แสงสว่าง เกือบเท่าสนามฟุตบอลที่อยู่สุดปลายทางเดิน
ได้รับการจัดเตรียมและพร้อมสำหรับมื้ออาหารค่ำ ด้วยอุปกรณ์ทุกชนิดที่มื้ออาหารค่ำหรูหราพึงจะมี
ขณะที่อาหารค่ำถูกลำเลียงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาหารที่ควรจะอุ่นยังคงความสดและอุ่น
ส่วนที่ควรจะเย็นก็สามารถคงความเย็นไว้ได้แม้จะอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากเมืองมากแล้ว
รสชาติของมื้อค่ำและบทสนทนาระหว่างอาหาร ประกอบกับแสงไฟจากโคมเทียนและคบไต้
ทำให้ไม่มีใครสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผืนฟ้าเบื้องบน จนเมื่อของหวานถูกลำเลียงออกมาพร้อมกับการหรี่แสงที่เคยส่องสว่างทั่วอาณาบริเวณ
การเชิญชวนให้ทุกคนแหงนมองดูดวงดาวที่สุกสกาวอยู่เต็มฟากฟ้าแห่งซีกโลกใต้
ส่งให้ความเงียบกลายเป็นเสียงเดียวที่ได้ยิน
ไม่เฉพาะแต่มื้ออาหารค่ำเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการจัดการของ
catering ในดินแดน Outback เพราะกิจกรรมชม ทิวทัศน์ยามอรุณรุ่ง ที่มี Uluru
เป็นฉากหลังก็มีการจัดเตรียมอาหารเช้าไว้บริการอย่างพร้อมพรั่งด้วยเช่นกัน
องค์ประกอบของปรากฏ การณ์ที่เป็น showcase เหล่านี้เองที่ทำให้ Dreamtime
2002 มีความแตกต่างจาก trade event อื่นๆ เพราะไม่เพียงผู้ซื้อผู้ขายจะได้แลกเปลี่ยนแง่มุมทางธุรกิจระหว่างกันเท่านั้น
หากยังสามารถแสดงออกให้เห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ได้โดยทันที ยังไม่นับรวมถึงการเป็นเวทีที่จุดประกาย
ความคิดว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินถิ่นอื่นในอนาคต
กิจกรรมภายใต้งาน Dreamtime 2002 ได้เปิดให้เห็นมิติและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอีกหลากหลายประเภท
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจ catering ที่เน้นเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม
ธุรกิจขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถเช่าขนาดต่างๆ รวมถึงกิจกรรมถ่ายภาพ และธุรกิจ
event management ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ต้องอาศัยทั้งทักษะของศาสตร์ในการจัดการ
และความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลป์ เพื่อรังสรรค์ให้เกิดเป็น theme สำหรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มที่ย่อมมีความต้องการหลากหลายแตกต่างกันด้วย
สิ่งที่น่าสนใจจากงาน Dreamtime 2002 ก็คือ ในขณะที่ออสเตรเลียกำลังพลิกผืนดินฝุ่นทรายแห้งให้เป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยว
ด้วยทักษะและจินตภาพที่ไม่สิ้นสุดอยู่นี้ ประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ ที่พยายามประชาสัมพันธ์ถึงความอุดมสมบูรณ์และรากวัฒนธรรมที่เนิ่นนาน
กำลังคิดอ่านอะไรกันอยู่