Until the philosophy which holds
One race superior and another inferior
Is finally and permanently discredited and abandoned
Everywhere is war, I say War
WAR โดย Bob Marley & The Wailers 1976
ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียพยายามกล่าวถึงผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์
ที่ประกอบรวมเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ความจำเริญก้าวหน้า ให้เกิดแก่ประชาชาติออสเตรเลียทั้งมวลอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันนั้น
ประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นประหนึ่งแผลภายในจิตใจของหมู่ชน Aussies ที่ยากเกินกว่าจะเยียวยาให้จางหายได้ในเร็ววัน
กลับอยู่ที่ประเด็นว่าด้วยการคุกคามต่อผู้คนและถิ่นที่อยู่ของหมู่ชนพื้นเมืองชาว
Aborigines ซึ่งเคยครอบครองดินแดนแห่งนี้มานานกว่า 30,000 ปี ก่อนที่รัฐบาลและองค์กรสาธารณะหลากหลายองค์กรจะดำเนินความพยายาม
ที่จะคลี่คลายปมเงื่อนอันขมขื่นจากประพฤติกรรมในอดีต
จากสภาพทางธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยโตรกเขาหินและทุ่งทรายสีแดงชาด รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ทอดตัวยาวครอบครองดินแดนตอนกลางของทวีป
ตั้งแต่ Tennant Creek ในเขต Northern Territory ไปจนสุดเขตชายแดนของรัฐ
South Australia ทำให้ผืนแผ่นดินบริเวณนี้ได้รับการเรียกขานในฐานะ Red Centre
ซึ่งนับเป็นเขต Outback ที่มีชื่อเสียงที่สุด ของออสเตรเลีย และยังเป็นเขตที่มีการตั้งถิ่นฐานของชนชาว
Aborigines อย่างหนาแน่นที่สุดด้วย
การเกิดขึ้นและเติบโตจนเป็นเมืองของ Alice Springs ซึ่งแต่เดิมเป็นถิ่นพำนักของชนชาว
Aborigines ในกลุ่ม Arrernte นั้นในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นรูป การจิตสำนึกแบบคนขาว
ที่เป็นผู้มาใหม่ไว้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อมีการบุกเบิกสร้างโครงข่ายกิจการโทรเลข
ที่เป็นตัวแทนของความทันสมัยแห่งยุคมาสู่ดินแดนแห่งนี้ ในทศวรรษที่ 1870
สถานที่ต่างๆ ในอาณาบริเวณโดยรอบ ก็ได้รับการกำหนดนิยามชื่อตามบุคคลภายในครอบครัวของนายช่างผู้วางสายโทรเลขนี้
หรือนักเดินทางที่อุปโลกน์ตัวว่าเป็นผู้ค้นพบและอยู่ในฐานะผู้ครอบ ครองไปโดยปริยาย
ไม่ว่าจะเป็นชื่อของ Alice Springs ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตาน้ำ (waterhole)
ที่มีอยู่มาเนิ่นนาน ใกล้จุด ที่ตั้งของสถานีโทรเลข ตามชื่อของ Alice Todd
ภรรยา ของผู้จัดการโครงการก่อสร้างสายโทรเลข หรือ Todd Mall ซึ่งปัจจุบันเป็นย่านการค้าของเมือง
ตลอดจนชื่อถนนหนทางต่างๆ ทั้ง Stuart Terrace, Smith Street, MacDonnell
Ranges และชื่ออื่นๆ อีกมาก ล้วนแต่ส่อแสดงความมีตัวตน เหนือพื้นดิน ผืนน้ำ
และสรรพสิ่ง ตามทัศนะแบบคนขาวอย่างชัดเจน
ทัศนะที่มุ่งประกาศตัวตนเหนือสรรพสิ่งนี้เอง ที่ก่อให้เกิดภาวะที่คุกคามต่อชนชาว
Aborigines มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนขาวประกาศตัวตนเหนือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาว
Aborigines ใน กลุ่ม Pitjantjatjara และ Yankunytjatjara ซึ่งถือเป็น Traditional
Owner ของดินแดนแห่งทะเลทรายใจกลาง ทวีป ด้วยการเรียกขานภูหินแห่ง Uluru
(อูล-ออร์-รู : Ool-or-roo) ที่เป็นปูชนียสถานในชื่อใหม่ว่า Ayers Rock ตามชื่อของ
Sir Henry Ayers ซึ่งปกครอง South Australia
รวมถึงการเรียกชื่อ Kata Tjuta (การ์-ตา-ชู-ตา : Kar-ta choo-ta) ซึ่งหมายถึงภูหินที่มีหลายยอด
(many heads) ในชื่อใหม่ว่า the Olgas ตามชื่อของราชินี Olga แห่งสเปน เมื่อคนขาวกลุ่มแรกมาพบปูชนียสถานของชาว
Aborigines แห่งนี้ในปี 1872 โดย ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณค่าความหมายใดๆ
นอกจากเป็นการเทิดเกียรติบุคคลเท่านั้น
คนขาว มิได้เพียงประกาศตัวตนเหนือสรรพสิ่ง เพียงการนิยามชื่อสถานที่ต่างๆ
ตามอำเภอใจเท่านั้น หากแต่ยังยึดและครอบครองเป็นเจ้าของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้
ประหนึ่งเป็นของใช้ส่วนตัวมานานนับร้อยปี
Resort และที่พักที่ได้รับการออกแบบตกแต่งอย่างหรูหรา ตั้งตระหง่านกลางท้องทุ่งทะเลทราย
โดยมี Uluru ทอดตัวเด่นเป็นฉากหลังจึงเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็น สอดรับกับกระแสธารของระบบกลไกทุนนิยมของโลกสมัยใหม่
ที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับ
ภายใต้กระบวนทัศน์ของยุคสมัยว่าด้วย globalization ซึ่งดูเหมือนจะถูกกำหนดนิยามให้ตีบแคบลง
ด้วยการยึดโยงอยู่กับความเป็นสากลของระบบทุนระดับโลกอย่างเป็นด้านหลักนั้น
ข้อเท็จจริงที่ได้เห็นอยู่เบื้องหน้ากลับกลายเป็นเรื่องราว "ความเป็นสากล"
ของผู้คนที่ถูกระบุเรียกว่าเป็น ชนกลุ่มน้อย และความเป็นสากลของการตกเป็นผู้ถูกกระทำ
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เองมิใช่หรือ ที่สร้างให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีทางวัฒนธรรม
เป็น World Culture ที่เต็มไปด้วยรากฐานและเรื่องราวเล่าขาน แต่อาจจะเป็นเพราะความเก่าแก่ที่ดำเนินผ่านห้วงเวลาอันยาวนาน
เรื่องราวข้อเท็จจริงแห่งชีวิตที่ได้รับการเล่าขานผ่านกลุ่มชนเหล่านี้ จึงมีสภาพเป็นเพียงเรื่องเล่าที่แสนเก่า
ซึ่งถูกประเมินค่าไม่ต่างไปจากนิทานอีกบทหนึ่ง และถูกผลักให้อยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าวัฒนธรรม
ของ "ผู้รุกราน" ที่ได้สถาปนาอำนาจเหนือวัฒนธรรมทั้งมวล
การดำรงอยู่ของชนชาว Aborigines และวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา นับเป็นประเด็นที่ได้รับการทุ่มเถียง
ในเวทีการเมืองระดับประเทศของออสเตรเลียมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งในปี
1985 รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศให้ Uluru-Kata Tjuta National Park เป็น
Aboriginal Land พร้อมกับการมอบคืนพื้นที่ส่วนนี้ให้กับชนชาว Aborigines
ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ให้ได้มีสิทธิในการบริหารจัดการและเผยแพร่วัฒนธรรมของกลุ่มชนให้กับผู้คนต่างสังคมต่อไป
ขณะเดียวกัน การประกาศให้ Uluru-Kata Tjuta National Park เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลก
(World Heritage) โดย UNESCO เมื่อปี 1987 พร้อมกับการระบุถึงคุณค่า ทั้งในมิติของธรรมชาติและมิติทางวัฒนธรรมของชุมชนชาว
Aborigines นับเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของการดำรงอยู่ของกลุ่มชนเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย
ประมาณกันว่า เมื่อครั้งที่ชนชาวยุโรปได้อพยพ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปออสเตรเลียเมื่อศตวรรษที่
18 นั้น มีชนพื้นเมือง Aborigines อาศัยกระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินออสเตรเลียไม่น้อยกว่า
7.5 แสนคน และมีกลุ่มเผ่าที่เกิดจากความหลากหลายของภาษากว่า 300 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิตแตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่อาศัย
หากแต่ระบบความคิดความเชื่อของชนชาว Aborigines กลับมีส่วนร่วมเกี่ยวเนื่องไปสู่สิ่งที่เรียกว่า
Tjukurpa (ชูก-ออร์-ปา : chook-orr-pa) ไม่แตกต่างกัน
แม้ว่าในปัจจุบันชนชาว Aborigines จะมีจำนวน รวมกันเหลือเพียงประมาณร้อยละ
1.6 ของประชากรทั้งหมดของออสเตรเลีย และอาศัยกระจายอยู่ในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศออสเตรเลีย
โดยบางส่วนได้คลี่คลายไปดำเนินชีวิตแบบคนเมืองมากแล้ว
แต่สำหรับ Pitjantjatjara และ Yankuny-tjatjara ที่อาศัยอยู่กลางท้องทุ่งทะเลทรายใน
Uluru-Kata Tjuta National Park ซึ่งเรียกขานตัวเองว่า Anangu (อาร์น-อัง-อู
: Arn-ang-oo) พวกเขายังคงยึดถือวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างแข็งแกร่งและดำเนินไปท่ามกลาง
Tjukurpa ซึ่งเป็นประหนึ่งเสาหลักและพื้นฐานสำคัญที่ก่อรูปเป็นกฎเกณฑ์ กติกาทางสังคมของ
Aborigines และเป็นรากฐานทางวัฒนธรรม ที่อยู่เบื้องหลังแนวความคิดในการดำรงชีวิต
และการผลิตงานศิลปะของพวกเขาอย่างแนบแน่น
ความเป็นมาและเป็นไปในบริเวณ Red Centre โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Uluru-Kata
Tjuta National Park ได้สะท้อนความพยายามของการ "นำปัจจุบันไปสร้างอนาคตและแก้ไขอดีต"
เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนขาว และชนชาวพื้นเมือง Aborigines อย่างเคารพซึ่งกันและกันต่อไป
แต่ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งนี้ ย่อมมิใช่สิ่งที่สามารถเนรมิตให้เกิดการประสานเกื้อกูลต่อกัน
ภายในระยะเวลารวดเร็วได้อย่างแน่นอน
เพราะในขณะที่ฝ่ายหนึ่งกำลังดำเนินความพยายาม ในการสื่อสารวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ให้โลกได้รับรู้
อีกฝ่ายหนึ่งกลับพิจารณาพื้นที่กว้างใหญ่และผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้
ในฐานะที่เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และสินค้าชนิดใหม่ ที่พร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตเท่านั้น
ความเข้าใจและการยอมรับเคารพ ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากกลุ่มคนสองกลุ่มนี้
ในระดับที่เกินกว่าจะปรับเข้าหากันได้โดยง่าย เป็นความไม่เข้าใจหรือละเลยที่จะทำความเข้าใจ
ที่ฝังรากลึกลงไปในประเด็นพื้นฐานเลยทีเดียว
การตีความและแปลความหมายของคำ Tjukurpa ในแบบของ "คนขาว" ที่พยายามโยงไปสู่ความหมายของ
Dreaming หรือ Dreamtime เพื่อสร้างให้เกิดเรื่องราวบนผืนแผ่นดินและใช้ประโยชน์สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยว
ได้รับการปฏิเสธจากกลุ่มชน Anangu แห่ง Uluru-Kata Tjuta National Park อย่างสิ้นเชิง
เพราะในทัศนะของพวกเขา Tjukurpa เป็นเรื่องของความจริง ที่มีความหมายลึกซึ้งไปไกลเกินกว่านิยามที่คนขาวหยิบยื่นให้อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้
แม้ว่าเสียงเพลงจาก didgeridoo ที่บรรเลงผ่านทักษะของชนพื้นเมือง Aborigines
จะยังคงเล่าเรียงเรื่องราวบอกกล่าวผู้คนผ่านทางถึงความเป็นมาเป็นไปของแผ่นดิน
ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของพวกเขา ก่อนที่พวก piranpa (พีร์-อัน-ปา : peer-an-pa)
ในภาษา Aborigines ที่หมายถึง "คนขาว" จะเข้ามาตั้งรกรากในผืนดินนี้ และถือเป็นมรรควิธีในการส่งผ่านข้อมูล
เพื่อสร้างความเข้าใจในวิถีปฏิบัติและประเพณีของกลุ่มชน
แต่ในอีกมิติหนึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ได้กลายเป็นเพียงสันทนาการที่ต่อเติมมนต์เสน่ห์ให้ดินแดน
outback มีความขรึมขลังเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาว Aborigines
ได้รับการนำเสนอในรูปแบบที่ไม่ต่างจากการแสดง เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่อาคันตุกะอีกชุดหนึ่งเท่านั้น
ความคุ้นเคยและชาชินต่อสภาพอยุติธรรมในสังคมของตนเอง ที่ดำเนินมาอย่างเนิ่นนานของนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนไม่น้อย
ถึงขั้นที่กล่าวได้ว่าต่อมรับความรู้สึกในส่วนนี้อยู่ในสภาวะตายด้านไปนานแล้ว
ยิ่งทำให้ภาพที่ปรากฏตรงหน้าเป็นเพียงเหตุการณ์ปกติ ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่จากผลของผู้มีกำลังเหนือกว่าและสารที่ชาวพื้นเมือง
Aborigines พยายามจะสื่อกับผู้คนในสังคมต่างวัฒนธรรมไม่ว่าจะโดยดนตรี งานศิลปะ
หรือการแสดงออกซึ่งพิธีกรรม และความเชื่อ ได้รับการ ประเมินคุณค่าไม่ต่างไปจากสินค้าพื้นเมือง
เป็นเพียงหัตถกรรม และศิลปพื้นบ้าน ซึ่งอาจสร้างความแปลกตาให้กับผู้คนจากเมืองใหญ่
และเชิญชวนให้ได้ซื้อหาก่อนจะนำไปประดับในมุมซอกของห้องชุดในอาคารสูง โดยมิพักต้องใส่ใจต่อคุณค่าทางจิตวิญญาณของผู้รังสรรค์งานศิลปเหล่านี้แต่อย่างใด
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ชนชาว Aborigines เรียกร้องและพยายามนำเสนอต่ออาคันตุกะ
ผู้มาเยี่ยมเยือนในห้วงเวลาแห่งปัจจุบัน ย่อมไม่ใช่การนำเงินมาทิ้งไว้จำนวนหนึ่งแล้ว
ถ่ายภาพ หรือปีนป่ายไปสู่ยอดสูงของ Uluru และยิ่งไม่ใช่การมาทัศนาการแสดงในฐานะของสันทนาการประกอบการท่องเที่ยว
โดยเจ้าของวัฒนธรรมที่ตายลงไปแล้วอย่างแน่นอน
หวังแต่เพียงว่าเรื่องราวที่ได้รับการปั้นแต่งขึ้น ใหม่ จากรากฐานของยุคสมัยแห่งทุนในปัจจุบัน
จะสามารถสอดประสานและสร้างให้เกิดการดำเนินไปของอนาคตอันเก่าแก่ ด้วยความเคารพและเข้าใจต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มชน
Aborigines ที่อาศัยและสร้างสรรค์วัฒนธรรมบนแผ่นดินแห่งนี้มาเนิ่นนานกว่า
30,000 ปีนี้เท่านั้น
หมายเหตุ
เพลง WAR เป็นเพลงที่เกิดขึ้นจากการนำสุนทรพจน์ ของ His Imperial Majesty
Haile Selassie I แห่ง Ethiopia ซึ่งได้แสดงต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ
United Nation : UN เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1963 มาใส่ ท่วงทำนองดนตรี และบันทึกเสียงครั้งแรก
โดย Bob Marley & The Wailers ใน "Rastaman Vibration" เมื่อปี 1976
นอกจากเนื้อหาในสุนทรพจน์ที่ได้รับการขนานนามว่า The War Speech ที่เน้นหนักไปที่เรื่องของสิทธิมนุษยชนแล้ว
HIM Haile Selassie I ยังนับเป็น ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนและบทบาทอย่างสำคัญในการก่อตั้งองค์กรนานาชาติ
ไม่ว่าจะเป็น League of Nations, United Nations, Non-aligned Conference
รวมถึง The Organization of African Unity : OAU อีกด้วย